โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : 6 เมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์การรบรัสเซีย-ยูเครน
กรุงเคียฟ (Kyiv)
ภาพความเสียหายของร้านล้างรถ หลังจากถูกรัสเซียทิ้งระเบิด ที่เมืองบารีชิฟคา ทางตะวันออกของกรุงเคียฟ
เมืองหลวงของยูเครนที่มีประชากร 2.8 ล้านคน เป็นศูนย์กลางแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และเป็นที่ตั้งของที่ทำการรัฐบาล และที่อยู่ของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำของยูเครน เมืองนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของรัสเซีย ซึ่งขณะนี้ถูกกองทัพรัสเซียปิดล้อมพื้นที่ทางตอนเหนือ และค่อยๆรุกคืบเข้าใกล้ใจกลางเมืองไปเรื่อยๆ ภาพรถถังและรถทหารรัสเซียเคลื่อนขบวนเป็นแถวยาวกว่า 40 ไมล์ พบเห็นในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง และจากที่นั่นกองทัพรัสเซียได้ยิงจรวดถล่มเมือง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เสาสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุของกรุงเคียฟถูกขีปนาวุธโจมตี และยังเกิดการระเบิดในบริเวณใกล้เคียงอีกหลายจุด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย ขณะนี้ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสารและระบบรถไฟในเมืองส่วนใหญ่ยังคงใช้ได้ แต่โรงเรียนและร้านค้าเกือบทั้งหมดปิด ขณะที่ประชาชนในเมืองหลายหมื่นคนต้องอพยพหนีสงคราม ซึ่งทั้งหมดมุ่งหน้าไปยังเมืองลวิฟ ซึ่งมีชายแดนติดกับโปแลนด์ด้วยความหวังว่าจะได้ลี้ภัยสงครามไปยังพื้นที่ปลอดภัยในฝั่งตะวันตก
เมืองคาร์คีฟ (Kharkiv)
ภาพความเสียหายที่เมืองคาร์คีฟ
เมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูเครน มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 1.4 ล้านคน และยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่มีเส้นทางเชื่อมกับพื้นที่ยูเครนตะวันตกกับรัสเซีย และยังอยู่ใกล้กับชายแดนรัสเซีย จึงตกเป็นเป้าการโจมตีตั้งแต่ในวันแรกของการรุกราน แต่ขณะนี้เมืองยังอยู่ในความควบคุมของทหารยูเครน แม้ว่าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม จะถูกรัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มบริเวณใจกลางเมือง ซึ่งส่งผลให้อาคารที่ทำการรัฐบาลและมหาวิทยาลัยพังเสียหาย และประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เมืองเคอร์ซอน (Kherson)
เมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของยูเครน มีประชากรอยู่ราว 300,000 คน ตั้งอยู่ติดแม่น้ำดนีโปร และใกล้กับทะเลดำ เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการต่อเรือ และยังเป็นสถานที่ฝึกนักเรียนนายเรือ เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคนิคด้านการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอและวิศวกรรมอีกด้วย นายอิกอร์ โคลีคาเยฟ ผู้ว่าการเมืองเคอร์ซอน กล่าวว่า แทบจำเมืองไม่ได้เลยตอนนี้ ตลอดหลายวันที่มีการสู้รบอย่างรุนแรง มีพลเรือนและทหารเสียชีวิตราว 300 คน นอกจากนี้ระบบไฟฟ้า ประปา และท่อแก๊สก็พังเสียหาย หลังจากที่เมืองถูกขีปนาวุธโจมตีอย่างหนัก ไม่นานหลังจากเกิดการรุกรานของรัสเซีย เมืองนี้ถูกกองทัพรัสเซียยึดได้ ทำให้รัสเซียเข้ายึดเมืองในแนวชายฝั่งทะเลดำได้ง่ายขึ้น โดยเป้าหมายต่อไปอาจเป็นเมืองมิโคลาอีฟ และโอเดซา
