ท่ามกลางความตึงเครียดจากวิกฤตรัสเซีย-เบลารุสยูเครน ล่าสุดองค์การนาโต เผยแผนการจัดวางกำลังทหารและส่งเรือรบ เพื่อเตรียมรับมือกับโอกาสที่รัสเซียอาจส่งทหารเข้าบุกยูเครน ด้านสหรัฐฯ สั่งทหาร 8,500 นาย เตรียมพร้อมเคลื่อนพลไปยุโรปทันทีที่ได้รับคำสั่ง
โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ จอห์น เคอร์บี เปิดเผยว่า ได้สั่งให้กองกำลัง 8500 นาย เตรียมความพร้อมที่จะเคลื่อนพลไปยังยุโรป โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเคลื่อนพลเพียงไม่นาน โดยโฆษกกระทรวงกลาโหมย้ำถึงกำลังส่วนนี้ว่า เป็นการเตรียมความพร้อม และแม้จะมีการเตรียมความพร้อมดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมีเคลื่อนพลหรือไม่ โดยจะมีการเคลื่อนพลก็ต่อเมื่อกองกำลังพันธมิตรของนาโต้เคลื่อนไหว หรือถ้าหากมีสถานการณ์อื่น ๆ เกิดขึ้น
ในส่วนขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ได้แถลงเตรียมเสริมกำลังอาวุธทั้งเรือรบและเครื่องบินขับไล่ในประเทศยุโรปตะวันออก เลขาธิการองค์การนาโตยังกล่าวด้วยว่า ทางองค์การจะดำเนินมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องและคุ้มครองพันธมิตรทุกประเทศ และกล่าวว่าเราพร้อมเสมอที่จะรับมือกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงใดๆ ที่เลวร้ายลงและจะเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันตนเองร่วมกันด้วย
จนถึงขณะนี้ กองกำลังสหรัฐฯ และนาโตอยู่ส่วนไหนของยุโรปและประเทศบอลติกบ้าง
ในเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ นาโตมีกองกำลังราว 4,000 นาย โดยเป็นกองกำลังนานาชาติที่มีรถถัง กองกำลังตำรวจอากาศ ซึ่งมีภารกิจที่อยู่ในความดูแลของฐานทัพอากาศรัมสไตน์ในเยอรมนี รวมไปถึงหน่วยข่าวกรอง และหน่วยลาดตระเวนสนับสนุน กองกำลังเหล่านี้จะเข้าช่วยเสริมหากรัสเซียบุกยูเครน นอกจากนี้ในโปแลนด์ยังมีกองทหารหมุนเวียนของสหรัฐฯ อีก 4,500 นาย และนาโตยังมีกองทัพเรือนานาชาติสี่หน่วยที่ลาดตระเวนตามน่านน้ำของชาติพันธมิตรและน่านน้ำนานาชาติ รวมถึงในทะเลบอลติกด้วย ทางฝั่งทะเลดำ เริ่มที่โรมาเนีย นาโตมีกองกำลังนานาชาติภาคพื้นดินไม่เกิน 4,000 นาย ขยับมาทางตุรกีมีกองกำลังสหรัฐฯ ประจำอยู่ราว 1,600 นาย สุดท้ายใกล้ยุโรป ในคอซอวอ กองกำลังจากชาติพันธมิตรและเครือข่ายของนาโตอีกราว 3,500 นาย โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังรักษาสันติภาพนานาชาติในคอซอวอที่นำโดยนาโต
ทางฝั่งยุโรปตะวันตก สำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ราว 74,000 คน ประจำการอยู่ในยุโรป อย่างไรก็ตาม กองกำลังบางส่วนก็เป็นกองกำลังที่ไม่ได้ประจำการเต็มเวลา เยอรมนีมีทหารประจำการอยู่ประมาณ 36,000 นาย ในอิตาลีมีราว 12,000 นาย อังกฤษประมาณ 9,000 นาย สเปนราว 3,000 นาย โดยนาโตสามารถสั่งเคลื่อนกำลังพลส่วนใหญ่ตรงนี้ได้
