ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha
กระทรวงการต่างประเทศแถลงผลความคืบหน้าการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย เตรียมฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสู่ระดับปกติ แต่งตั้งเอกอัครราชทูต หารือความร่วมมือทุกด้าน ขณะที่ ‘ประยุทธ์’ โพสต์เฟซบุ๊กแถลงความสำเร็จ เตรียมพร้อมความร่วมมือ 9 ด้านกับซาอุฯ รวมถึงด้านศาสนาและความมั่นคง
26 ม.ค.2565 ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวผลการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565
ธานีกล่าวว่าการเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 30 ปี ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียกลับสู่ระดับปกติอย่างเป็นทางการ เริ่มจากการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต การหารือทวิภาคีทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน และด้านดิจิทัล พร้อมปรับมาตรการที่เกี่ยวข้องในการเดินทางเข้าออกประเทศของประชาชนชาวไทยและชาวซาอุดีอาระเบีย
ถ้อยแถลงของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ และประชุมหารืออย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการสะสางประเด็นที่คั่งค้างทั้งหมดระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียและปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนานเพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกัน พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลความปลอดภัยของคนชาติของกันและกันในแต่ละประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับซาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี 2532-2533 พร้อมยืนยันว่าไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่างๆ และหากมีหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมแก่บุคคลในคณะผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียที่กรุงเทพฯ ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ.1961
นายกรัฐมนตรีไทยและมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศต่าง พร้อมหารือถึงแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกสาขา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับว่าจะเพิ่มปฏิสัมพันธ์และการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของแต่ละฝ่าย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ โดยจะเริ่มจากการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้ง 2 ประเทศในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี การติดต่อประสานงานอย่างเต็มที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองราชอาณาจักรโดยการแสวงหาโอกาสในด้านการลงทุนและอื่นๆ ตามนโยบายวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ.2030 และวาระการพัฒนาแห่งชาติของไทย กล่าวคือ นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ อาทิ พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา และความมั่นคงทางไซเบอร์ ทั้งยังเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ที่กำลังเติบโตระหว่างทั้งสองราชอาณาจักร รวมทั้งการส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนาและพหุวัฒนธรรม
ไม่เพียงแต่ความร่วมมือในระดับทวิภาคี แต่ถ้อยแถลงของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังระบุว่า ไทยและซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในองค์การและเวทีระหว่างประเทศ พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการยึดมั่นของทุกประเทศต่อกฎบัตรสหประชาชาติ (UN) บรรทัดฐานระหว่างประเทศ รวมถึงหลักการการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี การเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการระงับข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งสองฝ่ายยินดีกับบทบาทที่สร้างสรรค์ของกันและกันในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทที่สำคัญของไทยในอาเซียน และบทบาทนำของซาอุดีอาระเบียในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา
เวลา 13.34 น. เฟซบุ๊กเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ซึ่งเป็นเพจทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ข้อความระบุว่าไทยและซาอุดีอาระเบียประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมระบุว่าทั้ง 2 ประเทศเตรียมพัฒนาความร่วมมือทวิภาคดีใน 9 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการท่องเที่ยว จะมีแผนปรับกฎเกณฑ์การเดินทางระหว่างประเทศของประชาชนทั้งสองฝ่ายให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่าประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี
2.ด้านพลังงาน มุ้งเน้นการร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของทั้งสองประเทศ
3.ด้านแรงงาน การส่งออกแรงงานไทยที่มีฝีมือและกึ่งฝีมือซึ่งมีศักยภาพจำนวนมากไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย ดั่งในช่วงปี 2530 ที่ไทยเคยส่งแรงงานไปซาอุดีอาระเบียมากถึง 300,000 คน สร้างรายได้ส่งกลับประเทศมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าหลังจากฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ความร่วมือด้านแรงงานจะกลับมาอีกครั้ง
