ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ขวา) พูดในที่ประชุมแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีอันเดรจ์ ดูดา ของโปแลนด์ (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี (กลาง) ณ สำนักนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันอังคาร (8 ก.พ.)
บรรดาผู้นำยุโรปให้คำมั่นที่จะสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันในเป้าหมายของพวกเขาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามขึ้นในทวีปนี้ ขณะที่ “มาครง” ย้ำเห็นช่องทางในการผ่อนคลายความตึงเครียดกับรัสเซียกรณียูเครน กระนั้น ล่าสุดมอสโกออกมาเตือนว่า ยูเครนกำลังยั่วยุด้วยการร้องขอระบบป้องกันขีปนาวุธ “ธาด” จากอเมริกา และหากมีการพิจารณาคำขอนั้นอย่างจริงจังก็อาจบ่อนทำลายโอกาสในการแก้ไขวิกฤตยูเครนด้วยแนวทางการทูต
หลังจากเยือนมอสโกและต่อด้วยการไปกรุงเคียฟ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เดินทางถึงกรุงเบอร์ลินเมื่อวันอังคาร (8 ก.พ.) และพบเจรจากับผู้นำเยอรมนีและโปแลนด์
ประมุขของฝรั่งเศสเรียกร้องให้เจรจากับรัสเซียอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง เพราะเป็นวิธีเดียวในการผ่อนคลายความกังวลว่า รัสเซียอาจบุกยูเครน
มาครงที่หารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ราว 5 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ (7) เสริมว่า ผู้นำแดนหมีขาวยืนยันว่า รัสเซียจะไม่เป็นต้นเหตุให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลาย แม้ขณะนี้สะสมอาวุธและกำลังพลกว่า 100,000 นาย ใกล้ชายแดนยูเครนก็ตาม
ทั้งนี้ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสหลายคนคิดว่า วอชิงตันกระพือข่าวการคุกคามของรัสเซียมากเกินไป ขณะที่ยูเครนเองยังเชื่อว่า มีแนวโน้มต่ำที่มอสโกจะเปิดฉากบุกเต็มรูปแบบ
มาครงสำทับว่า ทั้งปูตินและประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครน ต่างยืนยันว่า ยังยึดมั่นในหลักการข้อตกลงสันติภาพปี 2014 หรือที่เรียกกันว่า “ข้อตกลงกรุงมินสก์” ซึ่งปูทางสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทที่ยืดเยื้อในยูเครนตะวันออก
ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันภายหลังการหารือที่เบอร์ลิน นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ประกาศว่า เยอรมนี ฝรั่งเศส และโปแลนด์มีเป้าหมายร่วมกันในการรักษาสันติภาพในยุโรปผ่านแนวทางการทูตและการเจรจาที่ชัดเจน
ส่วนประธานาธิบดีอันเดรจ์ ดูดา ของโปแลนด์ แสดงความเชื่อมั่นว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงคราม และสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือความเป็นความเป็นหนึ่งเดียวกันและความสมานฉันท์กัน นอกจากนี้ผู้นำทั้งสามยังประกาศสนับสนุนอธิปไตยของยูเครน
ทางด้าน โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู ให้ความเห็นว่าแบบมองโลกแง่ดีอย่างระแวดระวังตัว โดยกล่าวว่า การไปเยือนมอสโกของมาครง นำมาซึ่ง “ส่วนประกอบหนึ่งของการผ่อนคลายความตึงเครียด” ทว่า “ยังไม่ได้ก่อให้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นมา”
“ตราบใดที่ผู้คนยังปรารถนาจะนั่งที่โต๊ะและพูดจากัน ผมคิดว่ามันก็มีความหวังว่าไม่ใช่กำลังจะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารกันมาแล้ว” เขาบอกกับผู้พวกสื่อข่าวในตอนท้ายของการไปเยือนกรุงวอชิงตัน
