เวลานี้ ใครไม่พูดหรือเขียนถึงเรื่องรัสเซียและยูเครน อาจถูกตราหน้าว่าล้าสมัย เมื่อไม่อยากถูกหาว่า “ ล้าสมัย ” และไม่ต้องการก้าวเลยเถิดไปจนถึง “ ล้ำสมัย ” จึงต้องเขียนถึงสถานการณ์ในรัสเซียและยูเครนสักหน่อย และหนีไม่พ้นก็ต้องเกี่ยวพันกับสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาวุ่นวายกับเขาตั้งแต่สมัยรัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต การล่มสลายและการฟื้นตัวของรัสเซีย เพราะมีสหรัฐเป็นเงาเข้ามาเกี่ยวข้องตลอด
เรื่องของรัสเซียและยูเครน กับสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ จะมองเฉพาะสิ่งที่เห็นในปัจจุบันคงไม่ได้ภาพที่สมบูรณ์นัก เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมันย้อนหลังไปหลายทศวรรษ ตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายเพราะติดหล่มในอัฟกานิสถานหลายปีจนหมดตัว พอถอนตัวออกมาก็สะบักสบอมหมดสภาพ ผู้นำสหภาพโซเวียตอ่อนแอแบบสุด ๆ ตามด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่ประเทศสมาชิกต่างแยกออกมาเป็นรัฐเอกราชเกิด 11 รัฐเกิดใหม่บนเวทีโลกใบนี้
ข้อตกลงใด ๆ ที่สหรัฐและสหภาพโซเวียตลงนามขณะนั้น มีลักษณะที่สหรัฐได้เปรียบทุกวิถีทาง สหภาพโซเวียตต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ สิ่งที่สหภาพโซเวียตได้จากการร้องขอก็คือ ขอไม่ให้องค์การนาโตซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำรุกคืบหน้าโดยรับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเป็นสมาชิกจนประชิดพรมแดนสหภาพโซเวียตซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหภาพโซเวียตโดยตรง และใช้ประเทศเหล่านี้เป็น “รัฐกันชน” ระหว่างสหภาพโซเวียตกับยุโรปตะวันตก
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำโลกเสรีพัฒนาก้าวหน้าในทุกด้าน จนมีการให้สมญาว่า อเมริกาช่วงนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “อภิมหาอำนาจ” หรือ ซูเปอร์ พาเวอร์ เท่านั้น แต่บางคนเรียกว่าเป็น “ เอกอัครอภิมหาอำนาจ” หนึ่งเดียวในโลกที่ไม่มีใครเทียบได้ เป็นผู้สร้าง “ระเบียบโลกไหม่” หรือ “นิว เวิลด์ ออเดอร์” ที่โลกยุคใหม่กลายเป็นยุค “โลกาภิวัฒน์” ที่สหรัฐเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของโลกทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการทหาร
คนรุ่น “เบบี้ บูมเมอร์” ได้เห็นและยังจำภาพนี้ได้อยู่ แต่คนเจน เอ็กซ์-วาย-แซ่ด ต้องเรียนรู้กันใหม่
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่รัสเซียตกต่ำสุด ๆ นั้น สหรัฐได้รุกคืบเข้าสู่ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตปิดล้อมรัสเซียด้วยการ “ส่งออกประชาธิปไตย” ภายใต้ชื่อต่างๆ ที่ดูนุ่มนวล สวยงาม เช่น การปฏิวัติสี การปฏิวัติดอกไม้ เช่น ปฏิวัติดอกกุหลาบในจอร์เจีย (2546-47) ปฏิวัติดอกทิวลิบในอุซเบกิสถานและเคอร์กิสถาน (2548) ปฏิวติส้มในยูเครน (2548) ปฏิวัติแตงโมในเคอร์กิซสถาน (2548) การปฏิวัติไวโอเล็ต ในทาจิกิสถาน เป็นต้น เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกทั้งหมด ยุยงให้ประชาชนลุกขึ้นมาโค่นล้มผู้นำที่นิยมรัสเซีย และหนุนให้ผู้นำที่นิยมประชาธิปไตยตะวันตกขึ้นครองอำนาจแทน
ที่น่าสังเกตคือ มูลนิธิของจอร์จ โซรอส เอ็น.อี.ดี. ยูเสด กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เอ็น.จี.โอ. ฟรีดอม เฮาส์ ฯลฯ (ที่เข้ามาวุ่นวายกับการเมืองในไทยยุแหย่ให้คนออกมาล้มรัฐบาลที่ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การบงการของอเมริกัน ที่คนไทยเพิ่งรู้จักเมื่อไม่กี่ปีมานี้) มีบทบาทสำคัญในการยุแหย่ประชาชนให้ชุมนุมเดินขบวน ก่อความวุ่นวายเพื่อล้มรัฐบาลโปรรัสเซียและตั้งผู้นำที่โปรอเมริกันและตะวันตกขึ้นมาแทน ( เรื่องนี้สื่ออเมริกันเขียนเปิดโปงเอง )