เมืองมารีอูปอล (Mariupol)
ภาพความเสียหายที่โรงพยาบาลเด็กในเมืองมารีอูปอล
เมืองท่าสำคัญ ที่ติดกับภูมิภาคดอนบาส ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียปกครองอยู่ และติดกับดินแดนไครเมีย ซึ่งถูกรัสเซียผนวกเข้าไปเมื่อปี 2014 นอกจากนี้ยังอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียไปเพียง 40 ไมล์เท่านั้น จากที่ตั้งของเมืองทำให้เมืองนี้ตกอยู่ในอันตราย และมีความเสี่ยงที่จะถูกยึดโดยกองทัพรัสเซียได้ไม่ยาก ล่าสุดทหารรัสเซียได้ปิดล้อมเมืองนี้ไว้หมดแล้ว และอาหารในเมืองกำลังจะหมดลง ในอดีตเมืองนี้เคยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน เมืองติดชายฝั่งทะเลอาซอฟนี้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบอย่างดุเดือด และถูกขีปนาวุธโจมตีอย่างหนักมากกว่าหลายเมืองในยูเครน โดยผลจากการโจมตีทำให้ระบบไฟฟ้า ประปา และแก๊สสำหรับทำความร้อน ไม่สามารถใช้งานได้ แม้จะมีการตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 6 มีนาคม เพื่อทำการอพยพประชาชนในพื้นที่ออกไป แต่ในวันที่ 9 มีนาคม ขีปนาวุธรัสเซียได้โจมตีโรงพยาบาลเด็กจนพังเสียหาย ทำให้เราเห็นภาพแม่อุ้มเด็กทารก และภาพหญิงตั้งครรภ์หลายคนต้องหนีตายออกมาจากโรงพยาบาล นายวาดิม บอยเชนโก นายกเทศมนตรีของเมืองกล่าวว่า การโจมตีอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ยากต่อการนับจำนวนผู้เสียชีวิต โดยทางการวางแผนที่จะขุดหลุมศพจำนวนมาก และได้เตือนให้ประชาชนกว่า 500,000 คนที่อยู่ในเมืองแห่งนี้ดูแลตัวเอง อยู่แต่ในบ้านและปล่อยให้ศพผู้เสียชีวิตอยู่ด้านนอก สุดท้ายหากรัสเซียสามารถยึดมารีอูปอลได้ ยูเครนจะต้องสูญเสียศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งเป็นเส้นทางส่งออกสินค้า ทั้งสินค้าทางการเกษตร ถ่านหิน และเหล็กกล้า นอกจากนี้รัสเซียจะสามารถควบคุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอาซอฟได้ทั้งหมดด้วย
เมืองมิโคลาอีฟ (Mikolayiv)
กู้ภัยกำลังช่วยผู้บาดเจ็บที่เมืองมิโคลาอีฟ
เมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรราว 500,000 คน ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ใกล้กับเมืองเคอร์ซอนที่ถูกยึดไปแล้วและเป็นเส้นทางไปสู่เมืองโอเดซา เมืองที่มีทางออกสู่ทะเลอีกแห่ง หากรัสเซียสามารถยึดเมืองนี้ได้ก็แทบจะเรียกได้ว่า ยูเครนเกือบไม่เหลือทางออกสู่ทะเลแล้ว ซึ่งนั่นเป็นความตั้งใจของรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียยึดเมืองเคอร์ซอนได้ ก็ได้ส่งกองกำลังไปยังเมืองมิโคลาอีฟต่อ ซึ่งเป็นอุปสรรคสุดท้ายก่อนจะไปถึงเมืองโอเดซา ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญ และที่มั่นในแนวชายฝั่งสุดท้ายของยูเครน