ข้อมูลที่ถูกนำมาเปิดเผยต่างๆ ไม่ใช่แค่ข้อมูลประเภทที่เป็น “รอยเท้าบนโลกดิจิทัล” (Digital Footprint) ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ แต่ยังรวมไปถึงข้อมูลดิจิทัลจากกล้อง CCTV ภาพถ่าย ตามสถานที่ต่างๆ ด้วย
กรณีการเสียชีวิตของนักแสดงสาว “แตงโม นิดา” เป็นข่าวดังที่สุดในสื่อต่างๆ ของบ้านเราช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะข่าวการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ของคดีที่มีอยู่ในโลกโซเชียล แม้ข้อมูลที่นำมาเสนอในโลกโซเชียล จะมีออกมามากมาย ทั้งที่จริงและเท็จ บ้างก็เป็นความเห็นต่างๆ ที่ทำให้สังคมสับสนยิ่งขึ้น แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลในบางเรื่องที่ชาวโซเชียลขุดออกมามีประโยชน์ไม่น้อย ทำให้สังคมมีข้อมูลที่มีความชัดเจนขึ้น แม้กระทั่งตำรวจยังต้องออกมายอมรับในความสามารถของนักสืบโซเชียลที่ช่วยให้มีข้อมูลต่างๆ นำไปสู่การสืบสวนที่ดี
ข้อมูลที่ถูกนำมาเปิดเผยต่างๆ ไม่ใช่แค่ข้อมูลประเภทที่เป็น “รอยเท้าบนโลกดิจิทัล” (Digital Footprint) ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ แต่ยังรวมไปถึงข้อมูลดิจิทัลจากกล้อง CCTV ภาพถ่าย ตามสถานที่ต่างๆ ด้วย
ปัจจุบันเราอยู่บนโลกของดิจิทัลทำให้ข้อมูลต่างๆ ของเราทุกเก็บไว้มากมาย การที่คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยราว 9 ชั่วโมงต่อวัน ในการเล่นอินเทอร์เน็ตทำให้เราทิ้งข้อมูลเอาไว้บนโลกดิจิทัลอย่างมากมาย ทั้งการใช้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก รวมถึงอินสตาแกรม การส่งข้อความต่างๆ ทั้งในไลน์ หรืออีเมล ตลอดจนการใช้บริการเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังอาจรวมไปถึงข้อมูลการค้นหาสิ่งต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต และการใช้บริการออนไลน์ต่างๆ ด้วย
ข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกติดตามได้ และมีการเก็บไว้เป็นเวลาหลายปี ซึ่งเมื่อเราเล่นอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียมากๆ ข้อมูลรอยเท้าบนโลกดิจิทัลของเราก็จะยิ่งเติบโตขึ้น และจะสามารถขุดคุ้ยกลับมาได้ในภายหลัง
ข้อมูลรอยเท้าบนโลกดิจิทัล อาจแบ่งได้เป็นสองประเภท ดังนี้ Active Digital Footprint คือ ข้อมูลที่เราตั้งใจเปิดเผยโดยที่รู้ตัว เช่น การโพสต์เฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ การโพสต์ภาพในอินสตาแกรม การเช็คอินในสถานที่ต่างๆ การส่งข้อความในไลน์การกดไลค์ การคอมเมนต์ รวมทั้งการแชร์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย
Passive Digital Footprint คือ ข้อมูลที่เราทิ้งร่องรอยไว้แบบที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้รู้ตัว เช่น IP Address หรือรหัสประจำตัวคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อใดที่เข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ จะมีประวัติการค้นหาที่ถูกบันทึกไว้โดยโปรแกรมค้นหานั้น นอกจากนี้ยังมีการบันทึกข้อมูลการเข้าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ข้อมูลตำแหน่งของอุปกรณ์มือถือของเรา เป็นต้น