รัฐบาลประเทศยุโรปตะวันออกขณะนั้นต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก “สหภาพยุโรป” โดยหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจ ประชาชนก็หวังที่จะมาทำงานในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปัญหากับรัสเซียแต่อย่างใด แต่บางประเทศคิดไปไกลถึงกับอยากเป็นสมาชิกนาโตเพื่อเอามาคานอิทธิพลของรัสเซีย เพราะหากถูกรุกราน นาโตจะเข้ามาช่วย นอกจากนั้น การที่สหรัฐแอบไปตกลงกับประเทศเหล่านี้ขอเอาจรวดนำวิธีมาติดตั้งในประเทศเหล่านี้ ซึ่งเท่ากับเอาอาวุธมาจ่อคอหอยรัสเซียซึ่งรัสเซียรับไม่ได้ และกดดันประเทศเหล่านี้จนต้องให้สหรัฐขนย้ายจรวดอเมริกันออกไป
ก่อนจะถึงวิกฤติยูเครนในวันนี้ มันมีเรื่องราวที่ผ่านมามากมาย ประธานาธิบดีปูตินได้ฟื้นฟูประเทศทั้งพลังอำนาจทางด้านการเศรษฐกิจจนก้าวมาสู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก และเป็นประเทศที่ผลิต ส่งออกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในลำดับต้น ๆ ของโลก และพลังอำนาจทางการทหารเพื่อให้โลกโดยเฉพาะสหรัฐตระหนักว่า อภิมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่พร้อมที่สุดในโลกมีเพียงรัสเซียกับสหรัฐเท่านั้น
อีกทั้งรัสเซียก็ไม่ใช่ประเทศที่สหรัฐจะข่มได้เหมือนก่อน เพราะเวลานี้ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ อิหร่าน ได้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดมากขึ้นแล้ว
รัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากบุกยูเครนแม้ว่าจะถูกรุมประณามจากชาติตะวันตกและพันธมิตร และประเทศที่ต้องการสันติ หลังจากที่ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของรัสเซียต่อสหรัฐและนาโตแล้วว่า รัสเซียจำเป็นต้อง “สอน” ยูเครนหลังจากที่รัสเซียได้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นด้านความมั่นคงให้กับสหรัฐและนาโตได้ทราบถึงความห่วงกังวลของตนแล้ว แต่ฝ่ายหลังไม่ยอมฟัง
ปูตินประกาศว่า “ ผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ เป็นสิ่งที่ไม่อาจเจรจาต่อรองกันได้ ” ซึ่งก่อนหน้านี้ ปูติน เคยตัดพ้อว่า รัสเซียได้แจ้งให้สหรัฐทราบถึงความกังวลของตนที่นาโตจะรับยูเครนเป็นสมาชิก รัสเซียมองว่ายูเครนมีความสำคัญต่อความมั่นคงของตน สิ่งที่รัสเซียต้องการคือ ให้ยูเครนดำรงสถานะเดิมเช่นปัจจุบันต่อไป ปูตินบ่นว่า ผู้นำสหรัฐและนาโตไม่เคยฟังความกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซีย
นี่เป็นหลักคิดของทุกประเทศในโลก เมื่อครั้งที่โซเวียตส่งจรวดไปประจำในคิวบา อดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ไม่ยอมและไม่ประนีประนอม เพราะถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์และความมั่นคงสหรัฐโดยตรง ครุสชอฟ จึงยอมถอนจรวดออกจากคิวบา และแล้วความตึงเครียดของโลกก็ผ่อนคลายลง