4.ด้านอาหาร ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออกอาหารฮาลาลให้แก่ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงผ่านซาอุดีอาระเบียไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย
5.ด้านสุขภาพ ไทยจะกลายเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์” (Medical Hub) ที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เป็น “นักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม” นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย โดยผู้ป่วยมักจะเดินทางมาพร้อมกับครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มักจะซื้อแพคเกจที่รวมการรักษาพยาบาล ที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น
6.ด้านความมั่นคง ซาอุดีอาระเบียถือเป็นเป็นประเทศอิสลามสายกลาง ที่มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) สามารถมีบทบาทช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางสันติสุข นอกจากนั้น ยังสามารถมีความร่วมมือกันด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง และการต่อต้านการก่อการร้ายอีกด้วย
7.ด้านการศึกษาและศาสนา ที่ผ่านมานั้น ซาอุดีอาระเบียได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งซาอุดีอาระเบียยังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน สุขภาพ การวิจัยทางทะเล การก่อสร้าง เทคโนโลยีป้องกันประเทศ และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันอีกมาก
8.ด้านการค้าและการลงทุน การกลับมาสู่ความสัมพันธ์ในระดับปกติจะสร้างโอกาสและเปิดประตูทางการค้าให้กับนักลงทุนและ SME ไทย ได้แสวงหาลู่ทางการทำธุรกิจและการแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้าอย่างสะดวกยิ่งขึ้นทั้งในซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศผ่าน “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” ซึ่งไทยมีความพร้อมในด้านทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ สถานศึกษา และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ อย่าง EEC พื้นที่ระเบียงเศษฐกิจ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
9.ด้านการกีฬา จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือทางการกีฬาของทั้งสองประเทศ ที่มีความสนใจในการแข่งขันและการกีฬาต่างๆ ร่วมกัน เช่น ฟุตบอล มวย กอล์ฟ การแข่งรถ รวมถึง E-sport และอื่นๆ และเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริม “มวยไทย” ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน คือใคร
เมื่อ พ.ศ.2560 สภาสวามิภักดิ์แห่งซาอุดิอาระเบียมีมติด้วยคะแนน 31 ต่อ 34 ให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน วัย 31 พรรษา (ในขณะนั้น) เป็นมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่แห่งซาอุดีอาระเบีย แทนที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ วัย 57 พรรษา (ในขณะนั้น) ซึ่งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ เป็นผู้ที่สนับสนุนสหรัฐอเมริกา เคยเข้าร่วมการฝึกอบรมด้านความมั่นคงกับ FBI ของสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นผู้นำปฏิบัติการตอบโต้กลุ่มอัลเคด้าและไอซิส
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นพระราชโอรสของพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ กษัตริย์องค์ปัจจุบันของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อเดือน ม.ค. 2558 ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด ซึ่งเป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) ต่างมารดา และมีศักดิ์เป็นลุงของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน โดยหลังจากนั้น กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ ได้แต่งตั้งให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดีอาระเบีย และในเดือน มี.ค.2558 เจ้าชายโมฮัมเหม็ดบิน ซัล มาน ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้สั่งให้กองกำลังทหารของซาอุดีอาระเบียบุกประเทศเยเมนเพื่อปราบกลุ่มกบฏฮูติ ซึ่งเป็นตัวแทนของอิหร่าน ที่เข้ายึดกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อนานกว่า 6 ปี
ในปี 2561 เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารจามาล คาชอกกี นักข่าวสัญชาติซาอุดีอาระเบียของสำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ ซึ่งเกิดขึ้นในสถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศตุรกี แต่สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ได้ออกมายืนยันในภายหลังว่ารายงานนี้ยังไม่ใช่ “ข้อสรุปสุดท้าย” จึงไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุสังหารดังกล่าวหรือไม่
นอกจากนี้ เมื่อเดือน ต.ค.2564 บีบีซีไทยเคยรายงานว่ากองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย (Public Investment Fund – PIF) เข้าซื้อสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลในอังกฤษด้วยเงิน 300 ล้านปอนด์ โดยกองทุนนี้เป็นของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย หรือราชวงศ์ซะอูด และมีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ดำรงตำแหน่งประธานกองทุน ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มีชื่อเสียงที่ไม่ดีนักเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงกรณีการสังหารจามาล คาชอกกี ตามรายงานของสหประชาชาติ (UN) ในปี 2561
ที่มา : ประชาไท / วันที่เผยแพร่ 26 ม.ค.65
Link : https://prachatai.com/journal/2022/01/96972