มีคำถามมาว่า สงครามในยูเครนมีโอกาสจะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ และไม่น่าจะพัฒนาไปสู่สงครามนิวเคลียร์เพราะประเทศคู่ขัดแย้ง คือ ยูเครนไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนรัสเซียซึ่งเป็นประเทศนิวเคลียร์ชั้นแนวหน้าก็คงมีความยับยั้งช่างใจ สหรัฐและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นประเทศนิวเคลียร์ก็คงไม่กล้านำมาใช้
แม้แต่รัสเซีย คู่ขัดแย้งโดยตรงกับยูเครน ซึ่งได้ประกาศเตรียมพร้อมทางนิวเคลียร์เต็มที่ ก็ประกาศเชิงป้องปรามเท่านั้น ในเชิงปรามสหรัฐว่าอย่าแม้แต่จะคิดใช้นิวเคลียร์ทีเดียวนะ ใครเริ่มต้นใช้ก็ตายกันทั้งโลก
อาวุธนิวเคลียร์เป็นอาวุธในเชิง “ป้องปราม” มากกว่า เพราะผู้นำประเทศนิวเคลียร์ต่างรู้ดีว่าหากนำมาใช้ก็ตายกันทั้งโลก คนที่มีคำสั่งให้ใช้ก็ตายด้วย ไม่เฉพาะตัวเองตายเท่านั้น ครอบครัวก็ตายด้วย ตายแล้วคงตกนรกขุมลึกที่สุดไม่ได้ผุดได้เกิด
จากสถิติของสถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์แห่งกรุงสต็อคโฮล์ม เปิดเผยว่า ในปี 2563 ห้าประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์คือ สหรัฐ รัสเซีย สหราชอาณาจักร์ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ มีหัวรบนิวเคลียร์รวมกัน 13,400 หัวรบ ซึ่งประจำการพร้อมที่จะใช้ทันที 3,720 หัวรบ และสำรองพร้อมใช้อีกประมาณ 1,800 หัวรบ
มากพอที่จะทำให้โลกทั้งใบพินาศ สิ่งที่มีชีวิตตายหมด ถ้าไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต เพราะไม่มีอะไรจะกิน
หลายคนกังวลว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุล่ะ หรือผู้นำชาตินิวเคลียร์คนใดคนหนึ่งเกิดบ้าขึ้นมา เรื่องนี้เขาคิดป้องกันไว้ก่อนแล้ว กว่าจะทำอย่างนั้นได้ต้องมีมาตรการป้องกันความบ้าระห่ำหรือการเสียสติของผู้นำ รวมทั้งการป้องกันนิ้วมือไปถูกปุ่มกดโดยบังเอิญ มีการล็อคกุญแจด้วยรหัสหลายชั้น
บางคนยังสงสัยต่อไปว่า หากเกิดแบบที่ปากีสถานโดนเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่อยู่ ๆ ก็มีจรวดความเร็วเหนือเสียงถูกยิงมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นคู่รักคู่แค้นกันมาตลอด ทหารปากีสถานได้แต่ยืนดูตาปริบ ๆ ดีแต่ว่าจรวดลูกนั้นไม่ได้ติดหัวรบใด ๆ อินเดียรีบแจ้งมายังปากีสถานว่า เป็น “ อุบัติเหตุซึ่งเกิดจากการซ่อมบำรุงตามปกติ ” คงหมายถึงว่า เป็นการตรวจและซ่อมบำรุงตามระยะเวลา แต่ทหารอินเดียบางคนอาจไปถูกปุ่มยิงเข้าโดยบังเอิญ (หรือตั้งใจแหย่ปากีสถาน) จนอินเดียต้องออกมาขอโทษขอโพยกันยกใหญ่ วันดีคืนดีอาจเกิดอุบัติแบบนี้จากฝั่งปากีสถานบ้างก็ได้
ประเทศที่ครอบครองระเบิดนิวเคลียร์มีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุหลายขั้นตอน ไม่ใช่อยู่ ๆ นิ้วมือก็กดไปถูกปุ่มจรวดนิวเคลียร์ให้บินออกจากที่ตั้งได้ นอกจากนั้น ยังมี “โทรศัพท์สายตรง” ที่ก่อนจรวดจะไปถึงเป้าหมาย ผู้นำประเทศสามารถรีบโทรศัพท์ไปบอกอีกฝ่ายหนึ่งได้ว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น และเขามีมาตรการที่จะทำลายหัวรบนิวเคลียร์ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ประชาชนอีกฝ่ายคงใจหายใจคว่ำไปตามๆ กัน
อาวุธนิวเคลียร์มีไว้เพื่อ “ การป้องปราม “ มากกว่า คือเอาไว้ขู่กันว่า อีกฝ่ายอย่าคิดทำอะไรนะ เพราะตูก็มีเหมือนกัน ถ้ากดปุ่มก็ตายด้วยกันทั้งหมด
