เหตุระเบิดป่วนเมืองยะลาที่เกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นเดือน ม.ค.65 ถูกจับตาอย่างมาก
เพราะแม้แรงระเบิดจะไม่ได้ทำร้ายทำลายชีวิตของผู้ใด แต่เสียงดังสนั่นของมันก็ก่อผลกระทบกว้างไกล โดยเฉพาะการลดทอนความเชื่อมั่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติการณ์โควิด-19
เหตุนี้เองนายกเทศมนตรีนครยะลา พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ จึงออกอาการรับไม่ได้และตัดสินใจออกแถลงการณ์ประณามในนามของเทศบาล พร้อมข้อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงกันเสียที เพื่อสันติสุขและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ทุกฝ่ายมักหยิบยกมาอ้างความชอบธรรมในการกระทำของกลุ่มพวกตน
พงษ์ศักดิ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “นายกอ๋า” ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นจากปลายด้ามขวานที่โด่งดังและได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “มอร์นิ่งเนชั่น” ทางเนชั่นทีวี เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 31 ม.ค.65 ถึงเหตุป่วนเมืองครั้งสำคัญที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยใน พ.ศ.นี้
@@ เหตุวางระเบิดป่วนเมืองยะลา ก่อนหน้านี้เท่าที่ทราบจะเว้นมานานหลายปี แต่ทำไมจู่ๆ ต้นปีนี้กลับมาเกิดติดๆ กัน ตั้งแต่คืนส่งท้ายปีเก่า มาจนถึงเหตุระเบิดเกือบ 20 จุดช่วงก่อนสิ้นเดือน ทำไมยะลากลายเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนแบบนี้?
จริงๆอยากจะเรียนว่า ยะลาค่อนข้างปลอดเหตุมาประมาณ 4-5 ปี ถ้าเทียบดูสถิติในสามจังหวัด ยะลาค่อนข้างดีที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกกลุ่มมองว่ายะลาคือศูนย์กลาง
1.ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางการปกครอง และศูนย์กลางของหน่วยตำรวจ (มีศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า, โรงเรียนตำรวจภูธร 9 ศูนย์พิทักษ์สันติ ซึ่งเป็นศูนย์ซักถามของฝ่ายตำรวจ) รวมทั้งศูนย์กลางของทหาร ก็คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพราะถึงแม้จะตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี แต่อยู่ตรงจุดเชื่อมต่อเขตเทศบาลนครยะลา เพราะฉะนั้นมันหมายถึงเป็นศูนย์กลางของการปกครองทั้งหมดของในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในยะลา เฉพาะฉะนั้นเวลามาทำอะไรที่ยะลา มันเหมือนได้ภาพ ได้ดิสเครดิตความเป็นภาครัฐด้วย
2.ยะลาถือเป็นเมืองเศรษฐกิจ เนื่องจากว่าคนนิยมที่จะเข้ามายะลา เข้ามาจับจ่ายใช้สอยหรือมาทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากเมืองจะมีความคึกคักมากกว่าเมืองอื่นๆ เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่า กลุ่มที่เขาคิดก่อเหตุ เขาก็มองในสิ่งเหล่านี้ มองในแง่ที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่น บั่นทอนความเชื่อถือจากภาครัฐ ก็เลือกที่จะใช้ยะลาเป็นเป้าหมาย
@@ จริงๆ แล้วช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพิ่งมีการนัดพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และมีข้อตกลงเรื่องลดความรุนแรง แล้วทำไมถึงมีความรุนแรงเกิดขึ้นหนักกว่าเก่า?
ผมตอบไม่ได้ แต่เข้าใจว่าจริงๆ กระบวนการเจรจาสันติภาพมันคือทางออกที่ทุกคนคาดหวัง แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากต่อไปเลยก็คือว่า จริงๆ แล้วกระบวนการสันติภาพ ผมคิดว่ามันต้องเปิดให้ประชาชนได้รับทราบมากกว่านี้ ที่ผ่านมามันกลายเป็น…คือเราไม่พูดถึงฝ่ายเขานะครับ จริงๆ ตามหลักก็จะน่าเปิดให้กับภาคประชาชน เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามจะเกิดขึ้น คนที่ถูกปกครองก็คือคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ ณ ปัจจุบัน ฉะนั้นทุกคนควรมีสิทธิต้องรู้และมีสิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเอง
เช่นเดียวกับสิ่งที่หลายๆ คนพูดถึง Right to Self-determination ก็คือสิทธิในการกำหนดใจตนเอง กำหนดตัวผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นในสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าในมุมกลับ กระบวนการพูดคุยต่างๆ คนในพื้นที่จะต้องรับรู้ด้วย เพราะมันหมายถึงอนาคตของเขาเช่นเดียวกัน
@@ ทางเทศบาลนครยะลามีการออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ มีทั้งฉบับที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่นี้ดูเหมือนว่าจะเป็นครั้งแรกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาประณามผู้ก่อเหตุอย่างค่อนข้างโจ่งแจ้ง บางคนกังวลว่าจะเป็นการท้าทายหรือเปล่า มองตรงนี้อย่างไร?
