สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน และกลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียยึดครองอยู่ ประกาศอพยพประชาชนไปยังรัสเซีย หลังอ้างว่าถูกโจมตีจากกองกำลังยูเครน ขณะที่ยูเครนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
สื่อรายงานว่าเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสและกองกำลังยูเครนในวันนี้เป็นวันที่ 2 ท่ามกลางความกังวลที่ว่ารัสเซียอาจใช้สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นข้ออ้างในการโจมตียูเครน
แหล่งข่าวทางการทูตระบุว่า การปะทะกันในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีการทำข้อตกลงหยุดยิง โดยมีเสียงระเบิดดังขึ้นถึง 600 ครั้งในเช้าวันนี้ จากจำนวน 500 ครั้งวานนี้ โดยคาดว่ามาจากกระสุนปืนใหญ่และกระสุนปืนครกขนาด 152 มม.และ 122 มม.
ด้านภูมิภาคโรสตอฟ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของรัสเซีย ได้ประกาศพร้อมรับผู้อพยพจากดอนบาส
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวในวันศุกร์ (18 ก.พ.) ว่า ยูเครนจะต้องรีบเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“ผมและท่านประธานาธิบดีเบลารุสมีความเห็นว่ากุญแจสำคัญที่จะนำสันติภาพไปสู่ประชาชนในยูเครน และผ่อนคลายความตึงเครียดก็คือการปฏิบัติตามข้อตกลงมินสก์ สิ่งที่ยูเครนต้องทำก็คือจะต้องนั่งลงเจรจากับตัวแทนจากดอนบาสเพื่อหาข้อตกลงทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และมนุษยธรรมเพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น” ปธน.ปูตินกล่าว หลังการเจรจากับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเบลารุสในวันนี้
“เป็นที่น่าเสียใจที่ว่า สิ่งที่เรากำลังเห็นก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในดอนบาส โดยยูเครนปฏิเสธที่จะทำตามข้อตกลงมินสก์ และปฏิเสธที่จะเจรจากับโดเนตสก์-ลูฮันสก์ และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการเปลี่ยนแปลงทุกประเด็นในข้อตกลงมินสก์” ปธน.ปูตินกล่าว
นอกจากนี้ ปธน.ปูติน ยังระบุว่า ยูเครนได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และมีการออกกฎหมายกีดกันประชาชนที่พูดภาษารัสเซีย
นายเดนิส พูชิลิน ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ทางตะวันออกของยูเครน สั่งให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวทำการอพยพไปยังรัสเซีย ท่ามกลางการถูกยิงโจมตีจากกองกำลังยูเครน
นายพูชิลิน กล่าวว่า รัสเซียตกลงที่จะให้ที่พักอาศัยแก่ประชาชนแล้ว โดยผู้ที่เป็นเด็ก สตรี และคนชราควรรีบอพยพก่อน
ด้านสภาดูมา ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย ได้ให้การอนุมัติก่อนหน้านี้ต่อร่างกฎหมายรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์
หากประธานาธิบดีปูติน ลงนามร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ต่อวิกฤตการณ์ในยูเครน เนื่องจากการรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ จะถือเป็นการฉีกข้อตกลงมินสก์ ซึ่งมีเป้าหมายในการยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนในดอนบาส หลังจากที่ได้คร่าชีวิตของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกองกำลังยูเครนถึง 15,000 คน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 19 ก.พ.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/989190