ฉายภาพแผนพัฒนาต้นแบบ “ระบบเฝ้าระวัง” เพื่อลดผลกระทบในโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ-เทคโนโลยีอวกาศ พร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินด้านอุทกภัย ภัยพิบัติสารเคมี และโรคอุบัติใหม่ เสริมเกราะป้องกันโรงงานและชุมชน รุกแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ต่อเนื่อง
จากการที่โรงงานขนาดใหญ่มีแรงงานจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งโรงงานขนาดใหญ่เมื่อเกิดภัยพิบัติทั้งจากสารเคมี หรือ อุทกภัยตามธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในวงกว้าง
การพัฒนา “ระบบการเฝ้าระวัง” จึงปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถเตือนภัยล่วงหน้า มีการตรวจสอบข้อมูลที่สามารถย้อนกลับเพื่อการป้องกันได้อย่างทันท่วงที ที่จะทำให้สามารถกำหนดมาตรการในการควบคุมการแพร่กระจายและลดผลกระทบได้
นางธัญวรัตม์ อนันต์ หัวหน้าฝ่ายภูมิสารสนเทศพื้นฐานแผนที่และความมั่นคง สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ฉายภาพระบบต้นแบบที่พัฒนาขึ้น โดยนำหลักการของการวางระบบบริหารจัดการข้อมูลเชิงลึกเพื่อใช้ในการบริหารสถานการณ์ของระบบ iMAP มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการลดผลกระทบในพื้นที่จังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนแรงงานสูง หรือพูดง่ายๆก็คือการรวมในเรื่องของฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมจากกรมโรงงานฯ มาผนวกกับข้อมูลเชิงพื้นที่ที่จิสด้ามี และใช้ในเรื่องของแพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัลมาช่วยให้การทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมที่จะใช้เพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม
ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ระบบต้นแบบเพื่อการเฝ้าระวังเพื่อลดผลกระทบของการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 2.ระบบต้นแบบการประเมินความเสี่ยงด้านภัยพิบัติกรณีจากการรั่วไหลของเคมี 3.ระบบต้นแบบการประเมินความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ กรณีอุทกภัย เนื่องจากทุกสถานการณ์ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น
โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยซัพพอร์ตโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านการเฝ้าระวังให้โรงงานมีการออกแนวทาง หรือ กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งยังช่วยในการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมทางทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม สารเคมีและวัตถุอันตราย ให้เกิดความปลอดภัย และลดผลกระทบด้านภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงการบริหารสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งโรคอุบัติใหม่ที่มีต่อโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้ทันต่อเหตุการณ์ สามารถวางแผน พัฒนา ติดตามและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมโรงงานฯ ที่วางไว้ สามารถยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
“ข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดจะมาจากกรมโรงงานฯ ซึ่งลักษณะแนวทางที่ทำคือจะเชื่อมข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูลโรงงานเข้ามาในระบบ และหลังจากนั้นจะมีการประเมินในเรื่องของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งผลกระทบจากโรคระบาดโควิด สารเคมี อุทกภัย โดยการนำข้อมูลต้นทางที่เป็นฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามา พร้อมกับนำแนวคิดการทำข้อมูลเชิงพื้นที่มาวิเคราะห์ พร้อมกับแสดงผลให้เห็นในเรื่องของแดชบอร์ดว่าพื้นที่ใดจะมีความเสี่ยงสูง กลาง ต่ำ โดยการกำหนดระดับความเสี่ยงที่จะเกิดภัยทั้ง 3”
ดังนั้นผู้บริหารโรงงาน หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถผลักดันมาตรการที่เหมาะสมในการเฝ้าระวังภัยเหล่านั้นได้ อาทิ ภัยโควิด ที่จิสด้ามีฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อรายอำเภอ ซึ่งมีการอัพเดตจากกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการตั้งถิ่นฐาน ความหนาแน่น จำนวนคนภายในที่ตั้งโรงงาน เมื่อนำมาวิเคราะห์จะเห็นในเรื่องของความเสี่ยง เมื่อกำหนดระดับความเสี่ยงผู้บริหารจะบริหารจัดการได้ อย่างเช่นในกรณีโควิดอาจจะมีมาตรการเชิงรุกในการตรวจ ATK เพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบวงกว้าง