นอกจากนี้ นาโตยังมีภารกิจทางกองทัพเรือชื่อ Sea Guardian โดยมีหน้าที่ตรวจตราทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและคอยแจ้งสถานการณ์ทางทะเลแก่ชาติพันธมิตร และสนับสนุนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลดังกล่าว ซึ่งหากชาติพันธมิตรร้องขอ หน่วยภารกิจดังกล่าวก็สามารถปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือได้ด้วย พิเศษกว่านั้น รอบนี้ฝรั่งเศสตัดสินใจส่งกองกำลังทางอากาศ ทางบก และทางทะเล เข้าร่วมกองกำลังร่วมของนาโต Very High Readiness Joint Task Force หรือ VJTF มากที่สุดเช่นเดียวกับเยอรมนี
โดยกองกำลังดังกล่าวสามารถปฏิบัติการได้ภายใน 72 ชั่วโมง มีทหารอย่างน้อย 5,000 นาย และเป็นหน่วยงานที่อยู่ในสภาพพร้อมปฏิบัติการซึ่งนับว่ามากที่สุดของนาโต ในขณะที่ประเทศยุโรปอื่น ๆ อย่างสเปน โปรตุเกส และโปแลนด์ ก็ส่งกองกำลังเข้าร่วมด้วยเช่นกัน
ถึงแม้องค์การนาโตจะแสดงท่าทีเรื่องความพร้อมที่จะรับมือกับการคุกคามทางทหารจากรัสเซีย แต่ก็มีคำถามใหญ่อีกอย่างหนึ่งในขณะนี้คือ เอกภาพในประเทศยุโรปเอง ยังมีความต่างกันในประเทศยุโรปว่าจะรับมือกับรัสเซียอย่างไร เหตุผลเพราะยุโรปยังมีผลประโยชน์ร่วมกับรัสเซีย
ยุโรปยังลังเลกับรัสเซีย เหตุต้องพึ่งพาพลังงาน
ยกตัวอย่างเช่น ราวร้อยละ 40 ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในกลุ่มประเทศอียูมาจากรัสเซียโดยผ่านทางท่อส่งก๊าซในยูเครน และหลายประเทศในกลุ่มอียูก็เกรงว่าอาจจะถูกตัดขาดจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ว่านี้ในช่วงฤดูหนาวและจะทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ผลประโยชน์ทั้งด้านการเมือง ทางธุรกิจ และด้านพลังงานซึ่งสมาชิก 27 ประเทศของอียูมีอยู่กับรัสเซียนั้นทำให้สมาชิกของอียูมีท่าทีต่อรัสเซียแตกต่างกันไป
นักวิชาการต่างประเทศหลายสำนัก เช่น โจนาธาน ฮอสแล็กจากสำนักข่าว EU observer ซึ่งเป็นสื่อที่รายงานข่าวเกี่ยวกับสหภาพยุโรปโดยตรงมานานกว่า 20 ปีรายงานว่า แม้จะไม่มีสงคราม ยุโรปก็แพ้รัสเซียตั้งแต่อยู่ในมุ้งจากเหตุผลด้านพลังงาน เขาวิเคราะห์ต่อไปว่า ความตั้งใจจริงของประธานาธิบดีปูตินที่จะบุกรัสเซียนั้นไม่น่าเป็นจริง เพราะจะทำให้เสียทั้งเงินและเวลา ลักษณะสถานการณ์ของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนนี้เราเรียกว่า “Blinkmanship”
โดย Blinkmanship เป็นรูปแบบหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายต่างเผชิญหน้ากันโดยตรงซึ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อเรียกร้องในตอนท้ายสุด หรืออาจจะนำไปสู่หายนะก็ได้ แต่อีกด้านของสมการ Blinkmanship หากรัสเซียบุกยูเครน หรือยุโรปประกาศศึกกับรัสเซีย ยุโรปเองล้วนมีแต่เสียกับเสีย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเรื่องท่าทีของ 2 ยักษ์ใหญ่ในยุโรปอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ทั้ง 2 ชาตินี้ยังมีท่าทีที่ระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องรัสเซียจะบุกยูเครน