คือจริงๆ ในเนื้อหาของแถลงการณ์ผมไม่ได้ไปประณามใคร และก็ไม่ได้ระบุกลุ่มไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเขียนในแถลงการณ์นั้นก็คือว่า ถ้าทุกฝ่ายอ้างถึงประชาชน อ้างถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งวันนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา ตั้งแต่เรื่องของการศึกษามีผลสัมฤทธิ์ต่ำที่สุด ดัชนีความยากจนก็อยู่ในลำดับท้ายๆ ของประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าทุกฝ่ายที่จะเข้ามาดูแลตรงนี้อ้างถึงว่ารักประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชน และต้องการให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ผมคิดว่า มันก็ไม่ควรมีลักษณะของการกระทำเช่นนี้ โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตการณ์โควิดที่ประชาชนใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมา 2 ปีแล้ว ผมคิดว่ามันควรมีวิธีการทางอื่น
ผมยกตัวอย่างกรณีของอินโดนิเชีย เราจะเห็นว่าหลังวิกฤตการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในปี 2546 ซึ่งบ้านเราก็เกิดสึนามิที่ภูเก็ต เราจะเห็นว่า กรณีของอาเจะห์ พอหลังจากเกิดสึนามิ สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระบวนการที่ทุกกลุ่มได้มาคุยกัน แล้วก็หาทางออกเพื่อสันติภาพ เพื่อประชาชนของเขาจริงๆ
ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้วันนี้ประชาชนลำบากมากพอแล้ว ผมว่าอย่ามาซ้ำเติมประชาชนเลย ให้เขาได้ใช้วิถีชีวิตที่ปกติและทำมาหากิน ซึ่งผมไม่รู้ว่าคนที่ทำคือกลุ่มไหน แต่ผมคิดว่าถ้าทุกคนวันนี้คิดว่าทำเพื่อประชาชน เพื่ออนาคตที่ดี ผมคิดว่าเราควรต้องกลับมาคุยกัน อาจจะไม่ต้องถึงกับอินโดนิเซียที่อาเจะห์ที่มาเจรจา แต่มาพูดคุยแล้วก็หาข้อตกลงกัน จนกระทั่งวันนี้อาเจะห์ก็เป็นดินแดนที่มีสันติภาพไปเรียบร้อยแล้ว
@@ แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าจะมีกลุ่มนักรบรุ่นใหม่ๆ มาสีบทอดเจตนารมณ์ของกลุ่มรุ่นเก่าที่ก่อเหตุป่วนแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นคนท้องที่ เป็นนักการเมืองท้องถิ่น มันมีกลุ่มคนที่เฉยๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็มองว่าไม่เดือดร้อน แล้วบางทีก็อาจจะแอบหนุนผู้ก่อการอยู่ด้วยหรือไม่?
อันนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว มันก็จะมีคนที่จะเฉยๆ แล้วก็แทงกั๊กไว้ อะไรแบบนี้ มันก็เป็นธรรมชาติในปรากฏการณ์ทางสังคมที่อยู่ในทุกกลุ่ม แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า วันนี้ภาคใต้มันเสียโอกาสมามากแล้ว โดยเฉพาะเสียโอกาสการพัฒนา เสียโอกาสในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แล้วก็วันนี้ถ้าเรายังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ในขณะที่โลกที่มันเดินไปไม่หยุดนิ่ง แต่เรามันไม่เดินไปข้างหน้า เท่ากับเรากำลังเดินถอยหลัง
ผมในฐานะเทศบาลนครยะลา ถือว่าเป็นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชน สิ่งที่เราคิดก็คือว่า ถ้าแบบนี้ประชาชนเราจะอยู่อย่างไรในวันข้างหน้า จะยากจนเหมือนเดิมไหม เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าทุกคนมองที่ประชาชนเป็นหลัก แล้วก็พยายามที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตปกติที่สุด ขณะเดียวกันในเรื่องเจรจาหรืออะไรก็ตาม ไม่ว่าเรื่องของการตอบโต้ ถ้าเป็นขบวนการจริงก็ควรที่ไปหาทางอื่นที่ไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง
@@ ประชาชนจะอยู่กันอย่างไรในเรื่องความปลอดภัย คือพอคนร้ายเปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ ปลอมเป็นไรเดอร์แบบนี้ มาตรการหลังจากนี้จะทำอย่างไร ฝ่ายความมั่นคงจะตามทันไหม?
