ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศให้ อ.แว้ง นราธิวาส เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุกระทบความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีผล 20 ธ.ค. 64-30 ก.ย. 65 พร้อมเผยลักษณะความผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2561 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 มีเนื้อหาระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในเขตพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 และมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น
เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 จึงออกข้อกำหนด ดังนี้
1. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการ หรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการมีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการ เพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
2. ห้ามบุคคลใดเข้าหรือให้บุคคลใดต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
3. ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งมีประกาศของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
4. ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
5. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด
6. ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้ หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน
ในการนี้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ประกาศให้เขตพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 นั้น
โดยที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยในมาตรา 21 บัญญัติให้ในเขตพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีประกาศตามมาตรา 15 คณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศเพื่อกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ผู้กระทำความผิดตามความผิดดังกล่าว จะเข้ารับการอบรมตามคำสั่งของศาลแทนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดนั้นกลับตัวเพื่อประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้การกระทำความผิดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภายในเขตพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ดังต่อไปนี้ เป็นความผิดที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 21
(1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
(ก)ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 113 ถึงมาตรา 118
(ข) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 มาตรา 120 มาตรา 127 มาตรา 128 และมาตรา 129
(ค) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/1 ถึงมาตรา 135/4
(ง) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 136 ถึงมาตรา 146
(จ) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209 ถึงมาตรา 216
(ฉ) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 ถึงมาตรา 239
(ช) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 ถึงมาตรา 294
(ซ) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 ถึงมาตรา 300
(ฌ) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ถึงมาตรา 321/1
(ญ) ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 ทวิ
(ฎ) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 337 ถึงมาตรา 340 ตรี
(ฎ) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 357
(ฐ) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 358 ถึงมาตรา 361
(ท) ความผิดฐานบุกรุก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 362 ถึงมาตรา 366
(2) ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช 2479
(3) ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
(4) ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
(5) ความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
ข้อ 2 เมื่อผู้ต้องหาว่าได้กระทำความผิดตามความผิดตามข้อ 1 กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้ต้องหาได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ใช้มาตรา 21 กับผู้ต้องหานั้นได้เฉพาะเมื่อปรากฏว่า
(1) การกระทำความผิดนั้นกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
(2) การกระทำความผิดนั้นเกิดภายในเขตพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ตามประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564
(3) การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาว่าได้กระทำความผิดกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 ธ.ค.2564
Link : https://www.thairath.co.th/news/politic/2266411