คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ถ่ายภาพร่วมกับคณะผู้แทนบีอาร์เอ็น และผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียในระหว่างการพบปะกันที่กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 11-12 ม.ค.2565
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเปิดเผยผลการหารือกับคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-12 ม.ค.ว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันในหลักการ 3 ข้อที่จะเป็นสารัตถะของการพูดคุยในระยะต่อไป คือ ลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และแสวงหาทางออกทางการเมือง
หลังจากชะงักงันเพราะการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ระหว่างรัฐไทยและบีอาร์เอ็นมีความคืบหน้าที่สำคัญเมื่อทั้งสองฝ่ายนัดหมายพบปะกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี และนับเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้ของไทยเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563
คณะผู้แทนไทยที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้า และฝ่ายบีอาร์เอ็นที่มีอานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นหัวหน้าคณะ พบกันแบบ “ตัวเป็น ๆ” ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2-3 มี.ค. 2563
วันนี้ (13 ม.ค.) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เผยแพร่เอกสารข่าวสรุปผลการหารือระหว่างวันที่ 11-12 ม.ค. ซึ่งใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “3rd Working Group Peace Dialogue Process on Southern Thailand Meeting” ระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและถกแถลงหลักการที่จะยึดถือในการพูดคุยสารัตถะในระยะต่อไปจำนวน 3 เรื่อง คือ 1.ลดความรุนแรง 2.การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.แสวงหาทางออกทางการเมือง”
นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดคุยสารัตถะทั้ง 3 เรื่อง โดยจะมีบุคคลผู้ประสานงานและคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง เพื่อผลักดันให้การพูดคุยประเด็นสารัตถะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัวและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
“คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ได้หยิบยกเรื่องการสร้างบรรยากาศที่ดี เอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการพูดคุย และการใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการให้ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรง อันจะเป็นการแสดงถึงความคืบหน้าและประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ของทั้งสองฝ่าย” คณะพูดคุยสันติสุขฯ ของไทยระบุ
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างต่อเนืองหลังจากกลุ่มบีอาร์เอ็นเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการในปี 2563
ตันสรี อับดุลราฮิม มูฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเบนาร์นิวส์ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ว่า ทั้งสองฝ่ายเจรจาด้วยความสันติ โดยใช้การสื่อสาร 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และมลายู
“ผมพูดภาษาอังกฤษ แล้วแปลเป็นไทยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย และแปลเป็นมลายูให้กับฝั่งผู้แทนของบีอาร์เอ็น เพราะเขารู้สึกสะดวกกว่า” นายราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ และกล่าวอีกว่าทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่จะหาทางออกให้กับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้
“ทางออกทางด้านการเมืองเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ แต่การหาทางออกมันต้องใช้เวลา อย่างน้อยก็สองปี” นายราฮิม นูร์ กล่าว
การพบปะกันของคณะผู้แทนไทยและบีอาร์เอ็นในเดือนแรกของปี 2565 ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ 2 คน เป็นสัญญาณว่าปีนี้การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ อาจมีความคืบหน้าและความเคลื่อนไหวสำคัญ บีบีซีไทยสรุปไทม์ไลน์การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามบันทึกหน้าใหม่ของการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ในปีนี้
หัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ
หลังจากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเลขา สมช. เมื่อเดือน ก.ย.2562 พล.อ.วัลลภได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ของไทย ให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 นับเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ คนที่ 3 ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ คนแรกคือ พล.อ.อักษรา เกิดผล คนที่ 2 คือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์