เพราะฉะนั้น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนี้ เป็นเพียง “สงครามสั่งสอน” จากผู้ใหญ่คนหนึ่งที่สอนเด็กว่าอย่าซ่า อย่าชักศึกเข้าบ้าน เพราะถ้าเอาจริงแล้ว เพียงแค่รัสเซียใช้ศักยภาพโจมตีทางอากาศ กรุงเคียฟก็เรียบร้อยโรงเรียนยูเครนไปนานแล้ว แต่นี่แต่สั่งสอนเท่านั้น และส่งสัญญานบอกประเทศอื่นว่าอย่ามายุ่ง ซึ่งคนอื่นก็ไม่อยากยุ่ง เพียงแค่จะ “แหย่” รัสเซียเล่น
ยิ่งนาโตซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญ ที่มีสหรัฐและอังกฤษ คู่หูดูโอ เป็นหัวโจก ก็ไม่อยากล้ำเส้นไปมากกว่านี้ การทะเลาะกับรัสเซียเพราะเด็กน้อยยูเครนไม่ใช่เรื่องสนุก แค่ใช้เด็กน้อยแหย่รัสเซียก็พอแล้ว เพียงเพื่อโฆษณาชวนเชื่อทำลายชื่อเสียงของปูตินในเวทีสหประชาชาติและเวทีโลกอื่น ๆ
สหรัฐต้องการลดศักยภาพของรัสเซียทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า รวมทั้งสถานะในเวทีโลก เพราะระยะหลัง ปูตินเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง เมื่อมาจับมือกับสีจิ้นผิงด้วยแล้ว แสงออร่ายิ่งเด่นขึ้นมา ลดบารมีของประธานาธิบดีมือใหม่อย่างโจ ไบเดน ไปไม่น้อยทีเดียว
โจ ไบเดน ไปจับมือกับคู่หูดูโอเช่นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในฐานะเชื้อสายแองโกลแซ็กซอนด้วยกัน ซึ่งต่อสู้กับรัสเซียมาอย่างโชนในอดีตก็ไปไม่ไหวเพราะอังกฤษยังมีปัญหาปวดหัวมากมาย ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีก็ไม่อยากยุ่งด้วย ผู้นำอื่น ๆ ของนาโตก็ไม่อยากเอาเท้าราน้ำ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่นาโตไม่มีปฏิกิริยาต่อคำขอของประธานาธิบดียูเครนที่ขอให้ช่วยประกาศน่านฟ้ายูเครนเป็นเขตห้ามบิน และพิจารณารับยูเครนเป็นสมาชิกนาโตเป็นกรณีพิเศษและเร่งด่วน เพราะไม่ต้องกาเผชิญหน้าทางทหารกับรัสเซียโดยตรง
ประธานาธิบดียูเครนน่าจะรู้แล้วว่า ตัวเองถูกสหรัฐและนาโตหลอกใช้ให้เป็นตัวก่อกวนรัสเซีย แต่พอปูตินเอาจริง ตัวเองก็ถูกปล่อยเกาะ อยู่ดีไม่ว่าดีเที่ยวหาเรื่องและไปเชื่อคารมของอเมริกาและอังกฤษจนทำให้คนยูเครนเดือดร้อนไปหมด
แฟนคลับที่เชียร์ปูตินแสดงท่าทีฮึดฮัดเมื่อสงครามยืดเยื้อเพราะหวังว่า พี่ปูตินจะจัดการยูเครนให้อยู่หมัดได้โดยเร็วโดยใช้พลังทางอากาศเข้าถล่มกรุงเคียฟให้แหลกภายในสองสามวัน แต่ปูตินคงไม่อยากทำอะไรรุนแรงและเกิดแผลในใจมากไปกว่านี้ เพราะทั้งคนรัสเซียและยูเครนเป็นคนเชื้อสายสลาฟเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการกระทำของผู้นำตลก ต่อไปคนยูเครนจะเลือกผู้นำก็ต้องคิดสองชั้น ไม่ใช่เลือกคนพูดเก่ง พูดคร่อก พูดแล้วคนหัวเราะชอบใจ เพราะการบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องตลก นี่เป็นบทเรียนสำหรับประชาชนประเทศอื่นว่าอย่าเลือกคนชอบพูดตลกโปกฮาไปเป็นผู้นำประเทศ เพราะการบริหารประเทศกับการแสดงตลกคนละเรื่องกัน
คนยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส ใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย สะดวกกว่ามาก เสียดายที่นางแมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีซึ่งรู้จักกับปูตินดีเพราะทั้งสองอยู่ในอำนาจนานพอๆ กันโบกมือลาการเมืองไปเสียก่อน
บางคนบอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นแผนของอเมริกาที่จะขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดยุโรปได้เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ไม่มีใครรู้ แต่ที่ผ่านมานายทุนอเมริกันกับการเมืองแยกกันไม่ออก อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัสเซียขาดหายไป จีนได้เข้ามาช่วยเหลือ ซ้ำปูตินยังไปชวนผู้นำอินเดียมาร่วมลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอีกด้วย
