กล้อง CCTV หรือกล้องวงจรปิดที่ใช้อย่างแพร่หลาย ย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การใช้กล้อง CCTV (Closed-circuit television) หรือกล้องวงจรปิด เพื่อรักษาความปลอดภัยและป้องกันอาชญากรรม แต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้นั้นเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกบันทึกภาพ
ดังนี้ ผู้ใช้กล้อง CCTV จึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ) เพื่อจัดการให้การเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล) เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
ในบทความนี้ ผู้เขียนแบ่งการใช้กล้อง CCTV เป็น 2 กรณี โดยแยกตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ดังนี้
กรณีที่ 1 การใช้กล้อง CCTV เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัว
ในกรณีการใช้กล้อง CCTV เพื่อรักษาความปลอดภัยของบ้านเรือนและสมาชิกในครอบครัวนั้น แม้ว่าข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลก็ตาม แต่ก็เป็นข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ตามที่มาตรา 4(1) บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
กล่าวคือ ผู้ใช้กล้อง CCTV เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวสามารถประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องพิจารณาถึงฐานในการประมวลผลตามกฎหมายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การใช้กล้อง CCTV ตามวัตถุประสงค์ข้างต้น จะต้องเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างแท้จริงเท่านั้น เช่น ไม่ติดตั้งกล้อง CCTV ให้ถ่ายนอกเหนือบริเวณที่อยู่อาศัยของตนเอง
กรณีนี้พอจะเปรียบเทียบได้กับคดี František Ryneš v Úřad pro ochranu osobních údajů ซึ่งศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปได้ตัดสินไว้ว่า แม้มีการติดตั้งกล้อง CCTV ภายในบ้านเพื่อใช้ในการรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สินและตัวเจ้าของบ้านเอง แต่ขณะเดียวกันกล้องนั้นได้ถ่ายติดบริเวณทางเดินซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ จึงเป็นกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างแท้จริง ดังนี้ ผู้ใช้กล้อง CCTV ต้องอาศัยฐานทางกฎหมายเพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
กรณีที่ 2 การใช้กล้อง CCTV เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ร้านค้าหรือองค์กรต่าง ๆ
การใช้กล้อง CCTV เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ร้านค้าหรือองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไปเป็นการใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยของบุคคลหรือทรัพย์สิน เห็นได้ว่ากรณีนี้ไม่อยู่ภายใต้ข้อยกเว้นตามมาตรา 4 (1) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เนื่องจากไม่ใช่การใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน
ดังนี้ ผู้ใช้กล้อง CCTV ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลจึงต้องมีฐานทางกฎหมายมารองรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวและมีหน้าที่ดำเนินการให้สอดคล้องกับฐานทางกฎหมายนั้น
เมื่อพิจารณาถึงฐานทางกฎหมายตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ จะพบว่า ฐานที่รองรับความจำเป็นในการใช้กล้อง CCTV ในหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ นั้น คือ ฐานประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย (Legitimate interest)
โดยผู้ใช้กล้อง CCTV ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่แสดงให้เห็นว่าการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปเพื่อผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของตน และผลประโยชน์นั้นมีความสำคัญไม่น้อยกว่าสิทธิพื้นฐานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
กล่าวคือ เป็นฐานที่ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับกับผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจเกิดขึ้น หากประโยชน์ที่ได้มากกว่าผลกระทบที่จะเกิด ผู้ควบคุมข้อมูลจึงสามารถใช้ฐานนี้ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลได้
ตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งหนึ่งทำการติดตั้งกล้อง CCTV ในบริเวณตู้เอทีเอ็มหน้าธนาคาร เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการและป้องกันอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น โดยธนาคารได้ติดป้ายแจ้งผู้ใช้บริการอย่างชัดเจนว่ามีการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลด้วยกล้อง CCTV ส่วนผู้ใช้บริการหรือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก็ทราบถึงเหตุผลและประโยชน์ของการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยใช้กล้อง CCTV อีกทั้งยังคาดหมายได้ว่าจะมีการใช้กล้อง CCTV ในบริเวณดังกล่าว
ดังนั้น ธนาคารในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลจึงสามารถใช้ฐานประโยชน์โดยชอบธรรมในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยที่ธนาคารไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลแต่อย่างใด
ในทางตรงข้าม หากมีการติดตั้งกล้อง CCTV ในอาคารของหน่วยงานแห่งหนึ่ง แต่มุมกล้องมีรัศมียาวไปถึงทางเดิน ถนนสาธารณะและอาคารฝั่งตรงข้าม เห็นได้ว่าการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลนี้เป็นการกระทำที่เกินความจำเป็นและเป็นวิธีที่ไม่สมเหตุสมผล
เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลและผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล จะพบว่าผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลที่ถูกบันทึกภาพมีน้ำหนักมากกว่า ดังนี้ ผู้ควบคุมข้อมูลจึงไม่สามารถอ้างฐานประโยชน์โดยชอบธรรมเพื่อประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลได้
นอกจากนี้ ผู้ใช้กล้อง CCTV ยังมีหน้าที่ต้องแจ้งผู้ถูกบันทึกภาพหรือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลให้ทราบถึงการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล โดยการติดป้ายให้ชัดเจนและเป็นการทั่วไป
โดยระบุว่าบริเวณดังกล่าวมีการติดตั้งและใช้งานกล้อง CCTV มีข้อความระบุถึงตำแหน่งที่ติดตั้งกล้อง CCTV วัตถุประสงค์ของการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิตามกฎหมายของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อผู้ใช้กล้อง CCTV อีกด้วย
เมื่อมีการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว ต้องมีการจำกัดบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูล และจัดให้มีการลบหากไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลนั้นแล้ว
โดยสรุป ผู้ใช้กล้อง CCTV จำเป็นต้องพิจารณาถึงการใช้งานว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือครอบครัว หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ร้านค้าหรือองค์กรต่าง ๆ แล้วจึงดำเนินการตามเงื่อนไขที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ กำหนด ทั้งนี้เพื่อให้การประมวลผลและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อเป็นการช่วยคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 4 ธ.ค.2564
Link : https://www.bangkokbiznews.com/columnist/975683