สรุป 7 เทคโนโลยี ที่จะมีอิทธิพลต่อระบบ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ของไทยภายในปี 2035 คนทำงานรู้ก่อนปรับตัวทัน คนทำธุรกิจรู้ก่อนได้เปรียบกว่า
ศักราชเปลี่ยน เทคโนโลยีปรับในอีกไม่ช้าไม่นาน “เศรษฐกิจไทย” จำเป็นต้องก้าวไปสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่มีเทคโนโลยีต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคนที่มองเห็นโอกาสทางเทคโนโลยีได้ไกลกว่าย่อมมีโอกาสที่จะพัฒนาสินค้าและบริการหรือธุรกิจให้รุดหน้าไปคว้าโอกาสใหม่ก่อนคนอื่นได้
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนมองข้ามช็อตไปถึงปี 2035 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีใดบ้างที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญ ที่จะเข้ามากระทบกับธุรกิจเศรษฐกิจกันบ้าง
โดยสรุปข้อมูลจากการคาดการณ์อนาคต 7 เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ภายในปี 2035 จาก DEPA และ Frost & Sullivan ที่น่าสนใจดังนี้
1. IoT (Internet of Things) อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง
เป็นเทคโนโลยีเริ่มใช้แพร่หลายในปัจจุบัน “IoT” ช่วยยกระดับการใช้งานหรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การวิเคราะห์ข้อมูล และการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud computing) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจรวมถึงการสร้างรูปแบบและบริการทางธุรกิจใหม่ๆ
โดยไม่กี่ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีการใช้งานจำนวนอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นหลายพันล้านเครื่องทั่วโลก ส่งผลให้ตลาด IoT ทั่วโลกจะยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างการใช้งาน IoT เช่น บ้านอัจฉริยะ (Smart home) พลังงานอัจฉริยะ (Smart energy) และภาคการผลิต 4.0 นำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้เพื่อปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงสินค้าและบริการรวมถึงกระบวนการดำเนินงานให้ทำได้ง่ายดายและแม่นยำมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยี IoT เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและถูกนำมาประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและผู้ประกอบการทำให้มูลค่าตลาดของ IoT ในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตจาก 3.6 พันล้านบาทในปี 2018 เป็นประมาณ 4.4 แสนล้านบาทในปี 2035 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 27.39%
2. AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์
“ปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ช่วยให้เครื่องจักร (ระบบคอมพิวเตอร์หุ่นยนต์) มีความฉลาดและความสามารถในการเรียนรู้ จากรูปแบบการอนุมานข้อมูลดิบ โดยการรับรู้แบบจำลองที่ประกอบด้วยตัวอย่างข้อมูลนำเข้า ช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์จากกลไกวิศวกรรมขั้นสูง เช่น AI เพื่อความปลอดภัยทางถนน , AI ตรวจจับการฉ้อโกง ฯลฯ
ทั้งนี้คาดว่า ขนาดตลาดของปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยมีมูลค่า 1.57 หมื่น ล้านบาท และจะเติบโตถึง 1.82 แสนล้านบาท ภายในปี 2035
3. Data Analytics การวิเคราะห์ข้อมูล
“Data Analytics” คือกระบวนการในการตรวจสอบและจัดหมวดหมู่ข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกซึ่งจะ ช่วยผลักดันให้ธุรกิจเคลื่อนตัวไปได้อย่างเร็วและชาญฉลาดมากขึ้น เนื่องจาก Data Analytics จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับตลาดด้วยความเข้าใจในความต้องการของลูกค้าและด้วยประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่มากขึ้น
เช่น “ผู้ช่วยเสมือน” (Virtual Assistants: VAs) เป็นการทำงานด้วยเสียงพูดที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลืองานของผู้บริโภค เช่น การเข้าถึงข้อมูลบนอุปกรณ์มือถือ โดยในอนาคตผู้ช่วยเสมือนจะเข้าใจเจตนาของลูกค้าและสามารถตอบคำถามลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงต่อลูกค้านั้นๆ ได้อย่างเท่าเทียมเสมือนเป็นพนักงาน
หรือ “การวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึก” (Emotion Analytics) จะเป็นการบันทึกข้อมูลและวิเคราะห์ใบหน้าและคำพูดของ บุคคลเพื่อทำการระบุอารมณ์ เช่น ความสุข ความโกรธ ความเศร้า ความกลัว โดยวิเคราะห์เพื่อให้คำแนะนำส่วนบุคคลหรือเพื่อสังเกตพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่อาจจะเกิดขึ้น และทำการระบุภัยคุกคามด้านสาธารณะที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น ฯลฯ
ทั้งนี้คาดว่า ตลาดเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลจะกลายเป็นตลาดเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดราว 1.85 แสนล้านบาทในปี 2030
4. Next Generation Telecom โทรคมนาคมยุคใหม่
“5G” จะพลิกโฉมการรับส่งข้อมูลที่มาพร้อมกับความสามารถต่างๆ เช่น ความจุเพิ่มขึ้น ความปลอดภัยที่สูงขึ้น และความหน่วงของการรับส่งข้อมูลที่ลดลง ซึ่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้คน ธุรกิจและสังคม โดย 5G มิใช่แค่การพัฒนาต่อยอดจาก “4G” แต่เป็นเบื้องหลังเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น “อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT)” และ “รถยนต์ไร้คนขับ” ซึ่งจะพัฒนาให้ก้าวหน้าไปจนถึง “6G” ซึ่งอาจเข้ามาแทนที่ 5G ด้วยความเร็วที่มากกว่าด้วย
ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เป็นที่คาดการณ์ว่า รายได้การบริการ 5G ในประเทศไทย จะเติบโตไปถึง 7.5 พันล้านบาท ภายในปี 2023 และ ขยายไปถึง 2.32 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปีข้างหน้าภายในปี 2028 ที่อัตราการเติบโต 315.1%
ทั้งนี้ในช่วง 15 ปีข้างหน้า รายได้การบริการ 5G จะเริ่มลดลงเหลือ 9.7 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2033 ด้วยอัตราการเติบโต 53% เนื่องจากเทคโนโลยีมาถึงจุดอิ่มตัว เตรียมเปิดทางให้กับเทคโนโลยีมือถือ 6G เข้ามาแทนที่
5. DLT (Distributed Ledger Technology) การบันทึกข้อมูลดิจิทัลแบบไร้ศูนย์กลาง
“DLT” เป็นการบันทึกข้อมูลแบบดิจิทัล ซึ่งแตกต่างจากระบบ centralized เนื่องจาก DLT มีการบันทึกธุรกรรมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดนั้นจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยและถูกต้องผ่านการเข้ารหัสที่จะเข้าถึงได้โดยใช้กุญแจและลายเซ็นเข้ารหัสเท่านั้น
นอกจากนี้ ฐานข้อมูลของ DLT จะกระจายไปยัง node ต่างๆ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในระบบแบบ peer-to-peer ซึ่งแต่ละ node จะมีข้อมูลซ้ำกันและบันทึกสำเนาข้อมูลที่เหมือนกันและอัพเดทข้อมูลเองโดยอิสระ
ตัวอย่างการใช้งานของระบบ DLT ที่เป็นที่รู้จัก คือ “Blockchain” ซึ่งเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้ในหลากหลายมิติ เช่น “Cryptocurrency” อย่างไรก็ตาม DLT สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการเงิน รวมถึงยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ภายใต้ DLT ได้แก่ เทคโนโลยี DAG , เทคโนโลยี Hashgraph , เทคโนโลยี Holochain และ เทคโนโลยี Tempo ที่จะสนับสนุนการนำ DLT ไปใช้ใน อุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย
สำหรับประเทศไทย ตลาดของ DLT คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.93 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2030 ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตระยะยาว โดยอาจถูกนำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ในอนาคต เช่น Quantum computing อย่างไรก็ตาม ความพร้อมของกฎระเบียบยังคงเป็นปัญหาสำคัญในการนำ DLT มาใช้ หน่วยงานภาครัฐจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาท้าทาย
6. Quantum Computing การประมวลผลควอนตัม
ตัวอย่างการประมวลผลแบบควอนตัม คือ “คอมพิวเตอร์ควอนตัม” คอมพิวเตอร์ที่ใช้อนุภาคในการคำนวณที่เรียกว่า ควอนตัมบิต (quantum bit) หรือ คิวบิต (qubit) ทำให้คอมพิวเตอร์ควอนตัม มีพลังการประมวลผลและศักยภาพของคอมพิวเตอร์ควอนตัมจึงค่อนข้างสูงมาก
โดยความสามารถในการแก้ปัญหาที่คอมพิวเตอร์คลาสสิคที่ทรงพลังที่สุดไม่สามารถ แก้ได้ เรียกได้ว่าประสิทธิภาพสูงกว่า “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์” เครื่องแรกของโลก ทำให้เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาสนับสนุนสังคม 5.0 ในอนาคต
อุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ควอนตัม ได้แก่ การดูแลสุขภาพ การผลิต ยา สื่อและการเข้ารหัส การ ประมวลผลควอนตัมจะได้รับแรงขับเคลื่อนอย่างมากจาก “Big data” เพื่อปรับปรุงและยกระดับการบริการ ในอีก 15 ปีข้างหน้า คาดว่าประเทศไทยจะมีชิป qubit ในโทรศัพท์และอุปกรณ์ส่วนตัวด้วย
7. Automation ระบบอัตโนมัติ
“ระบบอัตโนมัติ” เป็นเทคโนโลยีที่มีการดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอน โดยอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์น้อยที่สุด และรูปแบบการใช้งานมีจุดประสงค์ในการการควบคุมและตรวจสอบการผลิต รวมถึงการขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ
เช่น Collaborative robot หรือ “cobot” เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ถูกออกแบบให้ทำงานอย่างปลอดภัยในบริเวณใกล้เคียงกับมนุษย์โดยไม่มีสิ่งกีดขว้าง และสามารถทำงานแบบอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาการผลิตผ่านการทำงานร่วมกับมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ
ระบบอัตโนมัติจะถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากประโยชน์จากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน โดยมีมากกว่า 24 อุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากระบบอัตโนมัติ ซึ่ง 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการดูแลสุขภาพ ภาคการก่อสร้าง ภาคการบังคับใช้กฎหมาย และภาคการเกษตร โดยคาดว่า ตลาดระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในประเทศไทยจะเติบโตเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลกด้วยมูลค่าตลาด กว่า 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2035
ทั้งนี้เมื่อระบบอัตโนมัติสามารถทำงานทั่วไปแทนมนุษย์ในหลากหลายอุตสาหกรรม มิติของหน้าที่การงานต่างๆ ในไทยจึงจะเปลี่ยนไป ตำแหน่งงานจำนวนมากจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ในอนาคตจะมีกรณีการใช้งานระบบอัตโนมัติมากมายและจะสร้างผลกระทบอย่างมากในหลายอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
อ้างอิง: depa
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 3 ม.ค.2565
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/977493