เวลานี้ สหรัฐและโลกตะวันตกคงตระหนักแล้วว่า เรื่องผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติไม่ใช่ผูกขาดเฉพาะประเทศตะวันตกเท่านั้น ที่ใครมายุ่งไม่ได้ ในเมื่อสหรัฐไม่ต้องการให้สหภาพโซเวียตหรือรัสเซียเข้าไปวุ่นวายในละตินอเมริกาเพราะถือว่าเป็นประตูหลังบ้านของสหรัฐ และกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐโดยตรง ที่ครุสชอฟยอมถอนจรวดออกจากคิวบา วันนี้ ผู้นำสหรัฐก็ต้องเข้าใจเหมือนกันว่า อย่าไปยุ่งกับยูเครนซึ่งเป็นประตูหลังบ้านของรัสเซีย
อย่างน้อย ปูตินก็ได้แสดงให้โลกได้รับรู้แล้วว่า ผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติไม่ใช่เรื่องที่จะมาต่อรองกัน ซึ่งเป็น “สัจจะธรรม” วันนี้ โลกได้ยินเสียงของปูตินแล้ว หวังว่า โจ ไบเดนก็คงได้ยินเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเกมการเมืองโลกเท่านั้น แต่สหรัฐและอังกฤษก็เล่นเกมนี้ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง เพราะคนกลัวว่าจะเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา ชาวพุทธเตือนว่า ขอให้เล่นแบบมีสติ สัมปชัญญะ
กลับมาที่เมืองไทย เราเห็นว่า รัฐบาลได้แสดงท่าทีต่อปัญหานี้ทั้งในและนอกเวทีสหประชาชาติได้อย่างเหมาะสมแล้ว ไม่มากไป ไม่น้อยไป ยึดหลักการที่ประเทศหนึ่งไม่รุกรานอีกประเทศหนึ่ง เพราะไทยยืนยันหลักการนี้ตั้งแต่สมัยหลังสงครามอินโดจีนที่เวียดนามพร้อมจะบุกไทยเพียงรอไฟเขียวเท่านั้น ในขณะที่มหามิตรอเมริกันเปิดไปไหนต่อไหนแล้ว แต่จะให้เราประณามรัสเซียตามความต้องการของสหรัฐนั้นเราไม่เอาด้วย
ไม่ต้องแคร์นักการทูตสหรัฐและสหภาพยุโรปในไทยที่รวมหัวกันกดดันรัฐบาลได้ทำตามแนวทางที่สหรัฐและสหภาพยุโรป เพราะผลประโยชน์แห่งชาติของใครของมัน บางทีอาจสอดคล้องกัน บางทีไม่สอดคล้องกัน เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติทั้งระยะสั้น กลางและยาว เป็นสำคัญ สิ่งใดที่คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ ให้ทำตามนั้น อย่าไปทำตามแรงกดดันจากสหรัฐและทูตสหภาพยุโรป ที่เราเคยมีประสบการณ์ท่เคยถูก “เท” จากพวกนี้มาก่อนแล้วยามทีชาติเผชิญวิกฤติร้ายแรง ซึ่งพวกนี้ไม่เคยมาช่วยเราเลย มีแต่จะแย่งเอาไทยเป็นเมืองขึ้นสมัยล่าอาณานิคม หรือปล่อยเกาะไทยสมัยสงครามเวียดนามให้ไทยเผชิญชะตากรรมแต่ผู้เดียวทั้งที่ก่อนหน้านั้นไทยยอมสารพัดจนต้องเป็นอริกับเพื่อนบ้าน
สุดท้าย ขอยกสองมือเชียร์ท่าน กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและอดีตเอกอัคราชทูตประจำกรุงมอสโคว์ ที่พยายามชี้แจงจุดยืนของไทยกับสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งเชิญท่านไปพูดในเรื่องรัสเซียกับยูเครน โดยผู้เชิญไม่ให้เกียรติผู้รับเชิญเท่าที่ควร เหมือนกันเชิญไปเพื่อยำแบบ 10 รุม 1 ทำนองนั้น พอท่านชี้แจงกลับไม่ฟังเพราะไม่ตรงกับ “ธง” ที่ตัวเองตั้งไว้ บ่อยครั้งที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศถูกมองว่าเป็นเครื่องมือรับใช้ผลประโยชน์ของประเทศตะวันตก ที่มีอเมริกันและอังกฤษเป็นหัวโจก
สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศน่าจะเชิญท่านพี่ “ สุทิน วรรณบวร “ ผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ไปพูดคุยบ้าง ( หรือเชิญไปแล้วก็ไม่ทราบ ) เพราะท่านรู้จักใส้ทุกขดของคนเชิญดี สื่อต่อสื่อด้วยกันคงซัดกันมันหยด ( จบ )
บทความโดย ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
—————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 17 มี.ค.65
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/678428