– หน่วยงานด้านการบินสหรัฐฯ รวมทั้งผู้ผลิตเครื่องบินหลายเจ้า ออกมาเรียกร้องให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณไร้สายในสหรัฐฯ ชะลอเปิดสัญญาณ 5G ในเดือนมกราคมปีหน้าออกไปก่อน
– สำนักงานบริหารการบินกลางของสหรัฐฯ กังวลว่า สัญญาณ 5G จะส่งผลกระทบต่อระบบเรดาร์บนเครื่องบิน จนทำให้พวกเขาต้องใช้มาตรการเฝ้าระวังซึ่งอาจส่งผลกระทบนับแสนเที่ยวบิน
– ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมตั้งข้อสังเกตว่า กว่า 40 ประเทศทั่วโลกใช้ 5G แล้วแต่ไม่พบปัญหา แต่กลุ่มการบินสหรัฐฯ แย้งว่า บริการในประเทศอื่นๆ แตกต่างจากในสหรัฐฯ
ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วงต้นปี 2565 พวกเขากำลังจะเผชิญปัญหาใหม่ที่อาจส่งผลต่อการเดินทางนับแสนเที่ยวบิน จากการเริ่มให้บริการสัญญาณคลื่นไร้สายที่เรียกว่า 5G ในสหรัฐฯ
บรรดาผู้บริหารสายการบินรวมถึงองค์กรการบินของสหรัฐฯ เตือนมาตลอดว่า บริการ 5G ใหม่นี้ อาจรบกวนอุปกรณ์วัดความสูงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ และทำให้เกิดความล่าช้าของการเดินทางในสภาพหิมะตกหรือทัศนวิสัยต่ำ หรือถึงขั้นไม่สามารถลงจอดได้จนต้องเปลี่ยนเส้นทางหรือยกเลิกเที่ยวบินไป
อะไรคือสาเหตุให้กลุ่มการบินสหรัฐฯ กังวลเรื่อง 5G มากขนาดนี้ ทั้งที่หลายสิบประเทศทั่วโลกก็เริ่มให้บริการดังกล่าวมาสักพักแล้วแต่ยังไม่เกิดปัญหา 5G ในสหรัฐฯ แตกต่างจากที่อื่นตรงไหน?
กังวล 5G กระทบการบิน
บนเครื่องบินมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เรดาร์วัดความสูง” (Radar altimeters) ไว้สำหรับวัดความสูงของตัวเครื่องจากพื้นดินด้วยคลื่นวิทยุ ต่างจากเครื่องวัดความสูงชนิดอื่นๆ ที่ใช้แรกกดอากาศ โดยอุปกรณ์ตัวนี้ถูกจัดว่ามีความสำคัญยิ่งยวด และเปิดใช้งานตลอดการเดินทาง
ปัญหาคือผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ของสหรัฐฯ เตรียมเริ่มปล่อยสัญญาณ 5G ในวันที่ 5 ม.ค.ปีหน้า โดยให้บริการในย่านความถี่ที่ สำนักงานบริหารการบินกลาง หรือ FAA ของสหรัฐฯ กังวลมากกว่า สัญญาณที่ปล่อยออกมาจากเสาส่งสัญญาณใกล้สนามบิน จะทำให้การอ่านค่าของเรดาร์นี้ผิดเพี้ยนไป
FAA ถึงขั้นออกคำสั่งด่วน ห้ามนักบินใช้เรดาร์วัดความสูงขณะบินในสภาพทัศนวิสัยต่ำ ซึ่งจะอาจส่งผลให้เครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ในบางสถานการณ์ แต่ยังไม่ชัดเจนว่า คำสั่งของ FAA จะส่งผลกระทบต่อสนามบินใดบ้าง
ตามข้อมูลจากคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) สัญญาณ 5G ที่ปล่อยออกมาจะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา, นิวอิงแลนด์, เทกซัส และภูมิภาคมิดเวสต์ ทำให้สนามบินที่ได้รับผลกระทบอาจรวมถึงท่าอากาศยานขนาดใหญ่ในนครลอสแอนเจลิส, นิวยอร์ก และฮูสตัน ด้วย
5G ทำงานอย่างไร
สัญญาณ 5G จะเดินทางบนคลื่นความถี่วิทยุที่รู้จักกันว่าย่านความถี่ ‘ซี-แบนด์’ (C-Band) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการสัญญาณไร้สายอย่างมาก เนื่องจากมีความสมดุลทั้งในเรื่องระยะและความจุ แต่มันอยู่เกือบติดกับย่านความถี่วิทยุที่เรดาร์วัดความสูงใช้งาน โดยมีการ์ดแบนด์ (guard band) หรือช่องความถี่ว่างคั่นเอาไว้เพื่อไม่ให้สัญญาณรบกวนกัน
ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์อย่าง เวอไรซอน (Verizon) และ เอทีแอนด์ที (AT&T) เสนอเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จะจำกัดความเข้มของสัญญาณที่ปล่อยออกจากเสา 5G และใช้มาตรการป้องกันอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบิน รวมทั้งเลื่อนการเริ่มปล่อยสัญญาณจากกำหนดการเดิมในวันที่ 5 ธ.ค.ปีนี้ เป็นมกราคมปีหน้าด้วย
แต่ความเคลื่อนไหวนี้ยังไม่อาจลบความกังวลของหน่วยงานการบินสหรัฐฯ ได้ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธ.ค. ซีอีโอของบริษัท โบอิ้ง กับเแอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ส่งจดหมายถึงกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ เรียกร้องให้เลื่อนการปล่อยสัญญาณ 5G พร้อมเตือนด้วยว่า หากไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้ ข้อบังคับใหม่ของ FAA กระทบต่อการเดินทางของเครื่องบินพาณิชย์กว่า 345,000 เที่ยวบิน คิดเป็นผู้โดยสาร 32 ล้านคน และเครื่องบินขนส่งสินค้าอีก 5,400 เที่ยวบิน
ขณะที่จดหมายอีกฉบับที่สมาคมอุตสาหกรรมการบินสหรัฐฯ ส่งถึง FCC ต้องการให้ผู้ให้บริการสัญญาณไร้สายมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น ลดความเข้มของสัญญาณ 5G ลงอีก และปรับเสาส่งสัญญาณให้องศาชี้ลงต่ำกว่าเส้นขอบฟ้า เป็นต้น
ประเทศอื่นมีปัญหาหรือไม่?
นายฮาร์โรลด์ เฟลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมชาวอเมริกันออกมาตั้งข้อสังเกตว่า จนถึงปัจจุบันนี้มีอย่างน้อย 40 ประเทศทั่วโลกที่อนุมัติการใช้งานสัญญาณ 5G บนย่านความถี่ ซี-แบนด์ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเครือข่าย 5G อยู่ห่างจากย่านความถี่ของเรดาร์วัดความสูงไม่ถึง 220 เมกะเฮิรตซ์ที่ FCC กำหนดไว้เสียอีก แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อการบิน หรือการรบกวนอุปกรณ์ที่น่าเชื่อถือได้ออกมาเลย
แต่ฝั่งอุตสาหกรรมการบินออกมาโต้แย้งเรื่องนี้ว่า ประเทศอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ให้บริการ 5G ด้วยความเข้มเพียงส่วนเสี้ยวของระดับที่รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาต ขณะที่แคนาดามีมาตรการชั่วคราว ที่กำหนดให้เสาส่งสัญญาณต้องกดองศาให้ต่ำลง ส่วนที่ยุโรปการ์ดแบนด์มีความหน้ากว่าของสหรัฐฯ ถึง 100 เมกะเฮิรตซ์
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการสัญญาณในสหรัฐฯ จะยังไม่ปล่อยสัญญาณ 5G ในย่านซี-แบนด์อย่างเต็มที่จนกว่าจะถึงปี 2566 ทำให้เกิดช่วงสัญญาณว่างมากขึ้นเพิ่มเติมจากการ์ดแบนด์ ทำให้ระยะห่างกับย่านความถี่ที่เรดาร์วัดความสูงใช้ เพิ่มขึ้นเป็น 400 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งอาจทำให้ทุกฝ่ายมีเวลาประเมินสถานการณ์จากการใช้งานจริงและปรับแก้ไขเพิ่มเติมได้
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 ธ.ค.2564
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2272415