ผู้เขียนขอจินตนาการถึงอนาคตกับสิ่งที่นวัตกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ในวันนี้แม้เราจะยังไม่ได้สัมผัสโลก Metaverse อย่างเต็มรูปแบบ แต่เชื่อว่าในอีกไม่นาน โลกคู่ขนานอีกใบจะถูกสร้างขึ้นในลักษณะ “เสมือน” ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายกฎระเบียบในโลกกายภาพเป็นอย่างมาก
อะไรคือ Metaverse
หากพิจารณาในเชิงนิยาม Metaverse แปลว่า “Beyond the Universe” ซึ่งเป็นการรวมคำของ “Meta” ที่หมายถึง “เหนือขอบเขต” และ “Universe” ที่หมายถึง “จักรวาล” ดังนั้น โลก Metaverse คือความพยายามของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะสร้างโลกเสมือนอีกใบ (Virtual World) เพื่อให้คนในโลกกายภาพสามารถเข้าถึงและมีกิจกรรมต่างๆ ในโลกเสมือนได้ ผ่านการเชื่อมโยงของระบบอินเทอร์เน็ต
หรืออาจกล่าวได้ว่า องค์ประกอบของ Metaverse คือ
1) การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้าง Digital Content ให้เป็นโลกอีกใบที่คู่ขนานกับโลกที่เราอยู่
2) การเข้าถึงต้องใช้ฮาร์ดแวร์ดีไวซ์ต่างๆ (เช่น AR หรือแว่นตาเฉพาะ) เพื่อให้ User ที่อยู่ในโลกกายภาพสามารถเชื่อมต่อกับโลกเสมือนได้
3) User จะมีตัวตนในลักษณะตัวละครจำลอง หรือ Avatar ที่สามารถมีนิติสัมพันธ์กับ User คนอื่นได้
4) Metaverse platform จะมีการเก็บและเชื่อมต่อข้อมูลของ User ทั้งจากข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อติดตามพฤติกรรมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาสร้าง/ปรับใช้ในโลกเสมือน ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น Siri หรือ Alexa (Amazon)
กิจกรรมในโลกเสมือน
เมื่อจำลองโลกกายภาพ ทุกกิจกรรมที่เราทำในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประชุมออนไลน์ ซื้อของ ชมคอนเสิร์ต หรือแม้แต่การทำธุรกรรมทางการเงินและการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ย่อมสามารถทำในโลกเสมือนได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า Metaverse คือ การจำลองทุกบริบทบนโลกกายภาพให้อยู่ในสภาพแวดล้อมของโลกออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ตัวละครของเรา หรือ Avatar ที่เราสร้างมานั้น สามารถซื้อของ ลองเสื้อผ้า พูดคุยกับคนอื่นๆ ในโลกจำลองนี้ได้
กฎหมายและนิติสัมพันธ์เสมือน
สิ่งที่ชวนคิดสำหรับผู้เขียนคือ กิจกรรมเหล่านี้จะใช้กฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันกับนิติสัมพันธ์เสมือนเหล่านี้ได้หรือไม่ อย่างไร? โดยผู้เขียนลองนึกภาพในมุมกฎหมายฉบับต่างๆ ที่อาจมีประเด็นทางปฏิบัติในอนาคต จึงขอหยิบยกบางประเด็นมาวิเคราะห์ ดังนี้
1.กฎหมายที่กำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีสำหรับ Metaverse platform กล่าวคือ ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตบริษัทเทคโนโลยีเจ้าต่างๆ จะสร้าง Metaverse platform ขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งโดยสภาพจึงจะเกิดการเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันระหว่างแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจเปรียบได้กับการเดินทางระหว่างประเทศในโลกกายภาพ ซึ่งเมื่อมีการเดินทางข้ามผ่านเขตแดนระหว่างกัน ย่อมมีกฎเกณฑ์ร่วมกันบางประการเพื่อให้เกิดมาตรฐานด้านความมั่นคงและปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ในโลก Metaverse platform ผู้ใช้งานย่อมมีความคาดหวังในการเชื่อมโยงอย่างไร้พรมแดนและไร้ขีดจำกัด ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามาตรฐานทางด้านเทคโนโลยี อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้บริษัทที่เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมมีแนวปฏิบัติบางประการร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้ใช้งาน
