ทุกวันนี้องค์กรทั่วโลกต่างยกให้ “บิ๊กดาต้า” เป็นเหมือนด่านสำคัญของการบริหารจัดการ การตัดสินใจ วางกลยุทธ์ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในยุคดิจิทัล
ณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เบลนเดต้า จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการบิ๊กดาต้า กล่าวว่า ธุรกิจต้องการความเร็วในการนำข้อมูลไปปรับใช้เพื่อครองใจลูกค้า
โดยข้อมูลมหาศาลหรือบิ๊กดาต้าได้กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเพิ่มศักยภาพระบบบริหารจัดการภายในองค์กร เข้าใจพฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภค พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ เพิ่มประสบการณ์ที่ดีจากการให้บริการที่ตรงความต้องการ ทั้งยังสามารถคาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นและแก้ไขได้ทันท่วงที
ขณะเดียวกัน โควิด-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งให้ทุกคนคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีและเชื่อมโลกออนไลน์เข้ากับออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ ส่งผลทำให้มีข้อมูลจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นในทุกวินาที ธุรกิจมีความจำเป็นต้องเร่งปรับใช้ข้อมูลที่รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อการเป็นผู้นำในการแข่งขัน ซึ่งหากช้ากว่าผู้เล่นรายอื่น ก็อาจเสียโอกาสทางธุรกิจและอาจถูกดิสรัปชันไปในที่สุด
ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช พบว่า ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายด้านรายได้มากกว่าบริษัทที่ไม่เน้นการใช้ข้อมูลถึง 58%
ดึงพลัง ‘ข้อมูลเรียลไทม์’
สำหรับ 5 เทรนด์บิ๊กดาต้าที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับกลยุทธ์ต่างๆ ขององค์กรในปี 2565 ประกอบด้วย
1. Real-Time Data การวิเคราะห์ข้อมูลและใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ จะมีความสำคัญมากขึ้น จากการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น ทุกวินาทีจึงมีความสำคัญ ความล่าช้านำมาซึ่งการเสียโอกาสทางธุรกิจไปทันที จากเทคโนโลยีเดิมที่อาจใช้เวลาจัดเก็บและรอประมวลผลวันต่อวัน
องค์กรจึงต้องมองหาเทคโนโลยีที่สามารถประมวลผลแบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มความเร็วในการนำข้อมูลไปปรับใช้สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจต่างๆ และสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล
นอกจากนี้ การทำ Real-Time Analytics วิเคราะห์และประมวลผลบิ๊กดาต้าแบบเรียลไทม์จะช่วยให้สามารถตัดสินใจ แก้ไขปัญหา วางแผน ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ คาดการณ์แนวโน้มต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
2. การนำบิ๊กดาต้ามาเสริมเฟรมเวิร์กในระบบ Cybersecurity & Risk ด้วยระบบ Security Analytics สำหรับตั้งรับการโจมตีทางไซเบอร์ทั้งเชิงรับและเชิงรุก โดยการรวบรวมบิ๊กดาต้าที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นบนคลาวด์ หรือข้อมูลบันทึก (Log) ของอุปกรณ์โครงข่าย
ผนวกกับเทคโนโลยีเอไอและแมชชีนเลิร์นนิง เพื่อเสริมเฟรมเวิร์กทางไซเบอร์ซิเคียวริตี้ให้สามารถตรวจจับความผิดปกติได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นจากฐานข้อมูลพฤติกรรมของคนและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่จัดเก็บไว้
เสริมกลยุทธ์ ‘ออมนิแชนแนล’
3. การใช้บิ๊กดาต้าเพิ่มประสิทธิภาพกลยุทธ์ Omni-Channel Customer Experience ยุคที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ องค์กรจะต้องพัฒนาการสร้างประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีตลอด Customer Life Cycle เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ให้ได้รับการบริการแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าลูกค้าจะใช้บริการผ่านช่องทางออฟไลน์หรือออนไลน์
4. ปีสำหรับการเปลี่ยนเทคโนโลยีจัดการข้อมูลแบบเก่าเป็นบิ๊กดาต้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางด้านสารสนเทศให้กับองค์กร ทั้งยังช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากดาต้าได้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการเข้าถึงข้อมูล และการประมวลข้อมูลได้คราวละมากๆ รวมถึงปลดล็อกขีดจำกัดในการวิเคราะห์ข้อมูลรูปแบบใหม่ๆ ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับตลาด โดยมีต้นทุนทางสารสนเทศโดยรวมที่ต่ำลง
5. Data Citizen ใครๆ ก็เข้าถึง Data ได้ Data Citizen คือ คอนเซ็ปต์ที่ทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถใช้ดาต้าในการวิเคราะห์และตัดสินใจ ช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวสู่การเป็น Data-Driven Organization ที่การเข้าถึงดาต้าทำได้ตั้งแต่พนักงานระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในฝ่ายไอที ทีมเทคนิค หรือทีมดาต้าเท่านั้น
“บิ๊กดาต้าคือหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกสถานการณ์ นับเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจที่จะต้องพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลจากทุกระบบขององค์กรให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในตลาดและสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 5 ม.ค.2565
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/980885