เมื่อสองเดือนก่อน ผู้บริหารระดับสูง 8 คนของสายการบินไหหลำ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาว ไม่มีเสื้อกันหนาว ออกไปยืนเรียงแถวกันภายนอกอาคาร ที่นครปักกิ่ง กลางอากาศเย็นเฉียบที่ 0 องศาเซลเซียส
ไม่ใช่ว่าผู้บริหาร อยู่ดีๆเกิดนึกสนุก ออกไปยืนหนาวสั่นรับความเย็นเช่นนั้น เป็นเวลานานถึง 40 นาที แต่เป็นเพราะถูกคำสั่งลงโทษ ให้ทำเช่นนั้นครับ
สาเหตุก็เพราะ มีผู้โดยสารระดับพลาตินัมของสายการบิน ลงเครื่องบินที่กรุงปักกิ่งแล้วเขาเหลือบไปเห็นแอร์โฮสเตสหญิงคนหนึ่ง เธอนั่งตัวงอด้วยความหนาวสั่นอยู่ริมถนน ระหว่างที่เธอกำลังรอรถบัส
น้องคนนั้น อยู่ในชุดปฏิบัติงานของสายการบิน ที่ออกแบบไว้สำหรับใช้สวมใส่ในฤดูร้อน เป็นชุดขาสั้น มองเห็นท่อนขาสูงขึ้นไปจนเหนือเข่า และไม่มีเสื้อคลุมกันหนาว แต่ขณะนั้น อากาศได้เปลี่ยนเป็นฤดูหนาวแล้ว
ผู้โดยสารคนนั้น ถ่ายภาพพนักงานต้อนรับแล้วไปให้ผู้บริหารระดับสูงของสายการบินไหหลำ ผลก็คือการลงโทษผู้บริหาร 8 คนอย่างที่เห็น เพื่อ “ให้รู้เสียบ้างว่า อย่าเอาแต่นั่งในออฟฟิศ แล้วคิดว่าฤดูอะไรก็เหมือนกันแหละ… ออกไปแก้ปัญหาซะ”
วิธีลงโทษแบบนี้ คงทำได้ในประเทศจีนและอีกบางประเทศเท่านั้น ประเทศอื่นๆคงทำได้ยากสักหน่อย แต่ประเด็นของผมไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ ผมมองไปที่บทบาทของผู้โดยสารคนนั้นมากกว่า
มีคำกล่าวภาษาไทยที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี ที่เรียกว่า “เป็นหู เป็นตา” ผมคิดว่าผู้โดยสารคนนั้น ได้ทำหน้าที่มากกว่าผู้โดยสารทั่วไป ซึ่งเมื่อเห็นแล้วคงแค่รู้สึกเห็นใจพนักงานสาวเท่านั้น
แต่ผู้โดยสารคนนี้ ได้ทำหน้าที่ “เป็นหู เป็นตา” ให้กับผู้บริหารสายการบินไหหลำด้วย เพื่อบอกให้รู้ว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน จะได้นำไปสู่การแก้ไข
ผมเคยไปร่วมงานที่โรงแรมแถวสี่แยกราชประสงค์ ก่อนกลับได้แวะใช้ห้องน้ำที่ล็อบบี้ เมื่อบิดก๊อกน้ำเพียงนิดเดียวเพื่อล้างมือ ปรากฏว่าน้ำพุ่งออกแรงผิดปกติมากๆ พอน้ำกระแทกโดนมือ น้ำก็กระเด็นไปโดนทั่วทั้งเสื้อ และออกไปเลอะเทอะนอกอ่างล้างมือ และที่พื้นห้องน้ำ
ปัญหาคงเป็นเช่นนั้นมานานแล้ว ผมเชื่อว่าผู้บริหารคงไม่มีโอกาสเห็นปัญหานี้ด้วยตนเอง ผมจึงไปแจ้งให้ทราบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข คือ ผมก็ทำหน้าที่ “เป็นหู เป็นตา” ให้ผู้บริหารโรงแรม ทั้งๆที่ไม่ได้รู้จักกันเลย
ในสังคมเรา เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดเสมอว่า ตำรวจมีจำนวนจำกัด ต้องอาศัยประชาชนให้ช่วยกัน “เป็นหู เป็นตา” ให้ตำรวจด้วย ถ้าเห็นหรือได้ยินอะไรที่ผิดปกติ ช่วยแจ้งให้ตำรวจทราบ จะได้ป้องกันปัญหาได้