ตลอดหลายวันมานี้ทหารยูเครนต้องต่อสู้รับมือกับการโจมตีของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยิงขีปนาวุธ การโจมตีจากเฮลิคอปเตอร์ และการยิงจรวด เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ยูเครนได้ขับไล่กองกำลังรัสเซียออกจากเขตเมืองไป และยึดสนามบินกลับคืนมาได้ แต่ในวันถัดมาก็เกิดการโจมตีของขีปนาวุธอีกครั้ง ส่งผลให้ย่านที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย และเพื่อให้ไปถึงเมืองโอเดซาได้ง่ายที่สุด กองกำลังรัสเซียต้องฝ่าเมืองมิโคลาอีฟไปเพื่อข้ามสะพานไปฝั่งเมืองโอเดซา ซึ่งกองกำลังยูเครนควบคุมไว้อยู่ และหากทหารยูเครนไม่สามารถต้านทานไว้ได้ นายโอเลกแซนดร์ เซนเควิช นายกเทศมนตรีเมืองมิโคลาอีฟ กล่าวว่า จะตัดสินใจระเบิดสะพานทิ้งไป
เมืองโอเดซา (Odesa)
ศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่สำคัญของยูเครน มีประชากรราว 900,000 คน เป็นหนึ่งในที่มั่นสุดท้ายบริเวณชายฝั่งทะเลดำ แม้ในอดีตเมืองนี้จะถูกก่อตั้งโดยจักรพรรดิแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย และผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก แต่พวกเขาก็ไม่อยากกลับไปอยู่ในการปกครองของรัสเซียเหมือนในอดีต ชาวเมืองโอเดซารู้อย่างแน่นอนว่า หากเมืองมิโคลาอีฟถูกรัสเซียยึดได้ เหยื่อรายต่อไปต้องเป็นผู้คนในเมืองนี้ ถึงแม้ประเทศจะอยู่ในภาวะสงคราม แต่การบริหาร และการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองนี้ยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับการเตรียมพร้อมรับมือกองทัพรัสเซีย ประชาชนช่วยกันขุดทรายจากทะเลใส่กระสอบเพื่อนำไปทำแนวบังเกอร์ และใช้ปกป้องรูปปั้นที่สำคัญของเมือง ชาวเมืองรู้สึกว่าการได้เห็นชาวยูเครนในเมืองคาร์คีฟช่วยกันต้านทานทหารรัสเซียอย่างเต็มที่ ทำให้พวกเขามีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อเมืองอันเป็นที่รักเช่นเดียวกัน ในขณะที่นายเกนนาดีย์ ทรูคานอฟ นายกเทศมนตรีเมืองโอเดซาได้ประกาศว่า จะอยู่ปกป้องเมืองจนถึงที่สุด
จากสถานการณ์ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า รัสเซียพยายามรุกคืบเข้ายูเครนมาทุกทางทั้งทางเหนือบริเวณกรุงเคียฟ และเมืองคาร์คีฟ จากทางตะวันออก บริเวณแคว้นลูฮานสค์และโดเนตสค์ และทางใต้ ตั้งแต่เมืองมารีอูปอลไปถึงมิโคลาอีฟ หากในอนาคตรัสเซียสามารถยึดเมืองมารีอูปอลได้ มิโคลาอีฟก็อาจถูกยึดถัดไปในไม่ช้า ก่อนจะบุกไปถึงโอเดซา นอกจากนี้ยังมีการทิ้งระเบิดที่เมืองลุตสค์และเมืองอีวาโน-ฟรานคีฟสค์ ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองลวิฟ ทางตะวันตกของยูเครน ซึ่งทุกคนเชื่อว่าปลอดภัยที่สุด ก็ดูเหมือนจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว คงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่ายูเครนจะต้านทานกำลังรัสเซียต่อไปได้เรื่อยๆ หรือรัสเซียจะเดินเครื่องบุกเต็มทีแล้วยึดเมืองแนวชายฝั่งได้ก่อนกัน
————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 มี.ค. 65
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/indepth/news_3229513