“การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” หรือ Investigative Interview เป็นแนวทางการสืบสวนสอบสวนคดีของตำรวจในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งยึดหลักการในการสอบสวน “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์” จึงเน้นไปที่การสัมภาษณ์เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงมากกว่าการตั้งเป้าหมายให้ได้คำรับสารภาพจากผู้ต้องสงสัย นี่เป็นแนวทางที่เคยถูกนำมาฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานในประเทศไทยเมื่อปี 2562
แนวทางนี้เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในเวทีเสวนาที่จัดขึ้นโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภายใต้ชื่อ TIJ Forum ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ Way Out : หนทางใหม่สู่การค้นหาความจริง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนอร์เวย์มาอธิบายถึงหลักการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง หลังมีผลสำรวจของ TIJ Poll จากคดี “อดีตผู้กำกับโจ้” ทำร้ายผู้ต้องสงสัยจนเสียชีวิต ระบุว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมลดลงอย่างมาก และต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เชิงโครงสร้างอำนาจในกระบวนการยุติธรรมไปจนถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงในคดี
TIJ Forum จัดขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ในหัวข้อ “WAY OUT: หนทางใหม่สู่การค้นหาความจริง” (ภาคต่อ) โดยมี 3 หน่วยงานสำคัญในกระบวนการยุติธรรม คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ต่างสนับสนุนว่า ควรจะนำแนวทาง “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” มาทดลองใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ได้บทสรุปที่เหมาะสมกับบริบทในประเทศไทย
DSI เดินหน้าพัฒนาทักษะ “สัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” พร้อมออกแบบห้องซักถามใน DSI Academy
“การได้มาซึ่งข้อมูลเป็นส่วนสำคัญมากกว่าการได้มาซึ่งคำรับสารภาพ และการทำงานในกระบวนการซักถาม ผู้ซักถามคนเดียวไม่สามารถทำงานได้ ต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อจะทำให้กระบวนการซักถามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการค้ามนุษย์และคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ไทยที่เคยเข้ารับการอบรม Investigative Interview เล่าถึงเนื้อหาสำคัญในการอบรม คือ PEACE Model ซึ่งแบ่งขั้นตอนการซักถามผู้ต้องสงสัยออกเป็นการวางแผนและการเตรียมการ ทั้งการเตรียมร่างกาย เตรียมการเกี่ยวกับคดี และเตรียมการเรื่องสภาพทางจิตใจ (Planning and Preparation) การผูกไมตรีและการอธิบาย (Engage and Explain) การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยเล่าเหตุการณ์หรือตอบคำถาม (Account) การจบการซักถาม (Closure) และการประเมินผล (Evaluation) แต่ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ควรจะมีในเบื้องต้น คือ ผู้ซักถามจะต้องมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น รอยนิ้วมือ DNA ก่อนจะไปซักถาม และต้องใช้เทคนิควิธีต่าง ๆ ร่วมด้วยเช่น การสังเกตจดจำ การสำรวจ การเฝ้าจุดสังเกตการณ์ การสะกดรอยติดตาม รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการรวบรวมหลักฐาน ซึ่งต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน เพื่อจะทำให้กระบวนการซักถามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ส่วนประเด็นข้อจำกัดในการนำการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงมาใช้ในการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย ร.ต.อ.เขมชาติ ซึ่งเคยนำวิธีการนี้มาใช้จริงในบางคดี ยังพบข้อจำกัดหลายประการ เช่น มีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการสืบสวนสอบสวนโดยใช้วิธีการนี้ไม่มากนัก เพราะไม่มีโอกาสได้รับการฝึกอบรม โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคยังไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้ต้องสงสัย ผู้ถูกซักถาม หรือ เหยื่อ ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะคดีที่มีเด็กเป็นเหยื่อ ควรมีสถานที่เฉพาะในการซักถาม อีกทั้งประเทศไทยยังคงใช้กระจก one way ซึ่งผู้เสียหายหรือผู้ต้องหารู้ดีว่าถูกจับตามองอยู่ และยังพบปัญหาทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน ที่ยังมองว่า ควรจะปฏิบัติงานตามวิธีการหรือรูปแบบเดิมจากการถูกสอนต่อ ๆ กันมา