2.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชน คริปโทเคอร์เรนซี และ NFT กล่าวคือ เมื่อต้องการทำธุรกรรมทางการเงินหรือโอนกรรมสิทธิ์ต่างๆ ในโลกเสมือน แน่นอนว่าเงินสดไม่สามารถใช้ได้ และการโอนเงินผ่านตัวกลางแบบดั้งเดิม (Mobile Banking) ก็ไม่น่าจะไปถึง
ดังนั้น เงินดิจิทัลหรือคริปโทจะถูกใช้เพื่อถ่ายโอนมูลค่า และ NFT จะนำมาใช้เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือเป็นตัวแทนของทรัพย์สินเสมือน (หรือที่เรียกว่า Virtual Asset เช่น ที่ดินในโลกเสมือน) เนื่องจากโดยสภาพ NFT ถูกสร้างมาใช้สำหรับแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง (ดังนั้น สิ่งของ ทรัพย์สินใดๆ ในโลกเสมือนจึงมักถูกสร้างในรูปแบบ NFT) ซึ่งทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการของ Blockchain และ Smart Contract ที่เป็นกลไกไร้ตัวกลาง
ดังนั้น ในโลก Metaverse การทำสัญญา เช่า/ซื้อ-ขาย/แลกเปลี่ยน/ครอบครองทรัพย์สิน การโอนกรรมสิทธิ์ การบังคับชำระหนี้ อาจอยู่ในรูปแบบของการทำ Tokenized หรือโทเคนดิจิทัล ทั้งหมด นอกจากนี้ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตจะมี Decentralized Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีในปัจจุบันเกิดขึ้นอีกมากมาย
3.กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ในประเด็นนี้ผู้เขียนเชื่อว่าคงมีประเด็นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า “ใครจะเป็นเจ้าลิขสิทธิ์” ในงานสร้างสรรค์บน Metaverse platform กล่าวคือ โดยหลักการ บุคคลที่สร้างงานลิขสิทธิ์หรือผู้สร้างสรรค์ ต้องใช้ความคิด สติปัญญา ความสามารถในการสร้างผลงาน และกฎหมายก็ให้สิทธิ์และยอมรับในผลงานนั้น
อย่างไรก็ดี ในโลก Metaverse ก็เป็นไปได้ว่างานสร้างสรรค์อาจไม่ได้ถูกสร้างจากมนุษย์ (human being) แต่กลับเป็นผลมาจากการปฏิบัติการของระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น สิทธิจะเป็นของใคร? กรณีเช่นนี้ ศาลในสหรัฐเคยปฏิเสธการจดทะเบียนสิทธิจากผลงานที่ไม่ได้สร้างโดยมนุษย์มาแล้ว โดยในคดีดังกล่าวงานสร้างสรรค์ถูกสร้างจากระบบปฏิบัติการของ AI
4.กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในโลกของ Metaverse ระบบต้องประมวลผล เก็บ ใช้ และวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพฤติกรรมจำนวนมาก เพื่อสร้างข้อมูลให้กับ Avatar หรือตัวละครจำลองของ User ผ่านกลไกการทำงานของอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็น Handsets และ AR ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล Sensitive Data รวมถึง Biometric Data ของ User ได้อย่างหลากหลาย
ในบางอุปกรณ์สามารถเรียนรู้พฤติกรรมและช่วย User ตัดสินใจในการใช้งานได้อีกด้วย (เนื่องจากอาจสามารถวิเคราะห์คลื่นสมองของ User ได้) ดังนั้น รูปแบบความยินยอมโดยชัดแจ้ง (explicit consent) คือ สิ่งที่ควรกำหนดไว้อย่างชัดเจนก่อนเข้าใช้งาน นอกจากนี้ด้วยสภาพที่ Metaverse platform เป็นโลกไร้พรมแดน ประเด็นในเรื่องการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ และข้อกำหนดเรื่อง Data localization อาจมีประเด็นการตีความและปัญหาข้อกฎหมายพอสมควรในอนาคต
5.หากมีการกระทำอันทุจริตหรือฉ้อโกงบังคับอย่างไร กล่าวคือ กระบวนการยุติธรรมในโลกกายภาพไปถึงหรือไม่ ใช้ศาลไหน กฎหมายของประเทศอะไร และจะนำสืบข้อมูลทั้งหมดอย่างไร ใครคือคู่กรณีที่แท้จริง Avatar หรือมนุษย์? ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ท้าทายทั้งสิ้น
ท้ายที่สุด ประเด็นกฎหมายที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่มนุษย์พยายามสร้างโลกอีกใบ เพื่อให้คู่ขนานกับโลกใบเดิม ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง คงมีอีกหลายประเด็นในทางกฎหมายที่ท้าทายทั้งสำหรับผู้ใช้งาน บริษัทเทคโนโลยีและภาครัฐ.
ผู้เขียนบทความ : สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 23 พ.ย.64
Link : https://www.bangkokbiznews.com/columnist/973315