พล.อ.วัลลภ เคยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารและผู้อำนวยกรสำนักนโยบายและแผนกลาโหม มีประสบการณ์ในการประสานงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ
ช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง “สายเหยี่ยว” บางคนมองว่า พล.อ.วัลลภ โอนอ่อนให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นมากเกินไป
อานัส อับดุลเราะห์มาน
หัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายบีอาร์เอ็นคืออานัส อับดุลเราะห์มาน หรืออุสตาซฮีพนี มะเระห์
ในบทวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความคืบหน้าของการเจรจาระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นที่เขียนโดย ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เผยแพร่ในวารสารด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ ฉบับเดือน ม.ค.2565 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุสตาซฮีพนีไว้ว่า เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็น เคยเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาในอินโดนีเซียและอียิปต์ และยังเคยเป็นอดีตครูสอนศาสนา (อุสตาซ) ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา
ดร.รุ่งรวี ระบุว่าบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งในทีมพูดคุยของบีอาร์เอ็นคือ อับดุล อาซิส ญะบัล หรือที่รู้จักกันในแวดวงการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยว่า “อาจารย์วาฮิด” ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส เขาเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นคนแรกที่สื่อสารกับสาธารณะด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นต้องการสื่อสารกับประชาคมนานาชาติในวงกว้าง แหล่งข่าววงในบีอาร์เอ็นให้ข้อมูลกับ ดร.รุ่งรวีว่า อาจารย์วาฮิดมีความใกล้ชิดกับสมาชิกในปีกทหารของบีอาร์เอ็น บ่งชี้ว่าการพูดคุยกับรัฐไทยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น
3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพูดคุยสันติสุข
ในบทวิเคราะห์ชิ้นเดียวกันนี้ ดร.รุ่งรวี เสนอว่ามีปัจจัย 3 ประการที่ส่งกระทบต่อการพูดคุยสันติสุขฯ และสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ
– การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้การพูดคุยสันติสุขฯ ชะงักมาช่วงหนึ่ง เพราะรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขและผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากกว่ากระบวนการสันติภาพ แต่ด้วยแนวโน้มที่โรคระบาดอาจลดความรุนแรงลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่น จึงมีแนวโน้มว่าทั้งสองฝ่ายจะจัดการพูดคุยแบบพบหน้ากันได้ในปีนี้
– กลุ่มที่เน้นปฏิบัติการทหารหรือ “สายเหยี่ยว” ของทั้งฝ่ายรัฐไทยและบีอาร์เอ็นอาจทำให้การพูดคุยสะดุดลง ฝ่ายไทยเองก็มีนายทหารบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ พล.อ.วัลลภ ที่พวกเขามองว่ายอมฝ่ายบีอาร์เอ็นมากเกินไป ขณะเดียวกัน ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็มีคนที่คัดค้านการเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยกับรัฐไทยมาตั้งแต่ต้น
– สถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนในไทยอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุย ทั้งการประท้วงของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลและการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น เพราะความสำเร็จของการเจรจาสันติภาพนั้นเชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศและความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยด้วย
สำหรับการพูดคุยครั้งที่ 3 ที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ดร.รุ่งรวีให้ความเห็นว่า “เป็นหมุดหมายที่สำคัญ” เพราะเป็นการวางกรอบสำคัญการพูดคุยในเรื่องหลัก 3 ประเด็น คือ คือ 1.การลดความรุนแรง 2.การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง
นักวิชาการแห่งสถาบันสันติศึกษา มอ.โพสต์เฟซบุ๊กวันนี้ (13 ม.ค.) ว่า “อาจกล่าวได้ว่าการพูดคุยสันติภาพในภาคใต้กำลังค่อยๆ เคลื่อนจากช่วงเวลาของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจไปสู่การพูดคุยในประเด็นสารัตถะ เราคงจะได้ยินการถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งก็นับว่าเป็นกระบวนการปกติ เราไม่ควรจะคาดหวังว่าจะมีข้อตกลงสันติภาพในอนาคตอันใกล้ เพราะว่ากระบวนการสันติภาพนั้นมักจะต้องใช้เวลานาน และต้องการความอดทนสูง แต่ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือตราบใดที่กระบวนการสันติภาพดำเนินไปได้อย่างมีความหมาย ก็น่าจะส่งผลดีในการจำกัดและลดความรุนแรงในพื้นที่ได้”
