ในการจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการสังหารหมู่ (Countries at Risk for Mass Killing) ประจำปี 2021-2022 ไทยอยู่ในอันดับที่ 19 จาก 162 ประเทศ ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 42 ในปี 2020-2021 หรือกระโดดข้ามขึ้นมาถึง 23 อันดับ
การจัดอันดับนี้เป็นการประเมินความเสี่ยงในระดับ Top 30 นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยติดอยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยง 30 อันดับแรก
ในตารางการประเมินความเสี่ยงในการเกิดการสังหารหมู่ประจำปี 2021-2022 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก 5 อันดับแรกคือ ปากีสถาน อินเดีย เยเมน อัฟกานิสถาน และคองโก
Early Warning Project ทำการประเมินความเสี่ยงทั่วโลกทุกปีตั้งแต่ปี 2014 เมื่อโลกต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโรฮีนจาในพม่า การสังหารประชาชนที่ซูดานใต้ เอธิโอเปีย และแคเมอรูน
โครงการนี้เป็นการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว Simon-Skjodt Center for the Prevention of Genocide ถ่ายทอดบทเรียนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำงานด้านข้อมูลเพื่อกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลทั่วโลกและประชาชนร่วมป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นอีกในอนาคต
ปัจจัยการประเมินจากสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ประวัติศาสตร์การสังหารหมู่ และความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธในปัจจุบัน
สำหรับไทย ประวัติศาสตร์นองเลือดเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคไล่ล่าคอมมิวนิสต์ มาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 การปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองที่แยกคอกวัว และราชประสงค์ ปี 2553 โดยทั้งหมดนี้คือการกระทำที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง
ความเสี่ยงของไทยอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าพม่า คองโก ซูดานใต้ แต่สูงกว่าจีน อินโดนีเซีย และอิหร่าน เหตุผลที่ทำให้อันดับขยับขึ้นสูงมาเป็นที่ 19 คือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินช่วงการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในปีที่แล้ว มีการปราบปรามผู้ชุมนุม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกสังหาร และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
ข้อสังเกตสำคัญคือ พม่าอยู่อันดับใกล้เคียงกับไทย และซีเรียไม่ได้เป็นประเทศที่อยู่อันดับหนึ่ง เพราะการจัดอันดับนี้คือการประเมิน ‘ความเสี่ยง’ ในอนาคต เหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันจึงไม่ถูกนับเข้าไปด้วย
ส่วนกลุ่มประเทศความเสี่ยงสูงที่ไม่เคยมีประวัติการเกิดเหตุสังหารหมู่มาก่อน คือ เยเมน (ไม่นับการกระทำโดยต่างชาติ) กินี ชาด ตุรกี ลิเบีย คองโก ไทย บุรุนดี โมซัมบิก และยูกันดา
อ้างอิง : earlywarningproject.ushmm.org
ที่มา : plus.thairath / วันที่เผยแพร่ 4 ธ.ค.64
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100785