ผมคิดว่าด้วยการใช้ชีวิตก็จะลำบากขึ้น แน่นอนว่า สิ่งที่ไรเดอร์ที่ดีๆ ที่เขาประกอบอาชีพ เราต้องยอมรับนะว่าในช่วงโควิด หรือในช่วงที่มีตลาดอีมาร์เก็ตที่มากขึ้น ไรเดอร์กลับเป็นอาชีพที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ใช้ความเป็นไรเดอร์มาเป็นผู้วางระเบิด ผมคิดว่าอนาคตคนที่จะมาทำไรเดอร์คงต้องมีขั้นตอนต่างๆ ที่มากขึ้น และมันก็จะกลายเป็นอาชีพที่ถูกเฝ้าระวังมากขึ้น ซึ่งผมก็ว่ามันไม่สมควร และในตลาดออนไลน์ที่มันเดินไปกับอาชีพไรเดอร์ที่มันถูกเฝ้าระวังมากขึ้น มันก็จะสวนทางกัน ซึ่งผมคิดว่าในช่วงโควิด อาชีพไรเดอร์เป็นอาชีพที่สร้างรายได้และดูแลครอบครัวเขาได้อย่างดี
@@ แต่ว่ามันจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร?
ผมคิดว่าทางการฝ่ายความมั่นคง 1.จะต้องมีการลงทะเบียนไรเดอร์ที่ชัดเจนมากขึ้น 2.ตัวเสื้อต่างๆ ถังใส่อาหาร ก็อาจจะต้องมีเรื่องของหมายเลขต่างๆ เหมือนกับวินมอเตอร์ไซค์ อย่างน้อยก็มีหมายเลข 1, 2, 3, 4, 5 ให้รู้ตัวตนที่ชัดเจนว่าใคร 3.การตั้งด่านตรวจ เรื่องของการเปิดกล่องต่างๆ เพราะลักษณะของการก่อเหตุก็เคยคล้ายกับเมื่อหลายปีที่แล้ว ในเขตเทศบาลนครยะลาเช่นเดียวกัน ที่เอาระเบิดซุกซ่อนในถังนมไปเทเหมือนกับรถส่งนม แล้วเข้ามาวางระเบิดในเมือง ตอนนี้เพียงเปลี่ยนมาใช้ไรเดอร์
@@ น่าจะได้พูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 และท่านอื่นๆ รวมไปถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ท่านเหล่านั้นบอกไหมว่ามีเบาะแสและมีโอกาสที่จะสามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้?
เท่าที่ผมได้ข้อมูลมาพอสมควร ก็เชื่อว่าวันนี้ประชาชนเองไม่มีใครที่นิยมความรุนแรง เพราะว่ามันกระทบต่อการใช้ชีวิตของเขาอย่างมาก หลังจากนี้ข้อมูลข่าวสารก็จะเข้ามามากขึ้น แล้วคงจะหาเบาะแสได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะในวันนี้ที่เป็นสังคมดิจิทัล ข้อมูลมันเยอะมากที่จะไหลเข้ามา
@@ ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ คิดว่าเสียโอกาสแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน และเมื่อวานก็มีเที่ยวบินเที่ยวแรกมาลงที่เบตงด้วย เศรษฐกิจยะลากำลังดีเลย?
สิ่งเหล่านี้ ผมว่าประเด็นแรกมันขึ้นกับฝ่ายรัฐที่จะต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาเร็วที่สุด นั่นหมายถึงการหาตัวผู้ที่ก่อเหตุให้เร็วที่สุด ในประเด็นที่ 2 สิ่งที่ประชาชนเองคงจะต้องร่วมกัน โดยเฉพาะในการเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของพื้นที่ จะต้องร่วมกันค้นหาสิ่งที่มันอยู่ใต้พรม ที่วันนี้ยังหาไม่เจอว่าใครเป็นอะไรต่างๆ ผมว่าเราต้องหาข้อมูลเบาะแสเพื่อส่งต่อให้เร็วที่สุด ใครเป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ เพื่อให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลพื้นที่ เขามีความตื่นตัวมากขึ้น
เพราะนั้นมันก็จะสร้างความมั่นใจให้กับคนนอกที่จะเข้ามา เหมือนกับที่บอกว่า ยะลากำลังดีมาก การท่องเที่ยวต่างๆ ก็เริ่มดี คนอยากจะมาดูสกายวอล์คอัยเยอร์เวง ทะเลหมอกต่างๆ ทุกอย่างกลายมาหยุดชะงักหมด หรือคนจะกลับมาตรุษจีน มาไหว้บรรพบุรุษ หลายคนก็อาจจะยกเลิกด้วยความไม่มั่นใจ ถึงแม้ว่าเป็นระเบิดที่มีแต่เสียงก็ตาม แต่ความมั่นใจก็หายไป
@@ สุดท้ายในฐานะนายกเทศมนตรีนครยะลา ยืนยันได้ไหมว่ายะลายังไปเที่ยวได้อย่างปลอดภัย?
ผมคิดว่ายะลาก็ยังเป็นเมืองที่ยังน่าเที่ยวเหมือนเดิม ในแง่ของผู้คนเองยินดีต้อนรับทุกฝ่าย อยากจะเรียนว่าพวกเราชาวยะลาเราไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เราพร้อมที่จะดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่เราให้ดีที่สุด ผมคิดว่าทุกภาคส่วนของเราช่วยกันทั้งหมดในการที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่ของเรา
———-
ภาพประกอบจากเฟซบุ๊กสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 1 ก.พ.65
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/special-talk/106233-mayorpongsak.html