ท่าทีจากกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่
เดอะปาตานี (The Patani) ซึ่งอธิบายตัวเองว่าเป็น “ขบวนการมวลชน” ที่ขับเคลื่อนอย่างสันติและไม่ใช้อาวุธเพื่อเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเองปกครองตนเองของดินแดนปาตานีที่ปัจจุบันคือจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีและความเห็นต่อการพบปะกันระหว่างบีอาร์เอ็นและผู้แทนรัฐไทยที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ดังนี้
– บรรยากาศในขณะนี้ยังไม่สุกงอมพอสำหรับพูดคุยและกระบวนการสันติภาพ เพราะสมาชิกบีอาร์เอ็นระดับปฏิบัติการในพื้นที่ รวมทั้งนายทหารระดับสูงของไทยยังมีความกังขาต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ นี้
– ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าข้อตกลงใด ๆ ที่บรรลุบนโต๊ะเจรจาจะไม่มีความหมายเลยหากไม่มีการปฏิบัติให้เกิดผลจริงในพื้นที่
– การที่รัฐบาลไทยไม่ทำความเข้าใจรากเหง้าที่แท้จริงของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการก่ออาชญากรรม ก็ย่อมเป็นการยากที่กระบวนการสันติภาพจะคืบหน้าไปได้
– ตั้งคำถามต่อเจตจำนงทางการเมืองของฝ่ายไทยในกระบวนการสันติภาพ เห็นได้จากการวิสามัญฆาตกรรมกองกำลังของบีอาร์เอ็นจำนวนหลายสิบคน แม้จะบีอาร์เอ็นจะประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวนับตั้งเเต่เดือนเม.ย. 2563 เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลในช่วงการระบาดของโควิด-19
– เรียกร้องให้ฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นพัฒนากระบวนการจากขั้นตอนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ไปสู่การเจรจาในประเด็นสารัตถะ โดยเร็ว และรัฐบาลไทยควรเปิดกว้างมากขึ้นในการประสานงานกับนานาชาติที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการความขัดแย้ง
ลำดับเหตุการณ์พูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ในรัฐบาลประยุทธ์
เหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รัฐบาลไทยทุกยุค พยายามเปิดการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
ปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับเป็นครั้งแรกที่รัฐไทยริเริ่มการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่ง ดร.รุ่งรวี วิเคราะห์ว่า แม้ว่าการพูดคุยนี้จะยุติลงในเวลาอันสั้น แต่ได้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนพลวัตของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้และได้ผลักให้บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัวตนทั้งผ่านสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 บีอาร์เอ็นปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร ทำให้กลุ่มมาราปาตานีเข้ามามีบทบาทเป็นคู่เจรจา แต่มาราปาตานีก็ประสบปัญหาเรื่องการยอมรับจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรวมทั้งฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่
ต่อไปนี้เป็นลำดับเหตุการณ์การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์
ส.ค. 2558: มาราปาตานี องค์กรร่มของฝ่ายขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานี (Majlis Syura Patani: MARA Patani) เปิดตัวกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทางการไทยเคยอธิบายว่ามาราปาตานีถือเป็นองค์กรร่มของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ได้แก่ 3 กลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (PULO ) กลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี (GMIP) และบีอาร์เอ็น แต่ในภายหลัง PULO-P4 ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของ PULO ได้ถอนตัวออกไป
เม.ย. 2560: ขบวนการบีอาร์เอ็นประกาศไม่มีส่วนร่วมในกลุ่มมาราปาตานีที่กำลังพูดคุยหาแนวทางสันติภาพกับทางการไทย แต่ต้องการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลไทยโดยมีประชาคมโลกร่วมสังเกตการณ์
ต.ค. 2562: หลังการเลือกตั้งเดือน มี.ค.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้แต่งตั้ง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังจากที่เขาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเลขาธิการ สมช. พล.อ.วัลลภกล่าวในงานเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเชิญบีอาร์เอ็นมาเป็นแกนนำในการเจรจา ซึ่งในที่สุดรัฐไทยก็ประสบความสำเร็จในการนำบีอาร์เอ็นมาสู่โต๊ะพูดคุย
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะไทย (ซ้าย) จับมือกับ ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ (กลาง) ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย และ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นหัวหน้าคณะบีอาร์เอ็น (ขวา)