ร.ต.อ.เขมชาติ บอกว่า DSI พยายามปรับปรุงการสืบสวนสอบสวนให้มีความทันสมัย คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจัดห้องสอบสวนโดยให้ผู้ซักถามกับผู้ถูกซักถามนั่งเป็นมุมฉาก 90 องศา มีนักสังคมสงเคราะห์มาช่วยถามในเชิงจิตวิทยาโดยการถ่ายทอดเสียงและถามผ่านหูฟัง ทำให้พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่พิจารณาคดีที่อยู่อีกห้องได้ยินสิ่งที่นักสังคมสงเคราะห์ถาม และสามารถส่งคำถามให้นักสังคมสงเคราะห์ถามต่อได้ ข้อดีของการสอบสวนแบบนี้ คือ ทำให้ผู้ถูกซักถามเกิดความสบายใจ มีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความพยายามสอดแทรกเทคนิคการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงไว้ในหลักสูตรต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวเสริมด้วยว่า เจ้าหน้าที่เข้าร่วมการอบรมวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงกับ TIJ ตั้งแต่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2562 แสดงผลตอบรับมาว่าเป็นหลักสูตรที่ดีมาก จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ DSI ให้มีทักษะ มีทัศนคติที่เป็นนักสืบสวนสอบสวนตามมาตรฐานสากล คือ ยึดหลักการต้องทดสอบคำอธิบายทุกทางเลือก แทนความคิดที่ยืนยันความผิดของผู้ต้องหา ซึ่งถือเป็นการยกระดับการสืบสวนสอบสวนตามหลักธรรมาภิบาลที่สร้างความเชื่อมั่นในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และยกระดับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยด้วย
พร้อมระบุว่า DSI กำลังจะเปิด สถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI Academy ซึ่งจะจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์คัดแยกเหยื่อของการค้ามนุษย์ โดยออกแบบห้องสำหรับการซักถามให้สอดคล้องกับการใช้วิธี “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” ด้วย
โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เสนอทำงานวิจัย “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” เพื่อออกแบบให้เหมาะกับการใช้ในประเทศไทย
“หัวใจสำคัญของการซักถาม คือ ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนให้มากที่สุด และ ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องการจริงๆ คือ ข้อมูลเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา ยกตัวอย่างคดีน้องชมพู่ ถึงแม้ผู้ต้องสงสัยจะไม่รับสารภาพ แต่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อได้”
พล.ต.ต.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เห็นด้วยกับแนวคิดการนำเทคนิคหรือวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงมาปรับใช้ในการสืบสวนสอบสวน แต่เสริมว่า เทคนิควิธีที่ดีในการสืบสวนสอบสวน ก็จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย ทั้งการศึกษาพยานหลักฐานให้เพียงพอ หรือการใช้เทคโนโลยีมาร่วมในการสืบสวนสอบสวน อย่างการใช้กล้องวงจรปิดที่ทำให้ผู้ต้องหาจำนนและสารภาพด้วยหลักฐาน หรือการใช้กล้องจับใบหน้าของผู้ต้องสงสัยที่เข้าสู่กระบวนการ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีจับคลื่นหัวใจ คลื่นเสียง เพื่อให้สามารถตรวจจับได้ว่า ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกซักถามพูดโกหกหรือไม่ เป็นต้น
ตัวอย่างคดีที่ใช้หลายองค์ประกอบในการสืบสวนสอบสวน พ.ต.ต.ธัชชัย อ้างอิงถึงคดีรับจ้างวานฆ่าสองสามี-ภรรยา ซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนใช้ทั้งการซักถามกดดัน และใช้ความเป็นมิตร จนทำให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพ หรือคดีล้มบอล ซึ่งผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมรับ ทำให้ต้องใช้วิธีการวิเคราะห์จากภาพ เพื่อดูตำแหน่งและระยะการยืนของกรรมการ ประกอบกับการซักประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถจับจังหวะการเต้นของหัวใจได้ว่าผิดปกติ สุดท้ายก็นำไปสู่การตัดสินลงโทษผู้เกี่ยวข้องได้
ส่วนที่ยังอาจมีข้อจำกัดในการนำวิธี “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” มาใช้อย่างจริงจังในประเทศไทย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เห็นว่า ควรเริ่มด้วยการทดลองใช้ในรูปแบบการทำวิจัย หรือการทำ pilot test เพื่อศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ก่อนว่าเทคนิควิธีดังกล่าวข้อดี ข้อเสีย หรือมีข้อจำกัดอย่างไร สามารถนำไปใช้กับทุกคดีได้หรือไม่ หรือควรใช้กับคดีประเภทไหนบ้าง จากนั้นจึงทำเป็นรูปแบบการสัมภาษณ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สถานีตำรวจแทบทุกแห่งมีคดีที่ได้รับการแจ้งความเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเทคนิคที่จะนำมาใช้ในการสอบสวนจึงควรจะมีขั้นตอนที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อข้อจำกัดเรื่องเวลา และควรมองไปถึงการพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยต่อยอดให้เกิดการพัฒนาการสืบสวนสอบสวนต่อไปได้ด้วย
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เสนอทดลองใช้ “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” ในคดีเด็กและคดีค้ามนุษย์ สร้างมาตรฐานต้นแบบการสอบสวน
