ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสสูงทั้งการวิจารณ์ และเลยไปถึงการขับไล่ “ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล ” หรือ เอ.ไอ. เรียกชื่อเป็นไทยว่า “ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ” หนึ่งใน “ องค์กรพัฒนาเอกชน ” หรือเรียกทับศัพท์ว่า “ เอ็น.จี.โอ ” ที่มีมากมายเข้ามาทำงานในประเทศไทย หากท่านผู้ใดยังไม่ค่อยรู้จัก ลองไปค้นหาในกูเกิล ซึ่งมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับองค์กรประเภทนี้ที่กระทำการอันดูถูก ดูหมิ่น กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนคนไทยตลอดมา
ในช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหาร เอ.ไอ.ได้ออกแถลงการณ์ วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ล่าสุด ได้ออกมาคัดค้านต่อคำตัดสินของศาลยุติธรรมไทยต่อผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยอ้างว่ากระทบต่อการแสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งกำลังหดหายในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ เอ.ไอ.ก็ออกมาวิจารณ์ศาลไทยเป็นระยะ
พฤติกรรมดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า องค์การนิรโทษกรรมสากล กำลัง “ แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะแทรกแซงอธิปไตยทางศาลยุติธรรม
เปิดหน้ากันออกมาชัด ๆ อย่างนี้ก็ดี หลังจากอ้อมไปอ้อมมาเสียนาน
จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อกระแสต่อต้าน “ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล “ กำลังมาแรง ประชาชนหลายหมู่เหล่าซึ่งอดทนอดกลั้นมานาน ได้ออกมาเรียกร้อง กดดัน ให้รัฐบาลยกเลิกใบอนุญาตที่ให้องค์กรนี้ปฏิบัติงานในไทย เรื่องนี้จะโทษคนไทยก็ไม่ถูก เพราะ เอ็น.จี.โอ. องค์กรนี้เคลื่อนไหว “ ล้ำเส้น “ มาหลายครั้ง โดยเฉพาะการออกมาวิจารณ์ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และวิจารณ์คำตัดสินของศาลยุติธรรม เกี่ยวกับมาตรา 112 จนถูกตีความว่า องค์การนี้สนับสนุนให้แกไขและยกเลิกมาตรา 112 ตามข้อเสนอของนักการเมืองไทยบางกลุ่ม จนคนไทยทนไม่ได้กับพฤติกรรมดังกล่าว
การออกมาวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ผิดมรรยาทอย่างยิ่ง อาจถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยก็ย่อมได้ หากไม่มีการระบาดของโควิด 19 เราคงได้เห็นม็อบคนไทยชุมนุมเรียกร้องให้ขับองค์การนิรโทษกรรมสากลออกจากไทย
ขณะที่คนไทยซึ่งถูกฝรั่งจ้างและอุปโลกน์ให้เป็น “ ผู้อำนวยการ ” ของ เอ็น.จี.โอ.แห่งนี้ ถูกวิจารณ์ในทำนองว่า เป็น “สุนัขรับใช้” ผลประโยชน์ของต่างชาติจนไม่คำนึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย และกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ เพียงเพื่อแลกกับเศษเงินที่ฝรั่งจ้างมา ดังนั้น เขาก็ต้องพร้อมรับผลที่จะเกิดขึ้นด้วย
นอกจากคนไทยได้เคลื่อนไหวคัดค้าน ประณามการกระทำของ เอ.ไอ.ในไทยแล้ว ยังเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลประจำไทยด้วย เรื่องนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน คงอยู่เฉยๆไม่ได้ และต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเร็ว ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ
ข้อมูลทางราชการเปิดเผยว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 มีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็น.จี.โอ.ต่างชาติในไทย ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย ทั้งหมด 83 องค์กร แยกเป็นองค์กรต่างประเทศที่มาดำเนินงานในไทย 23 องค์การ องค์กรต่างประเทศที่เข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยแต่ดำเนินงานในประเทศอื่น 49 องค์การ และองค์การเอกชนไทยที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการโดยได้รับเงินช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศ 11 องค์กร ( ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดในกูเกิล พบว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีองค์กร เอ็น.จี.โอ ต่างชาติและไทย ทุกประเภทรวม 288 องค์กร กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เกือบทั้งหมดไม่มีปัญหาอะไร โดยทำงานตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด จะมีปัญหาเพียงไม่เกินร้อยละ 5 เท่านั้น )
ในจำนวน 83 องค์กร เป็นองค์กรที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร แต่ที่รู้จักกันมากที่สุดมีสององค์กร คือ “ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล ” หรือ “องค์กรนิรโทษกรรมสากล ”ซึ่งสำนักงานใหญ่อยู่ในอังกฤษ และมาตั้งสาขาในประเทศไทย โดยจ้างคนไทยทำงาน โดยสนับสนุนเงินเดือน ค่าใช้จ่ายในสำนักงานและการปฏิบัติงาน โดยลูกจ้างคนไทยจะต้องส่งรายงานประจำเดือน หกเดือน และรายงานประจำปี ต่อสำนักงานใหญ่
อีกองค์กรหนึ่งซึ่งมีบทบาทไม่แพ้กัน คือ “ ฮิวแมน ไรท์ วอท์ช” หรือ “องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน” ในไทย ซึ่งเป็นของอเมริกัน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก ได้เปิดสำนักงานสาขาใน กทม. และจ้างคนไทยเป็นลูกจ้าง โดยสำนักงานใหญ่จ่ายเงินเดือนประจำและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แต่ลูกจ้างจะต้องส่งรายงานประจำไปยังสำนักงานใหญ่