สำหรับความสนใจต่อจากนี้ไปจะมุ่งไปที่การเจรจาหลายนัดของพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเบอร์ลินวันพฤหัสฯ (10) ซึ่งเซเลนสกี้บอกว่า เชื่อว่าอาจนำไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างยูเครน รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี เพื่อฟื้นแผนการสันติภาพในยูเครนตะวันออกที่ชะงักงันอยู่
อย่างไรก็ดี ขณะที่ปูตินดูจะพอใจกับข้อเสนอประนีประนอมซึ่งเสนอโดยมาครง เวลานี้พวกผู้นำยุโรปจะต้องพยายามโน้มน้าวให้เซเลนสกี้ยอมรับแนวทางประนีประนอม โดยที่เคียฟนั้นระบุเงื่อนไข 3 ข้อคือ ต้องไม่มีการประนีประนอมเกี่ยวกับบูรณาภาพแห่งดินแดนของยูเครน, ไม่มีการเจรจาโดยตรงกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกที่ได้รับการสนับสนุนจากมอสโก ,และไม่มีการแทรกแซงนโยบายต่างประเทศของยูเครน
มีรายงานว่าทางรัสเซียนั้นยังคงกดดันให้ยูเครนยอมอ่อนข้อต่อพสกกบฏแบ่งแยกดินแดนที่ต่อสู้กับเคียฟมาตั้งแต่ปี 2014 และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 คน
ในวันอังคาร โอเล็กซี เรสนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน ให้สัมภาษณ์กับสถานีทีวีท้องถิ่นว่า เคียฟวางแผนจัดการซ้อมรบที่จะมีการใช้ขีปนาวุธต่อต้านรถถังของตะวันตกและโดรนโจมตีของตุรกี เพื่อตอบโต้การซ้อมรบร่วมระหว่างรัสเซียกับเบลารุส
(ภาพจากแฟ้ม) การทดสอบยิงระบบต่อสู้ขีปนาวุธ “ธาด” ของกองทัพสหรัฐฯ
ส่วนที่มอสโก รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เซียร์เก รยาบคอฟ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่นว่า การที่เคียฟร้องขอระบบต่อสู้ขีปนาวุธ “ธาด” (THAAD ย่อมาจากTerminal High Altitude Area Defense) จากอเมริกาถือเป็นการยั่วยุ และหากวอชิงตันพิจารณาคำขอนั้นอย่างจริงจังก็อาจลดโอกาสในการแก้ไขวิกฤตยูเครนด้วยแนวทางการทูต
ขณะที่อเล็กซานเดอร์ แพนกิน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอีกคนของรัสเซีย กล่าวว่า มอสโกหวังว่า ความตึงเครียดเกี่ยวกับยูเครนและข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซีย จะได้รับการตอบสนองทางการทูตจากตะวันตก
สำนักข่าวสปุตนิกของทางการรัสเซียระบุว่า ระบบธาดนี้ สหรัฐฯออกแบบมาเพื่อใช้สกัดกั้นพวกขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ขณะถูกยิงขึ้นไปจนออกนอกชั้นบรรยากาศของโลก (เรียกกันว่า ขีปนาวุธเคลื่อนที่ไปถึงระยะ terminal) ก่อนจะตกลงมาสู่เป้าหมายที่จะโจมตีบนผิวโลก พิสัยการปฏิบัติการของระบบนี้โดยรวมอยู่ที่ 200 กิโลเมตร และมีศักยภาพในการค้นหาและติดตามขีปนาวุธในพิสัยระหว่าง 870 ถึง 3,000 กิโลเมตร
สปุตนิกยังอ้างรายงานของสำนักข่าวทาสส์ ซึ่งเป็นทางการรัสเซียเช่นกัน ที่ระบุว่าแหล่งข่าวของตนบอกว่า ยูเครนได้ไปขอสหรัฐฯนำชุดเครื่องยิงระบบธาด พร้อมเรดาร์จำนวนหลายชุดมาประจำการใกล้ๆ เมืองคาร์คอฟ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เรดาร์ AN/TPY-2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบธาด จะมีศักยภาพที่จะติดตามสอดส่องน่านฟ้าเหนือดินแดนรัสเซียเป็นอาณาบริเวณกว้างขวาง และทำให้เคียฟตลอดจนพันธมิตรนาโต้ของยูเครน สามารถ “มองลึก” เข้าไปในดินแดนรัสเซียเป็นระยะทางถึง 1,000 กิโลเมตรทีเดียว”
(ที่มา: เอเอฟพี , รอยเตอร์ , สปุตนิก)
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 10 ก.พ.65
Link : https://mgronline.com/around/detail/9650000013620