เตรียมติด ‘สัญลักษณ์พิเศษ’ หน้าเบอร์มิจฉาชีพ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ เผย 14 รูปแบบ อาชญากรรมไซเบอร์ พร้อมเปิด ‘แจ้งความออนไลน์’ 1 มี.ค.
จากการหารือร่วมกันระหว่าง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT ระบุว่า รูปแบบที่พบมากในปัจจุบันคือการหลอกให้ซื้อของออนไลน์ ผู้บริโภคถูกหลอกลงทุน เปิดร้านค้าออนไลน์ หลอกซื้อสินค้าที่ไม่มีจริง ส่วนที่สร้างความเสียหายอย่างมาก คือ คอลเซนเตอร์ โทรศัพท์อ้างชื่อหน่วยงานหลอกเรียกเงิน เมื่อเกิดความเสียหายก็ยากต่อการติดตามเงินคืน
เปิดบริการแจ้งความออนไลน์
แต่ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเปิดบริการให้แจ้งความออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทันท่วงที และเพื่อให้รวดเร็วต่อการยับยั้งความเสียหาย
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.)
กำหนด ‘สัญลักษณ์พิเศษ’ หน้าหมายเลขโทรศัพท์
ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากนี้จะนัดหารือกับตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออีกครั้ง เพื่อกำหนดรูปแบบการป้องกัน เบอร์โทรศัพท์ของกลุ่มมิจฉาชีพ โดยในกลุ่มมิจฉาชีพที่โทรจากต่างประเทศและใช้รูปแบบ VOIP จะกำหนดสัญลักษณ์พิเศษให้ทราบ เพื่อตัดสายไม่ให้โทรไปยังปลายทางได้ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มในประเทศ นอกจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ก็จะรวบรวมจากประชาชนที่แจ้งร้องเรียนเข้ามา โดยใช้รูปแบบเติมสัญลักษณ์ด้านหน้าเบอร์เพื่อบ่งบอกสถานะเช่นเดียวกัน
พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ คิดก่อนโอน อย่าโอนไว อย่าโอนเงินให้กับคนที่ไม่รู้จัก อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยขอให้ตั้งสติ รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด และนำข้อมูลมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ หรือแจ้งข้อมูลได้ที่ ศปอส.ตร. หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือสายด่วน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1441 ตลอด 24 ชม. รวมถึงศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล โทร.1111
อาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่พบมี 14 รูปแบบ
1. หลอกขายของออนไลน์
2. คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ข่มขู่ให้เกิดความกลัว
3. เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยโหด
4. เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง
5. หลอกให้ลงทุนต่างๆ
6. หลอกให้เล่นพนันออนไลน์
7. ใช้ภาพปลอมหลอกให้หลงรักแล้วโอนเงิน (Romance scam) หรือหลอกให้ลงทุน (Hybrid scam)
8. ส่งลิงก์ปลอมเพื่อหลอกแฮกเอาข้อมูลส่วนตัว
9. อ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว
10.ปลอม Line , Facebook หรือ Account หลอกยืมเงิน
11.ข่าวปลอม (Fake news)
12.หลอกลวงเอาภาพโป้เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์
13.โฆษณาชวนไปทำงานต่างประเทศแล้วบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย
14.ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ที่มา : thebangkokinsight / วันที่เผยแพร่ 17 ก.พ.65
Link : https://www.thebangkokinsight.com/news/digital-economy/telecommunications/808411/