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา มีเพียงสองสามองค์กรเท่านั้นที่สร้างปัญหาตลอด มีพฤติกรรมที่ท้าทายอธิปไตยของไทยตลอดมา ครั้งหลังสุดที่คนไทยทนไม่ไหวเมื่อ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล” กระทำการที่เหยียบย่ำจิตใจ ความรู้สึกของคนไทยจนรับไม่ได้ ที่ออกมาคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยมาตรา 112 ซึ่งตีความได้ว่า องค์กรรนี้สนับสนุนโดยนัยการแก้ไขมาตรา 112 การกระทำข้างต้นอาจถือได้ว่าเป็น “การแทรกแซงกิจการภายใน” ของประเทศไทยก็ได้
คนไทยไม่ต้องไปไล่ ไปเผา สำนักงานของ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล” เพียงแต่ดำเนินการตามกฎหมายและตามกฎระเบียบที่มีอยู่เท่านั้น ด้วยการขอให้ “กระทรวงมหาดไทย” และ “ กระทรวงแรงงาน ” ตรวจสอบการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในไทยได้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยหรือไม่อย่างไร “ระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทยและการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย พ.ศ. 2543 ” ข้อ 6
(2)ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร หรือ มุ่งหวังผลทางการเมือง
(3)มีกิจกรรมและการดำเนินงาน ซึ่งไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง ไม่ขัด่ต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(4)ไม่มีประวัติ พฤติกรรม หรือมี / เสนอโครงการดำเนินกิจกรรมในประเทศไทยที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ
และให้ตรวจสอบว่า องค์กรพัฒนาเอกชนเหล่านี้ได้ทำตาม “ข้อปฏิบัติขององค์การเอกชนต่างประเทศ เมื่อได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานในประเทศไทย”
(2) ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการไทยที่เกี่ยวข้อง และไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย
(6) กรณีองค์กรเอกชนต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาดำเนินงานระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า การดำเนินงานขององค์การไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย หรือ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือ กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น คณะกรรมการอาจมีหนังสือเตือนเพื่อให้องค์การเอกชนต่างประเทศนั้น ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือเตือนเสียก่อนก็ได้
หากองค์การเอกชนต่างประเทศยังไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือเตือน หรือการฝ่าฝืนดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง คณะกรรมการมีอำนาจสั่งระงับการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศทั้งหมดหรือบางส่วนได้ หรือเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อสั่งให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานให้กับองค์การเอกชนต่างประเทศ หรือในสำนักงานภูมิภาค หรือสำนักงานสาขาออกจากประเทศไทย หรือยุติการดำเนินงานใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ “
ระเบียบและข้อบังคับข้างต้นทำหลายปีมาแล้ว ปัจจุบันอาจมีการแก้ไข เพิ่มเติม ปรับปรุงใหม่ แต่สาระสำคัญข้างต้นน่าจะยังคงเหมือนเดิม
เป็นที่สงสัยว่า เอ็น.จี.โอ. บางองค์กรของชาติมหาอำนาจอาจถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” สนองตอบนโยบายต่างประเทศในการใช้กดดัน ต่อรอง กับรัฐบาลไทย ให้ดำเนินนโยบายตามที่ตนต้องการ โดยเฉพาะในประเด็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ฯลฯ โดยกล่าวหาว่า ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย หรือคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ
และช่างบังเอิญเหลือเกินที่ระยะหลัง นักการทูตของชาติมหาอำนาจต่างๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวสอดประสานกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ ตั้งแต่ไปให้กำลังใจแก่นักการเมืองที่มีพฤติการณ์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ณ สถานีตำรวจ หรือนัดแนะให้แกนนำผู้ชุมนุมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานทูต การเชิญแกนนำเคลื่อนไหวไปพบปะ ฯลฯ
ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีน คล้ายกับที่อเมริกันเคยดึงไทยเป็นพวกต่อต้านจีนและใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนมาแล้ว
การที่ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล” หรือ “องค์กรนิรโทษกรรมสากล” เปิดตัวแรงคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และออกแถลงการณ์คัดค้านการตัดสินของศาลยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งสถานทูตตะวันตกในไทยดูคึกคักขึ้นมาอีก สะท้อนให้เห็นว่า นับแต่นี้ไป รัฐบาลคงถูกกดดันจากทั้งชาติมหาอำนาจตะวันตกให้เลือกข้างอีกครั้งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 2 ธ.ค.64
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/669704