ศูนย์ข่าวภูเก็ต – ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 คลื่นยักษ์สึนามิถล่มจังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทย มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน ตามส่องหอเตือนภัยสินามิ-อาคารหลบภัย ในพื้นที่อันดามันยังใช้งานได้จริงหรือ
ถ้านับย้อนไปจากวันนี้ (26 ธ.ค.) ปี 2547 รวมระยะเวลา 17 ปี ซึ่งเป็นวันที่คนทั่วโลกต่างก็รู้สึกถึงความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ซัดถล่มเข้าชายฝั่งของหลายประเทศ รวมทั้ง 6 จังหวัดอันดามันของประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์การครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ถูกคลื่นถล่มราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตและสูญหายไม่น้อยกว่า 5,000 ราย ยากที่หลายคนจะทำใจได้
แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนในพื้นที่หากเกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความสูญเสียชีวิตลงได้ นั่นคือการสร้างหอเตือนภัยทั้ง 6 จังหวัดอันดามัน รวมทั้งการสร้างอาคารหลบภัยในพื้นที่ ซึ่งจนถึงวันนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าหอเตือนภัยทั้งหมดจะยังสามารถใช้การและส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 16 ซึ่งดูแลพื้นที่อันดามันระบุว่า ในส่วนของหอเตือนภัยทั้งหมดในทุกพื้นที่ยังสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยได้ตามปกติทุกหอ เนื่องจากมีการทดสอบทุกวันพุธเวลา 08.00 น.
ขณะที่ นางสำเนียง มณีรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง กล่าวว่า จากเหตุการณ์สึนามิถล่มจังหวัดระนองได้ประสบโศกนาฏกรรม ภัยธรรมชาติสึนามิเช่น เดียวกับจังหวัดพังงา และภูเก็ต พื้นที่ทะเลฝั่งอันดามัน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นอีก ทาง ปภ.จังหวัดระนองได้ทำการตรวจเช็ก 13 หอเตือนภัยสึนามิ ในชายฝั่งทะเลอันดามันแนวพื้นที่ จ.ระนอง ทั้งระบบอีกรอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว
โดยมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยหน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมในการรับมือจากเหตุภัยพิบัติต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ในจังหวัดระนองด้วยโครงการ “รัฐร่วมราษฎร์” สนับสนุนให้ทุกชุมชนในพื้นที่เสี่ยงได้ร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมือโดยชุมชนเอง
สำหรับจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 และได้มีการติดตั้งหอเตือนภัยในพื้นที่ชายทะเลในอำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์ อำเภอเมือง รวมทั้งสิ้น 13 จุด ล่าสุดได้รับการยืนยันจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติว่า ทุกจุดยังใช้งานได้เป็นปกติ ส่วนหอหลบภัยนั้นได้ถ่ายโอนให้แก่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าดูแล จากการลงพื้นที่แถวหาดประพาสนั้น พบว่า หอสัญญาณเตือนภัย อาคารหลบภัย และป้ายแสดงบอกเส้นทางหลบหนีคลื่นยักษ์ หรือสัญลักษณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการอพยพหนีสึนามิ ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ยังใช้การได้ ส่วนในเรื่องเสียงจากหอเตือนภัยนั้นจะได้ยินเสียงทดสอบที่หอเตือนภัยเป็นเสียงเพลงชาติ ในเวลาเช้า 08.00 น.ในวันพุธของทุกเดือน
ขณะที่จังหวัดกระบี่ ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า หอเตือนภัยทั้ง 32 หอที่กระจายอยู่ตามพื้นที่เสี่ยงภัย ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้มีการทดสอบสัญญาณทุกวันวันพุธหลังเคารพธงชาติ พบว่าทุกหอสัญญาณเตือนภัยสามารถใช้งานได้ รวมทั้งในส่วนของหอหลบภัยเป็นอาคาร 3 ชั้น ที่สร้างขึ้นในพื้นที่หมู่ 7 บ้านเกาะพีพี เพื่อใช้ในการหลบภัยกรณีที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้น ยังพร้อมใช้งานเช่นเดียวกัน
ขณะที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา ในส่วนของหอเตือนภัยที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด จากการตรวจสอบพบว่า สามารถใช้งานได้ตามปกติ
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 ธ.ค.2564
Link : https://mgronline.com/south/detail/9640000127764