เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนได้เห็นภาพผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ และวิดิโอผ่านสื่อสังคมที่เผยแพร่หลังจากนั้น ถึงเหตุการณ์วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี เสด็จไปวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ในวันที่ 28 ธันวาคม 2584 เมื่อหญิงผู้หนึ่งวิ่งจากคนนั้นยืนอยู่ห่างจากสองพระองค์เพียงไม่กี่ก้าว ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะวิ่งตามหลังหญิงดังกล่าวมาคุมตัวออกไป
เมื่อนำวิดีโอที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมมาดูซ้ำแล้วซ้ำอีก สรุปได้ว่า (1) หญิงดังกล่าววิ่งจากจุดที่นั่งอยู่บนบาทวิถีไปถึงรถพระที่นั่ง ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 วินาที (2) หญิงดังกล่าวไปยืนอยู่ห่างจากทั้งสองพระองค์เพียง ไม่เกิน 5 ก้าว (3) ไม่มีเจ้าหน้าที่สกัดกั้นก่อนที่นางจะถึงรถพระที่นั่ง แต่เจ้าหน้าที่วิ่งตามหลังนำตัวนางออกไปเมื่อนางไปยืนอยู่หน้าพระพักตร์แล้ว
ในภาพข่าวโทรทัศน์และวิดิโอ พบว่า จากบริเวณที่ประชาชนนั่งเฝ้าจนถึงที่จอดรถพระที่นั่ง เป็นลานโล่ง หากมีใครวิ่งลงไปในลานโล่งเช่นนั้น ถือว่าผิดปกติแล้ว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องสกัดกั้นภายในเสี้ยววินาที แต่กรณีนี้ ถือว่า เจ้าหน้าที่มีปฏิกิริยาช้ามาก อาจเป็นเพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาก่อน หรือยังงงอยู่ กว่าจะตั้งสติไปคว้าตัวหญิงคนนี้ออกมาได้ เธอก็ไปยืนอยู่หน้าพระพักตร์เรียบร้อยแล้ว
หลายคนตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนหันหน้ามายังประชาชนที่รอเฝ้า เพื่อตรวจดูสิ่งผิดปกติ เห็นผู้หญิงคนนี้ลุกขึ้นวิ่งเข้าไปหรือไม่ หรือมัวแต่ตกตะลึงอยู่
เจ้าหน้าที่ได้แถลงในภายหลังว่า หลังเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบโทรทัศน์วงจรปิด พบว่า (1) นางมากับบุตรชายเล็ก ๆ คนหนึ่ง โดยนั่งอยู่บนบาทวิถีสองคน ห่างจากคนอื่นพอสมควร (2) ตรวจสอบภายหลังพบว่า นางมีอาการทางจิต โดยมีข้อมูลว่า นางเคยไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง (3) จากการซักถามภายหลัง นางอ้างว่า มีความรักและชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย และปรารถนาที่จะเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น
นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่รับสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดูแล นำหญิงดังกล่าวไปรักษาให้หายจากโรคอาการทางจิต
ไม่อยากคิดเลยว่า ถ้าหญิงคนนั้นเป็นสมาชิกขบวนการก่อการร้ายทางการเมือง อะไรจะเกิดขึ้น เรื่องราวเมื่อหลายสิบปีก่อนของ นายราจิบ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย แว่บเข้ามาในหัว คนที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ย่อมเห็นจุดอ่อนการถวายความปลอดภัยในครั้งนี้อย่างมาก
แม้เรื่องราวเงียบลงในทางเปิดเผยหรือทางสื่อต่างๆ แต่เชื่อว่า ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัย ต้องทบทวนมาตรการการถวายความปลอดภัยแก่องค์พระประมุขแห่งชาติ และบุคคลสำคัญกันใหม่หมด เหตุการณ์ในวันนั้นถือว่ามีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง แต่ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ข้อบกพร่องทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้
ในวันนั้น เจ้าหน้าที่ไปให้ความสนใจต่อคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไปยกป้ายเลิกมาตรา 112 และนำตัวคนกลุ่มนั้นออกจากพื้นที่ไปแล้ว และคิดว่า ทุกอย่างคงเรียบร้อยเหมือนกับทุกครั้ง คงไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรก ( เท่าที่จำได้ ) ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับหน่วยงานรักษาความปลอดภัยและถวายอารักขา ที่ต้องยกเครื่องมาตรการถวายความปลอดภัยกันใหม่ นอกจากกลุ่มที่ต่อต้านสถาบัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่หน่วยข่าวและหน่วยความปลอดภัยต้องคำนึงถึงในความสำคัญเร่งด่วนลำดับต้น ๆ แล้ว
คนที่หน่วยข่าวกรองและรักษาความปลอดภัยห่วงมาก และบอกกันมาตลอดว่า คือ ให้ระวัง “ คนบ้า ” หรือ “ คนวิกลจริต “ เพราะเดาใจคนพวกนี้ไม่ออกเลย เหมือนกับผู้หญิงคนนี้ ซึ่งไม่มีเรื่องเดิมในแฟ้มประวัติ อยู่ ๆ ก็วิ่งเข้ามา ( จบ )
บทความโดย… ภุมรัตน ทักษาดิงพงศ์
———————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 6 ม.ค.65
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/672376