เช่นเดียวกันกับสารเคมีจะมีการประเมินในส่วนของแนวคิดที่จะนำมาประเมินเบื้องต้นคือ ที่ตั้งโรงงานตั้งอยู่ในเขตผังเมือง หรือ ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งบางแห่งจะมีชุมชนอยู่โดยรอบ หากโรงงานเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้น อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานย่านกิ้งแก้ว ที่ผ่านมาจะส่งผลต่อสารเคมีรั่วไหลหรือไม่อย่างไร
“ขณะเดียวกันหากมองในแง่ของสารเคมี จะดูในเรื่องของชนิดของสารเคมีที่เป็นอันตราย จะมีแนวคิดในการกำหนดต้นแบบความอันตรายของสารเคมีตามมาตรฐานสากล โดยจะมีการประเมินในเรื่องของความเสี่ยงที่ว่าสารเคมีเหล่านั้นมีอันตรายขนาดไหน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการของโรงงาน เมื่อนำข้อมูลทั้งสามส่วนมารวมกันจะสามารถบ่งบอกได้ว่าควรมีมาตรการในการบริหารจัดการกับโรงงานอุตสาหกรรมของตนเองอย่างไร”
ในส่วนอุทกภัย ด้วยความที่จิสด้ามีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหลายสิบปี จึงมีฐานข้อมูล ที่เมื่อนำมาผนวกกับฐานข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และนำมาประกอบกับฐานข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรม จะทำให้เห็นภาพของโรงงานที่อาจะเกิดความเสี่ยงของผลกระทบทางด้านอุทกภัย
ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่ได้มีการจัดทำขึ้นเพื่อให้หน่วยงาน หรือ ผู้บริหาร อุตสาหกรรมจังหวัด หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ทั้งโควิด ภัยพิบัติ และอุทกภัย มีระบบเฝ้าระวังที่สามารถควบคุมสถานการณ์เหล่านั้นบนพื้นฐานของข้อมูลโรงงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการป้องกันอย่างทันท่วงทีและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งทั้งหมดครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด โดยในส่วนของแบบจำลองโรคอุบัติใหม่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ส่วนแบบจำลองอุทกภัย คือ โคราช และสุราษฎร์ธานี สุดท้ายแบบจำลองอุบัติภัยจากสารเคมี จะเป็นชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
โดยเบื้องต้นอยู่ระหว่างการพัฒนาและหารือกับกรมโรงงานฯ เพื่อให้ได้กรอบแนวคิดของการพัฒนาระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ที่กล่าวไปข้างต้นคือกรอบแนวคิดที่จะนำไปสู่การออกแบบระบบ ให้ทางกรมโรงงานฯได้ใช้ประโยชน์ต่อ ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยและนวัตกรรม หรือ วช. ภายใต้เงินทุนสนับสนุนกว่า 7.5 ล้านบาท โดยตามแผนของโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ปี 2565
ส่วนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือ 1.ผลกระทบของเศรษฐกิจโดยรวมในพื้นที่ 9 จังหวัด ยังคงดำเนินการต่อไปได้ ไม่หยุดชะงัก 2.ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้ 3.การแก้ไขปัญหาสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
สุดท้ายนี้ ธัญวรัตม์ กล่าวว่า ส่วนงานตามโครงการที่จะมีการดำเนินการต่อไป คือ 1.การออกแบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาระบบเฝ้าระวังทั้ง 3 ด้าน ให้มีความเหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน 2.พัฒนา Model การบริหารจัดการสถานการณ์จังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง แยกตามบริบทของภัยที่กำหนด 3.การออกแบบแดชบอร์ด เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเดิม 4.การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจาก Model ที่ได้ออกแบบ เพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มเติมและเตรียมการฝึกอบรม พร้อมกับติดตามประเมินผลการใช้งานต่อไป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 8 ธ.ค.2564
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/976090