20 ม.ค. 2563: คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้ กับผู้แทนของบีอาร์เอ็นพบกันเป็นครั้งแรก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย นับเป็นการเป็นการเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น
ดร.รุ่งรวีมองว่าความสำเร็จในการนำบีอาร์เอ็นมาสู่การพูดคุย เกิดจากกระบวนการพูดคุยภายในหรือ backchannel talks ภายใต้ “ความริเริ่มเบอร์ลิน” (Berlin Initiative) ในช่วงปี 2561-2562 ที่มีองค์กรเอกชนระหว่างประเทศในยุโรปเป็นผู้ดำเนินการ
2-3 มี.ค. 2563: การเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ระหว่างทางการไทยกับบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
3 เม.ย. 2563: บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์หยุดกิจกรรมความเคลื่อนไหวทั้งหมดของกลุ่มลงชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติงานในช่วงที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาด แถลงการณ์ระบุว่าบีอาร์เอ็นไม่ต้องการ “ซ้ำเติม” ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปพร้อม ๆ กัน
3 ก.พ. 2564: คณะทำงานทางเทคนิคของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ประชุมทางไกลร่วมกับผู้แทนของบีอาร์เอ็น โดยมีตันสรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ
15 ก.พ. 2564: อับดุล อาซิส ของบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ทางยูทิวบ์ แสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมการพูดคุยกับทางการไทยต่อ ทั้ง-การประชุมด้านเทคนิค และการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
เนื้อหาบางส่วนของแถลงการณ์ระบุว่าในช่วงที่การประชุมแบบพบปะกันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่บีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทยมีความทุ่มเทในการเจรจา ทั้งสองฝ่ายจึงส่งข้อความและจดหมายถึงกันโดยมีกองเลขาธิการผู้อำนวยความสะดวกเป็นคนกลาง และได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญ เช่น การรับฟังความเห็นของประชาชน และความคุ้มกันทางกฎหมาย (immunity) สำหรับตัวแทนของบีอาร์เอ็น
เขายังได้เปิดเผยว่าคณะทำงานทางเทคนิคของทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนกันเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2563 ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ๆ คือ
– การแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีโดยวิธีการทางการเมืองหรือการบริหารการปกครองที่สอดคล้องกับความใฝฝันของประชาชนปาตานี
– การลดปฏิบัติการทางการทหาร
– การมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ บุคคลสำคัญทางด้านศาสนา การเมือง และสังคมในการเจรจา อย่างสอดคล้องกับแนวคิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (inclusivity) ที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้มีการพูดคุยอย่างสมบูรณ์แบบ
9 ธ.ค. 2564: กลุ่มบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุสลายการชุมนุมชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่ประท้วงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา อยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งแม้แถลงการณ์นี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ แต่เป็นความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นที่ควรบันทึกไว้
ประมวลเหตุการณ์หลังสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ทำเนียบรัฐบาล
ฮารา ชินทาโร นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายูได้แปลเนื้อหาแถลงการณ์บีอาร์เอ็นเป็นภาษาไทย สรุปใจความได้ว่า การต่อสู้ของชาวบ้านในอำเภอจะนะ มีความชอบธรรมเพราะเป็นไปเพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ บีอาร์เอ็นขอประณามรัฐบาลสยามที่ใช้ความรุนแรงกับชาวจะนะ และไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาที่ไม่ใส่ใจผลกระทบต่อประชาชน
11-12 ม.ค. 2565: คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้พบปะหารือกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นับเป็นการเจรจาแบบเต็มคณะครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการเมืองเดือน ม.ค. 2563 และเป็นการพบกันครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันในหลักการ 3 ข้อที่จะเป็นสารัตถะของการพูดคุยในระยะต่อไป คือ ลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และแสวงหาทางออกทางการเมือง
ที่มา : บีบีซีไทย / วันที่เผยแพร่ 13 ม.ค.2565
Link : https://www.bbc.com/thai/thailand-59953462