ครั้งนั้น ครุสชอฟ ฟังและเข้าใจเหตุผลของเคนเนดี้ ขณะที่ประธานาธิบดีบุช แห่งสหรัฐซึ่งประเทศแกนนำของนาโตก็ให้สัญญากับประธานาธิบดีกอร์บาชอฟแห่งสหภาพโซเวียต ว่า จะไม่ขยายขอบเขตของนาโตเข้ามาในประเทศยุโรปตะวันออกที่มีพรมแดนติดกับอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งรัฐบาลมอสโคว์ถือว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อรัสเซีย แต่ โจ ไบเดน ทำเหมือนไม่เข้าใจและไม่ฟังเหตุผลความกังวลของปูติน ความจริงเขาคงฟังและเข้าใจ แต่ต้องการจะยั่วยุให้รัสเซียบุกยูเครนเพื่อจะได้ใช้เป็นข้ออ้างปลุกระดมให้โลกช่วยกันโจมตีกล่าวหารัสเซียว่าเป็นผู้คุกคามต่อสันติภาพของโลก กระหายสงคราม ฯลฯ และใช้โอกาสนี้ในการ “เตะตัดขา” รัสเซียที่ก้าวขึ้นมาทัดเทียมท้าทายการเป็นผู้นำโลกหนึ่งเดียวของสหรัฐ และจะมีผลต่อสถานะทางการเมืองของไบเดนและพรรคในการเลือกตั้งกลางเทอมด้วย
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวหนึ่งในสื่อโซเชียล วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งมาจากท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเชื่อมเยอรมนี ที่เรียกว่า “นอร์ดสตรีม 2” โดยอเมริกามองว่าท่อส่งก๊าซดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ และพยายามทำลายโครงการนี้ทุกวิถีทาง ข้อตกลงนี้ทำขึ้นสมัยนางแมร์เกิลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีปูติน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของเยอรมนีโดยตรง เพราะจะทำให้เยอรมนีมีแหล่งพลังงานสะอาดและไม่แพง อีกทั้งเยอรมนีไม่ต้องทำข้อตกลงด้านพลังงานเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่รัสเซียมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นที่รู้กันว่า นางแมร์เคิลขณะนั้นถูกสหรัฐกดดันในเรื่องนี้มาก
มีการวิเคราะห์ว่า สหรัฐกังวลว่าความสัมพันธ์ของเยอรมนีกับรัสเซีย ส่งผลกระทบอย่างแรงต่อการจัดระเบียบโลกแบบ “ขั้วเดียว” ที่สหรัฐมีอำนาจมากที่สุดตลอด 75 ปีที่ผ่านมา(หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) สหรัฐมองด้วยว่า เยอรมนีจะนำยุโรปและเอเชียใกล้ชิดกันมากขึ้น และเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด และเยอรมนีไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธและบริการของนาโตอีกต่อไป
บทความนี้กล่าวต่อไปว่า ยูเครนจึงเป็นอาวุธทางเลือกของวอชิงตันในการทำลาย “นอร์ดสตรีม 2” และถูกใช้เป็นแนวขวางระหว่างเยอรมนีกับรัสเซีย ทั้งนี้เป็นไปตามคู่มือนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาภายใต้หัวข้อ “แบ่งแยกและปกครอง” บทความนี้ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย กลายเป็นรัสเซีย ๆ ไม่เคยรุกรานประเทศใดเลย ในขณะที่สหรัฐได้โค่นล้มระบอบการปกครองในหลายประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมในช่วงเวลาเดียวกัน และมีฐานทัพมากกว่า 800 แห่งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
การดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และค่อนข้างซับซ้อน โดยเฉพาะประเทศอภิมหาอำนาจเช่น สหรัฐอเมริกา มองผลประโยชน์ของตนอย่างกว้างขวางในระดับโลก และต้องดำรงความยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกไว้ตลอดไป
ก่อนจะส่งกำลังทหารบุกเข้ายูเครน ปูตินได้ “โชว์พลัง” ด้วยการซ้อมรบที่พรมแดนติดกับผู้นำยูเครนให้ดูก่อนแล้ว เป็นการส่งสัญญานเตือนล่วงหน้า แต่ผู้นำยูเครนไม่สนใจ หรือได้รับ “ลูกยุ” จนไม่นำพา อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะบุกยูเครน ปูตินต้องคิดและรู้แล้วว่า จะต้องเจออะไรบ้าง เช่น การกดดันทางเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การถูกประณามว่าเป็นผู้ก่อสงคราม ฯลฯ แต่เขาตัดสินใจทำเพราะ “ นี่คือผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติซึ่งไม่สามารถประนีประนอมได้ ” ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น ก็ต้องหาทางป้องกัน แก้ไข หรือลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด
ในขณะที่ผู้นำยูเครนที่ถูกใช้เป็นตัว “ยั่วยุ” รัสเซีย ถึงกับขอให้นาโตพิจารณารับยูเครนเป็นสมาชิกเป็นกรณีพิเศษและเร่งด่วน เพื่อให้นาโตส่งกำลังมาช่วยยันกองทหารรัสเซีย แต่นาโตคงไม่เสี่ยงที่จะเผชิญหน้าทางการทหารกับรัสเซีย เพียงแค่นี้ นาโตก็ถือว่าได้กำไรแล้วที่สามารถใช้ยูเครนปลุกระดมให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันประณามและลงโทษรัสเซีย
ผู้ใหญ่เขารู้ว่า จะไม่ก้าวข้าม “ เส้น ” ที่ขีดไว้ จะทำอะไรก็ได้แต่ต้องไม่ข้ามเส้น สหรัฐและนาโตจะไม่ใช้มาตรการทางทหารซึ่งเสี่ยงต่อการทำสงครามนิวเคลียร์ เพราะผลก็คือแพ้ทั้งคู่ โลกแพ้ทั้งโลก สหรัฐและตะวันตกใช้ยูเครนยั่วยุรัสเซียได้แค่นี้ก็ถือว่าได้กำไรแล้ว โดยไม่ต้องใช้มาตรการทางทหารซึ่งเสี่ยงมาก แต่ใช้ มาตรการทางเศรษฐกิจ การเงิน การค้า การเมือง เป็นต้น ดังที่ทำอยู่ขณะนี้ก็พอแล้ว
การที่ผู้นำยูเครนคิดว่า การทำอย่างนี้เป็นการปลุกระดม “ ความรักชาติ ” และจะได้คะแนนนิยมจากชาวยูเครนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น ชักไม่แน่เสียแล้ว ประชาชนอาจคิดอีกมุมหนึ่งว่า ถ้าเลือกผู้นำที่มาจากพวกเล่นตลกแบบนี้อีก บ้านเมืองอาจจะฉิบหายได้ อีกทั้งรัสเซียคงไม่ยอมให้ผู้นำคนนี้กลับสู่อำนาจอีก ถ้าข่าวที่ว่า รัสเซียช่วยให้ทรัมป์พลิกมาชนะฮิลลารี่ ได้ แล้วกับยูเครนแค่นี้ ทำไมรัสเซียจะทำไม่ได้
ที่สำคัญคือ รัสเซียไม่ใช่หัวเดียวกระเทียมลีบ เพราะรัสเซียมีจีนซึ่งเป็นอีกประเทศอภิมหาอำนาจของโลกเป็นพันธมิตรใกล้ชิด จีนเองก็ถูกสหรัฐรวมหัวกับพรรคพวกกลั่นแกล้ง เตะตัดขา อยู่เช่นกัน อีกทั้งสหรัฐและจีนต่างก็มีผลประโยชน์ขัดกันและประนีประนอมกันไม่ได้ในหลายพื้นที่ เช่น ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก เป็นต้น
เวลานี้ ประธานาธิบดีปูติน ตกเป็น “ผู้ต้องหา” หรือ เป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาของคนทั่วไป ส่วนผู้ร้ายตัวจริงจะถูกเปิดโปงทีหลังหรือไม่อย่างไร ต้องคอยดูกันต่อไป แต่ไม่น่าจะเกิดสงครามใหญ่ เพราะไม่มีประเทศสมาชิกนาโตประเทศใดที่จะอยากจะออกมาหาเรื่องเจ็บตัวจากการกระทำของเด็กคนหนึ่ง แต่ระบบการเงินของโลกคงวุ่นวายไประยะหนึ่งจากการที่สหรัฐและตะวันตกใช้มาตรการทางการเงินและธนาคารกดดันรัสเซีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับระบบการเงินของโลกด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายคนที่ผู้เขียนคุยด้วย เป็นกองเชียร์ปูตินเพราะเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นที่ปูตินต้องทำเช่นนี้ แต่ที่กองเชียร์ผิดหวังก็คือ คิดว่าทหารรัสเซียจะบุกยึดเมืองเคียฟได้ภายใน 3 วัน กลับทำไม่ได้ ทำให้กองเชียร์ค่อนข้างผิดหวัง อย่างไรก็ดี มีคนคิดในทางที่ดีว่า ถ้าปูตินจะทำก็ทำได้ แต่ในรอบแรกกดดันให้ผู้นำยูเครนมานั่งโต๊ะเจรจาที่เบลารุส แค่นี้ก็พอแล้ว
คำถามต่อมาว่า ถ้าเจรจาแล้วผู้นำยูเครนไม่ยอมตกลงตามความต้องการของรัสเซีย และเมื่อรัสเซียถูกตอบโต้ด้วยมาตรการแซงชั่นทางการเงิน การค้า ฯลฯ ปูตินจะทำอย่างไรต่อไป
ปูตินคงมีคำตอบไว้แล้ว
บทความโดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
————————————————————————————————————————————
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / เผยแพร่เมื่อ 3 มีนาคม 2565
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/677183