รัฐบาลเอง มีหน่วยงานให้ประชาชนแจ้งเหตุเดือดร้อน ป.ป.ช. มีการให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเหตุ ที่เชื่อว่าน่าจะมีการคอรัปชั่น และบริษัทต่างๆ ก็มีระบบที่เรียกว่า“คนเป่านกหวีด” (Whistle Blower) เพื่อยุติการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
พนักงานที่เห็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรม สามารถแจ้งฝ่ายตรวจสอบภายใน หรือคณะกรรมการตรวจสอบได้ เพื่อดำเนินการให้เกิดความถูกต้องภายในองค์กร และลงโทษผู้ที่ปฏิบัติผิด กฎ กติกาและมารยาทของพนักงานบริษัท
ปัจจุบัน เทคโนโลยี ได้เป็นหูเป็นตา ที่ดีของสังคม เพราะมี CCTV ติดตั้งอยู่ทั่วไป ทั้งในบริษัท บนท้องถนน และ จุดให้บริการสาธารณะต่างๆ เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นก็สามารถตามจับผู้กระทำความผิดได้ โดยมีหลักฐานที่ชัดเจน
มีทั้ง “ตา” คือภาพที่เห็นจากกล้อง และ มีทั้ง “หู” คือเสียงพูดที่ถูกบันทึกไว้ แต่ถึงแม้ CCTV จะเป็นหูเป็นตาที่ดี และเป็นหลักฐานที่ดีหลังเกิดเหตุ แต่ “มนุษย์” ก็ยังเป็นหูและตาที่ดีที่สุด ในการป้องกันเหตุร้ายใดๆ
ในระบบราชการไทย ทุกวันนี้ยังมีการเรียกเก็บเงินนอกระบบ ในการใช้บริการบางที่และบางแห่ง ถ้าหากประชาชนไม่จ่ายเงินนอกระบบ ก็จะมีปัญหาในการได้รับบริการ
แม้จะรู้ว่าไม่ถูกต้อง ที่ต้องจ่ายเงินนอกระบบ แต่เพื่อให้ได้รับบริการอย่างรวดเร็ว ประชาชนก็มักทำใจและยอมจ่าย เพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่นในชีวิต ดังนั้นระบบ “เป็นหู เป็นตา” จึงไม่ทำงานเต็มที่เท่าใดนัก
เมื่อระบบไม่ทำงาน กลไกเสื่อมความขลัง ระบบหูและตาอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” จึงเข้ามาสวมแทน
เมื่อหูและตา ไปอยู่ ที่นาและที่ไร่เสียแล้ว หูตาที่จะทำให้สังคมนี้ดีขึ้น จึงมีน้อยลง เพราะถึงแม้จะเห็นอยู่ “ตำหู ตำตา” แต่ก็ไม่มีใครอยากทำอะไร
เจ้าหน้าที่ๆรักความยุติธรรม และความถูกต้องในสังคม เมื่อขาดหูขาดตา ไว้เป็นตัวช่วย จึงต้องใช้ “จมูก” เป็นอวัยวะแทน คือต้องพยายาม “ดมกลิ่น” สืบเสาะหาการกระทำผิด และหาหลักฐานในการกระทำผิดให้ได้
ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานหลายปี กว่าจะทำได้สำเร็จ และกว่าจะผ่านกระบวนการยุติธรรมจนถึงศาลสั่งลงโทษ บางทีศาลสั่งจำคุกนานถึง 40 หรือ 50 ปีก็มี
แต่พอจำคุกจริงๆ กลับสั้นนิดเดียว ผู้พิพากษาเพื่อนผมเคยบอกผมว่า ในกระบวนการยุติธรรมนั้น นอกจากมี “ตุลาการ” แล้ว ยังมี “ตุลาเกิน” ด้วยนะ คือสามารถทำให้โทษเหลือเพียงนิดเดียว ได้อีกด้วย
ตอนนี้กำลังเป็นคำถามในสังคมว่า โทษเกือบ 50 ปี เหลือเพียง 10 ปีได้อย่างไร ใครที่รู้ว่าระบบ“ตุลาเกิน” มันทำงานเช่นใด…
ช่วย “เปิดหู เปิดตา” ให้พวกเราด้วยครับ
บทความโดย ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
———————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่ 24 ธ.ค.2564
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/979008