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ได้เรียกร้องอีกครั้งให้มีการประชุมระดับสุดยอดระหว่างผู้นำของอียูกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ถึงแม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะถูกบอกปัดไปแล้วก็ตาม ส่วนเยอรมนี เมื่อวันเสาร์พลเรือโทเคย์-อาชิม ชอนบาร์ค ผู้บัญชาการทหารเรือของเยอรมนีได้ประกาศลาออกหลังจากถูกตำหนิจากคำกล่าวของเขาที่ว่ายูเครนจะไม่สามารถได้คาบสมุทรไครเมียกลับคืนจากรัสเซีย รวมทั้งจากความเห็นที่ว่าประธานาธิบดีปูตินสมควรได้รับการยอมรับด้วย ท่าทีที่ยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของยุโรปสะท้อนจากสิ่งที่ผู้นำสหรัฐแถลงเมื่อคืนที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้หารือทางวิดีโอคอลร่วมกับบรรดาผู้นำของชาติยุโรป ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส นายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี นายมาริโอ ดรากี นายกฯอิตาลี ประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดาของโปแลนด์ และนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต และหลังการหารือ ไบเดนได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เป็นการประชุมที่ดีมาก ที่ในที่สุดบรรดาผู้นำยุโรปเห็นชอบทุกอย่างเป็นเอกฉันท์
โฆษกรัฐบาลเครมลินจวกตะวันตก เป็นโรคหวาดผวารัสเซีย
ฝั่งรัฐบาลเครมลิน ดิมิทรี เปซคอฟ โฆษกรัฐบาลเครมลิน ได้แสดงความเห็นต่อว่าชาติตะวันตกว่าเป็นโรคประสาทหวาดผวาหรือฮิสทีเรีย พร้อมทั้งตำหนิตะวันตกที่กลายเป็นผู้ยกระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ในตอนนี้จากการส่งอาวุธไปยูเครน
นอกจากนี้มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ยังออกมาให้สัมภาษณ์เชิงต่อว่าและผิดหวังการรายงานข่าวของสำนักข่าวชื่อดังอย่างบลูมเบิร์กว่า นำเสนอข่าวบิดเบือนที่เกี่ยวกับการพูดคุยของประธานาธิบดีจีน สี จิ้น ผิง กับปูติน ที่ว่าจีนไม่ให้รัสเซียบุกยูเครน
และบอกว่าเรื่องนี้่ไม่มีมูลความจริงเลยแม้แต่นิด และทางสถานทูตจีนในรัสเซียก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นข่าวปลอมเช่นกัน
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนยกระดับคำเตือน ห้ามเดินทาง
ขณะที่เมื่อวานนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนได้ออกประกาศยกกระดับความปลอดภัยและการท่องเที่ยว (Travel Advisory) สำหรับยูเครนเป็นระดับ 4 หรือระดับสูงสุด โดยใช้คำว่า Do Not Travel เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อชีวิตและรัฐบาลสหรัฐอาจให้ความช่วยเหลือได้จำกัดหากมีเหตุฉุกเฉิน
นอกจากนี้ยังสั่งให้ทูต ครอบครัว และเจ้าหน้าที่ของสหรัฐประจำยูเครนอพยพออกจากประเทศทันที โดยเหตุผลหลักคือความกังวลต่อการเกิดสงครามซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายป้องปรามที่สหรัฐฯ ใช้กับรัสเซีย
เมื่อคืนที่ผ่านมา โฆษกทำเนียบขาวย้ำอีกครั้งว่าถึงเวลาต้องอพยพออกแล้ว It’s time to leave now
ในขณะที่มาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียได้ออกมายืนยันว่าทูตของออสเตรเลียจะประจำอยู่ในยูเครนเช่นเดิม
ที่มา : pptvhd36 / วันที่เผยแพร่ 25 ม.ค.2565
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/165187