ข้อมูลที่ตั้งใจเปิดเผยสามารถควบคุมได้เพราะเราเป็นผู้สร้างข้อมูลเหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งเราสามารถจัดการเนื้อหาได้ เลือกข้อความที่จะโพสต์ การกดแชร์ กดไลค์ หรือการคอมเมนต์ต่างๆ แต่บางครั้งเราพบว่า ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจำนวนมากอาจขาดความระมัดระวัง หรือไม่เข้าใจเรื่องรอยเท้าบนโลกดิจัทล ไม่เข้าใจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการกระทำของเรา ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่มีผลเสียกับเราในภายหน้า
คนจำนวนมากต้องพบกับผลกระทบจากข้อมูลรอยเท้าบนโลกดิจิทัลที่ตัวเองได้สร้างไว้ บางคนถูกสถานศึกษาหรือสถานที่ทำงานปฎิเสธการรับเข้าทำงาน เพราะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่เคยโพสต์ไว้ย้อนหลัง
ตัวอย่างคดีของแตงโมก็จะเห็นได้ว่านักสืบโซเชียล ต่างไปขุดโพสต์ต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้องมาแฉกัน บางเรื่องก็เป็นข้อความที่ส่งทางไลน์ส่วนตัวหรือกลุ่ม แต่ก็ถูกนำมาเปิดเผยได้ บางโพสต์ก็เป็นเรื่องในอดีตที่นานแล้ว ดังนั้นผู้คนควรจะตระหนักก็คือ ต้องมีความระมัดระวังในการเล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งผลกระทบกับเราในอนาคต
แต่ข้อมูลรอยเท้าบนโลกดิจิทัลที่เราอาจทิ้งร่องรอยไว้แบบที่ไม่ได้ตั้งใจนั้น ควบคุมค่อนข้างยากกว่า ข้อมูลเหล่านี้อาจมาจากการติดตั้งคุ๊กกี้ที่อยู่ในเครื่องเรา ซึ่งทำให้เว็บต่างๆ สามารถติดตามได้ หรือบางเว็บไซต์ก็อาจมีการสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของเราในการลงทะเบียน เช่น ชื่อ ที่อยู่ อีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์
วิธีการที่จะลดรอยเท้าที่ไม่ได้ตั้งใจคือ การปฎิเสธคุ๊กกี้ หรือการพยายามให้ข้อมูลส่วนตัวของเราในการลงทะเบียนให้น้อยที่สุด เน้นเฉพาะที่จำเป็น ไม่ควรเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือที่อยู่ หรือแม้แต่อีเมลที่ใช้ในการทำงาน
การลดข้อมูลรอยเท้าบนโลกดิจิทัลโดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่เหมาะสมจะเป็นผลดีกับเราในระยะยาว การให้ข้อมูลแก่โลกอินเทอร์เน็ตที่น้อยลงจะทำให้เรามีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มีความปลอดภัยจากการถูกติดตามเรื่องราวต่างๆได้ดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามคดีของแตงโม ปฎิเสธไม่ได้ว่า ยังมีข้อมูลจากกล้อง CCTV หรือข้อมูลดิจิทัลจากแหล่งอื่นๆ ที่ถูกเปิดเผยออกมา เราต้องยอมรับว่า วันนี้เราเข้าสู่โลกดิจิทัลกันแล้ว เรามีกล้องจำนวนมากติดอยู่รอบๆ เมือง มีเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ด้านความปลอดภัยอยู่มากมาย ตลอดจนเรามีข้อมูลเปิดจำนวนมากที่สามารถใช้ในการสืบค้นต่างๆ ทั้งข้อมูลธุรกิจและข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้การสืบค้นข้อมูลต่างๆ เป็นไปได้ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ก็จะมีคนมาช่วยกันหาข้อมูลต่างๆ มากขึ้น เพราะใครๆ ก็สามารถที่จะเป็นนักสืบโซเชียลได้ง่ายขึ้น เราไม่สามารถหยุดยั้งข้อมูลเหล่านี้ หรือห้ามผู้คนจำนวนมากมาสืบค้นข้อมูล
ดังนั้นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดคือ “การคิดดีทำดี” โลกดิจิทัลทำให้สังคมโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ถ้าเราทำดี พูดความจริง โลกดิจิทัลก็ไม่สามารถมาทำร้ายอะไรเราได้ครับ
ผู้เขียนบทความ ธนชาติ นุ่มนนท์
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 14 มี.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/columnist/993526