คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เผยแพร่รายงานว่า การสู้รบในเขตเมืองด้วยการใช้อาวุธระเบิด กำลังส่งผลกระทบต่อประชากรมากกว่า 50 ล้านคนบนโลก
ในขณะที่โลกมีความเป็นเมืองมากขึ้น ความขัดแย้งและการสู้รบก็ขยับเข้ามาในเมืองมากขึ้นเช่นกัน คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross- ICRC) ระบุในรายงานล่าสุด “Explosive Weapons with Wide Area Effects: A Deadly Choice in Populated Areas” ว่า การสู้รบในเขตเมืองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น สร้างผลกระทบในทางลบต่อประชากรมากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก
Look at Sana’a, Mosul, Raqqa, Aleppo or Gaza City, or populated areas like the Donetsk region in Ukraine, villages in Afghanistan, the outskirts of Tripoli & downtown Benghazi in Libya, or Nagorno-Karabakh, to see their devastating humanitarian consequences
– @PMaurerICRC pic.twitter.com/GMHpnoctBv— ICRC to UN in NY (@ICRC_NYC) January 27, 2022
รายงานนี้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธระเบิดร้ายแรงในเขตเมืองเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนนโยบาย และวิธีการสู้รบเพื่อไม่ให้ประชากรที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ รายงานอ้างอิงข้อมูลจากการทำงานภาคสนามของไอซีอาร์ซีในพื้นที่ที่มีการสู้รบ เช่น อัฟกานิสถาน เขตฉนวนกาซา อิรัก ฟิลิปปินส์ โซมาเลีย ศรีลังกา ยูเครน และ เยเมน ซึ่งพบว่า การสู้รบในพื้นที่เหล่านี้ มักจะใช้อาวุธระเบิดพิสัยไกลที่มีแรงทำลายล้างครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง และส่วนใหญ่เป็นอาวุธที่ไม่ได้พัฒนามาเพื่อใช้ในเขตเมืองและศูนย์กลางชุมชน ส่งผลทำลายทั้งชีวิต ความเป็นอยู่ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึงอนาคตของผู้คน
เด็กชาวเยเมนจับกลุ่มเล่นฟุตบอล ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเมือง
ข้อมูลในรายงานนี้ระบุว่า เมื่อปี 2563 ประชากรมากกว่า 2,000 คน ในอัฟกานิสถาน ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิดของปืนครก ปืนใหญ่ และจรวด และ เมื่อปี 2552 ในเขตฉนวนกาซา หนึ่งในสามของประชากรที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากปฏิบัติการทางทหาร เป็นเด็กและเยาวชน โดย 82% ของเด็กจำนวน 353 คน ที่เสียชีวิตนั้นเป็นผลจากอาวุธระเบิดร้ายแรง
บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานในกาซา ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
รายงานนี้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนวิธีคิด พร้อมเสนอวิธีป้องกัน และลดผลกระทบของการใช้อาวุธเหล่านี้ในเขตเมือง เพื่อปกป้องประชากรที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น หลีกเลี่ยงการใช้อาวุธระเบิดที่มีแรงทำลายล้างสูงในพื้นที่ประชากรหนาแน่น ระบุให้การปกป้องประชากรที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่เหนือวัตถุประสงค์ของการสู้รบ และสอดแทรกอยู่ในคำสั่งการปฏิบัติการทั้งหมด เป็นต้น
นายปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานไอซีอาร์ซี กล่าวว่า “การสูญเสียชีวิตของประชากรทั่วไปจากการใช้อาวุธระเบิดเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบต้องทบทวน และปรับนโยบาย และวิธีปฏิบัติในการสู้รบอย่างเร่งด่วน และหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธระเบิดที่มีแรงทำลายล้างกว้างขวางในพื้นที่ประชากรหนาแน่น อาวุธเหล่านี้ไม่ควรใช้ในพื้นที่เหล่านี้ ยกเว้นจะมีมาตรการรองรับในการลดผลกระทบและความเสี่ยงต่อประชากรด้วย”.
ขอขอบคุณ : ฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ประจำประเทศไทย
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 31 ม.ค.65
Link : https://www.dailynews.co.th/news/719277/