ผู้อ่านน่าจะคุ้นเคยกับเจ้าตัวอักษรภาษาอังกฤษ WWW นี้กันเป็นอย่างดี แต่กับชื่อ ‘เซอร์ทิม’ ล่ะ? เคยคุ้นกันบ้างไหม?
ย้อนความไปเล็กน้อยเมื่อตอนปี 1989 เซอร์ทิม หรือ ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ ได้คิดค้นระบบข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า World Wide Web (WWW) ขึ้นมา ในขณะทำงานที่ CERN (Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire: องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป) โดยมีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการในการแบ่งปันข้อมูลโดยอัตโนมัติระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบัน การใช้งาน WWW ก็ขยายวงกว้างไปมาก ไม่ว่าจะวงการใด ผู้คนก็ใช้ WWW กันทั้งสิ้น เรียกได้ว้าเป็นสิ่งที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกไปแล้วนั่นเอง
เท้าความถึงการสร้าง WWW ขึ้นมาคร่าว ๆ แล้ว ต่อไปเราจะพาคุณเข้าหัวข้อสำคัญกันเลยดีกว่า ใช่แล้ว! วันนี้เราตั้งใจจะมาพาคุณผู้อ่านไปรับรู้มุมมองเล็ก ๆ ของเซอร์ทิมกัน
ผมชอบที่จะแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกัน
Tim Berners-Lee
จากถ้อยคำของเซอร์ทิม เราสามารถนำมาคิดตีความได้ถึงแง่มุมการ ‘แยกงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกัน’ ที่ผู้คนในปัจจุบันให้ความสำคัญกันมากขึ้นอย่าง Work-Life Balance (การแบ่งความสมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต) เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จนทำให้เกิดการ Work From Home ขึ้นในชีวิตของใครหลาย ๆ คน การพยายามแยกงานออกจากชีวิตส่วนตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่อย่างนั้นชีวิตคงเสียสมดุล
ส่วนในอีกแง่มุมหนึ่ง เรายังสามารถตีความไปถึงเรื่องของ Privacy (ความเป็นส่วนตัว) ด้วย ซึ่งมีคำตอบหนึ่งที่เซอร์ทิมได้กล่าวไว้ว่า เขาจะไม่ขอพูดถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวไปมากกว่าข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์ของเขา และขอให้ผู้คนไม่ส่งอีเมลมาถามเขาถึงเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติม
เห็นได้ชัดเลยว่าเซอร์ทิมให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของตนเอง และเรายังจะเห็นได้อีกว่าเขาให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นด้วยเช่นกัน ในตอนที่ถูกถามเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวในเว็บไซต์ เซอร์ทิมได้อธิบายว่า “ผู้ใช้งานเว็บไซต์นั้นจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย หรือมีข้อบังคับต่าง ๆ ออกมาเพื่อช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้”
องค์กรมาตรฐานสากลอย่าง World Wide Web Consortium (W3C) ที่เขาเป็นผู้นำ จึงสร้างโปรโตคอลเพื่อความเป็นส่วนตัวที่เรียกว่า “P3P” (Platform for Privacy Preferences) ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์สามารถรู้ได้ว่าเว็บไซต์ต้องการเข้าถึงข้อมูลส่วนใดของผู้ใช้บ้าง และผู้ใช้ยินยอมหรือไม่ เป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งแม้ในตอนนี้โปรโตคอลนั้นจะถูกระงับการพัฒนาไปแล้ว แต่เราก็ยังคงได้เห็นรูปแบบการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ที่คล้ายคลึงกับ P3P ได้จากเว็บไซต์ และซอฟต์แวร์มากมายทั่วโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงคุกกี้ที่จะทำการเก็บข้อมูลของเราในเว็บไซต์ต่าง ๆ ไว้ชั่วคราว หรือข้อตกลงด้านความเป็นส่วนตัวในการใช้งานเว็บไซต์และการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์ทั้งหลาย เพราะแนวคิดด้านความปลอดภัยในการใช้งานโลกอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักนั่นเอง
ตัวอย่าง การใช้คุกกี้ในเว็บไซต์
ลองคิดดูกันเล่น ๆ ว่า หากผู้คิดค้นระบบ WWW ขึ้นมาเพื่อผู้ใช้งานทุกภาคส่วนรอบโลก ไม่เคารพความเป็นส่วนตัว ไม่ให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้งาน…จะกลายเป็นจุดริเริ่ม WWW ที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่…?
อ้างอิง: W3
ที่มา : beartai / วันที่เผยแพร่ 19 ม.ค.2565
Link : https://www.beartai.com/article/tech-article/912565