“เมื่อวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง เป็นการสัมภาษณ์ในหลักการบุคคลต่อบุคคล หลักการทางนิติวิทยาศาสตร์ก็จะรองรับในข้อเท็จจริงที่ได้มาว่าจะตรงกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ เมื่อสิ่งเหล่านี้ประกอบกัน เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์จะช่วยสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ได้จากการสัมภาษณ์ได้อย่างดี”
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางการนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ร่วมกับวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง โดยพูดถึงบทบาทของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจพิสูจน์ค้นหาความจริงทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ โดยให้บริการทั้งต่อรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อช่วยยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากสังคม
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการนำวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงเข้ามาอบรมเจ้าหน้าที่ ในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งที่ DSI เห็นว่า การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงเป็นวิธีการสืบสวนสอบสวนที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญา ตามหลักการ “การได้มาซึ่งพยานหลักฐานต้องไม่ได้มาด้วยวิธีการบังคับขู่เข็ญ” ซึ่งต้องยอมรับว่า แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในปัจจุบัน อาจยังมีบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับหลักการเหล่านี้ เพราะวิธีการซักถามของผู้ปฏิบัติงานแต่ละส่วนยังมีรูปแบบแตกต่างกัน เช่น ผู้สอบสวนส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบมากกว่า ขณะที่ผู้สืบสวนบางส่วนจะอยู่นอกรูปแบบ โดยคิดว่าจะใช้วิธีการใดก็ได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน แต่อาจเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
เมื่อมอง “วิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบว่า ในหลักการอาจเทียบได้กับเครื่องจับเท็จ แต่โดยหลักการ ถ้าเราจะใช้การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง ต้องมีหลักให้ความยินยอม รับรู้ เข้าใจ เข้าถึง จึงเข้าสู่กระบวนการซักถามเพื่อให้ได้รายละเอียด แต่ในการใช้เครื่องจับเท็จ อาจต้องดูว่าเหมาะกับเฉพาะบางกลุ่มบางคน พร้อมระบุว่า เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ควบคู่ไปในกระบวนการสืบสวนสอบสวน และจะเป็นข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนให้ถูกนำไปใช้ในการสัมภาษณ์ รวมถึงช่วยยืนยันว่า ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เห็นด้วยที่จะนำวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงไปทดลองใช้ในรูปแบบงานวิจัยในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งก่อน โดยเสนอทำเป็นโครงการนำร่องเพื่อสร้างการยอมรับให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานควบคู่ไปกับการวิจัย และเสนอว่า การสอบสวนผู้เสียหายในคดีเด็กและคดีค้ามนุษย์ สามารถเป็นเป้าหมายแรกที่จะนำรูปแบบการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงไปใช้ได้ก่อน เพื่อสร้างหลักการมาตรฐานเบื้องต้นในการซักถาม ทั้งกับผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพที่มีส่วนร่วมกับคดีเหล่านี้ด้วย
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวสรุปการเสวนาว่า มีโอกาสที่ TIJ จะร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดสอบสมมติฐานว่าวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง ซึ่งเป็นหลักการที่ทำได้ดีในบริบทของสังคมอื่นมาลองใช้จริงในบริบทของประเทศไทยว่าจะเกิดความเข้าใจหรือข้อจำกัดในการนำไปใช้อย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ และขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเสวนาและแสดงจุดยืนว่า ยังมีความหวังที่จะร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไทยให้มีมาตรฐานในการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชนที่ทัดเทียมกับนานาประเทศต่อไป
“โจทย์ใหญ่วันนี้ เราพอจะเห็นว่า การทำงานค้นหาความจริงเป็นเรื่องสำคัญ มีขั้นตอนและกระบวนการ เป็นศาสตร์ในตัวเอง ที่ไม่ใช่กระบวนการที่ทำได้ง่าย แต่ต้องการความทุ่มเทและตั้งใจสูงในการดำเนินการ การทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามครรลองเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นงานที่ท้าทาย ผู้ปฏิบัติงานต้องอุทิศตนมาก” ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวทิ้งท้าย
——————————————————————————————————-
ที่มา : มติชน / วันที่เผยแพร่ 12 พ.ย.64
Link : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3038454