สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า เผยแพร่ข้อมูล ระบุ พิษสงของ “มัลแวร์” โปรแกรมประสงค์ร้าย ถูกเขียนขึ้นหวังเข้าทำอันตรายกับข้อมูลในระบบ ทั่วโลกต้องสูญเสียเม็ดเงินให้กับมัลแวร์ “ตัวแสบ” ของยุคนี้ไปอย่างมหาศาล
“มัลแวร์” (MALWARE) หรือ “ไวรัสคอมพิวเตอร์” ย่อมาจาก MALicious และ SoftWARE หมายถึง โปรแกรมประสงค์ร้ายที่ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อทำอันตรายกับข้อมูลในระบบ เช่น ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานผิดปกติ ขโมยหรือทำลายข้อมูลหรืออาจจะเปิดช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาควบคุมเครื่องของเราได้
ประเภทของมัลแวร์ เช่น
Virus (ไวรัส)
สามารถแพร่กระจายตัวเองไปยังเครื่องอื่น ๆ ผ่านไฟล์ที่ส่งต่อกันระหว่างเครื่อง เมื่อมันแอบเข้ามายังคอมพิวเตอร์ได้แล้ว มันก็จะเข้าไปก่อกวนการทำงานจนทำให้เกิดผลเสียต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ เหมือนเวลาที่เราป่วยเพราะไวรัส ร่างกายของเราก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่เท่าเดิม คอมพิวเตอร์เองก็เช่นเดียวกัน
Worm (เวิร์ม)
สามารถแพร่กระจายตัวเองไปยังเครื่องอื่น ๆ ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้เองโดยอัตโนมัติ คล้ายกับตัวหนอนที่ชอนไชไปยังเส้นทางต่าง ๆ จนทำให้เครือข่ายล่มหรือใช้งานไม่ได้
Trojan (โทรจัน)
ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเราว่า มันเป็นโปรแกรมทั่วไปที่ไม่มีพิษภัย แล้วให้ผู้ใช้หลงเชื่อและนำไปติดตั้ง หลังจากนั้น มันก็จะสามารถเข้าไปเล่นงานระบบของเราได้ง่าย ๆ
Backdoor (แบ็กดอร์)
มีความสามารถในการเปิดช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีสามารถเข้ามาควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราได้และ สามารถทำอะไรก็ได้กับเครื่องของเรา เช่น สั่งลบหรือโอนย้ายข้อมูลของเราก็ได้
Spyware (สปายแวร์)
คอยแอบดูพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ของเรา และยังสามารถขโมยข้อมูลส่วนตัวของเราไปได้ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ๆ
ระหว่างที่เราใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต กำลังดู เว็บ อ่านอีเมล หรือคุยกับเพื่อนผ่านโซเชียลมีเดีย เจ้าพวกมัลแวร์ จะพยายามเจาะเข้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา โดยมันอาจจะหลอกล่อให้เราเปิดประตูให้ ด้วยการส่งไฟล์มาทางอีเมล หลอกให้เราคลิกลิงก์แปลกปลอม หรืออาจจะเป็นการหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมบางอย่าง ซึ่งถ้าหากเราไม่ระวังตัว และกดตกลงเปิดไฟล์หรือติดตั้งโปรแกรมนั้น ๆ ลงไปในเครื่อง ก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้มัลแวร์บุกเข้ามาโจมตีเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรานั่นเอง
เมื่อเจ้ามัลแวร์เข้ามาได้สำเร็จ บางตัวก็อาจจะเข้ามาสอดส่องข้อมูลของเรา ก่อนที่มันจะส่งข้อมูลสำคัญของเรากลับไปยังเจ้านายของมัน ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็จะมีตั้งแต่รหัสผ่านของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เราใช้อยู่ เช่น Facebook หรือ Twitter รหัสบัตรประชาชน บัญชีธนาคาร หรือรหัสบัตรเครดิตของเรา
เจ้าหัวขโมยนี้สามารถนำข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น เขาอาจจะนำรหัสบัตรเครดิตของเราไปทำบัตรเครดิตปลอมขึ้นมา แล้วก็จับจ่ายใช้สอยอย่างสบายใจ โดยที่เราไม่รู้เรื่องเลย กว่าเราจะรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นว่า เราจะต้องตามชำระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นแทนเจ้าหัวขโมยเสียแล้ว หรือมันอาจจะสวมรอยยึด Facebook ของเราเพื่อกลั่นแกล้ง หรือใช้ประโยชน์ตามใจชอบ หรืออาจจะเข้ามา แล้วทำให้คอมพิวเตอร์ของเราไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปก็เป็นได้ จะเห็นว่ามัลแวร์นั้นสามารถก่อให้เกิดปัญหาให้กับผู้ใช้ได้ไม่น้อยเลย
เราจะสามารถป้องกันมัลแวร์ตัวแสบนี้ได้อย่างไรบ้าง
1.มีด่านป้องกันโดยติดตั้งและอัปเดตแอนติไวรัสอยู่เสมอ เสริมสร้างพลังป้องกัน
2.มีด่านป้องกันชั้นที่ 2 โดยอัปเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์
3.หยุดการติดตั้งซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน ที่ไม่รู้จักหรือต้องสงสัย
4.ไม่คลิกลิงก์หรือเปิดไฟล์ในอีเมลที่น่าสงสัย ถ้าไม่ไว้ใจควรถามกลับไปยังผู้ส่งอีเมลโดยตรง โดยควรสอบถามไปทาง โทรศัพท์หรือแฟกซ์ แทนการส่งอีเมลกลับไป
5.สำรองข้อมูลอยู่เสมอ และควรเก็บข้อมูลสำรองเหล่านั้นไว้ ในอุปกรณ์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือ ระบบเครือข่ายอื่น ๆ แม้ว่ามัลแวร์นั้นจะอันตราย
6.หากเราระวังและป้องกันตัวเอง ตามขั้นตอนแล้วล่ะก็ เท่านี้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตของเราก็จะมั่นคงปลอดภัยจากมัลแวร์แล้ว
———————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 19 ธ.ค.64
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/978083