“ชาวยูเครนวิงวอนอย่างสิ้นหวังให้ชาติตะวันตกปกป้องน่านฟ้าของเรา พวกเราร้องขอเขตห้ามบิน”
นี่คือคำร้องขอด้วยความสะเทือนใจของดาเรีย คาเรนยุก นักกิจกรรมและนักข่าวชาวยูเครนที่มีต่อนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อ 1 มี.ค.
เธอกล่าวพร้อมน้ำตาว่า “ผู้หญิงและเด็กชาวยูเครนต่างอยู่ในความหวาดกลัวอย่างหนัก เพราะระเบิดและขีปนาวุธกำลังตกลงมาจากฟ้า”
แม้ว่ารัสเซียเดินหน้าโจมตีพื้นที่ในเขตที่พักอาศัยของยูเครน และทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีสัญญาณเพียงน้อยนิดว่าชาติตะวันตกจะประกาศเขตห้ามบินในน่านฟ้ายูเครน เพื่อสกัดกั้นการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย
เขตห้ามบินคืออะไร
เขตห้ามบิน (no-fly zone) หมายถึง บริเวณน่านฟ้าที่มีข้อกำหนดว่าห้ามอากาศยานบางชนิดบินผ่าน
การกำหนดเขตห้ามบินอาจใช้เพื่อปกป้องพื้นที่ที่มีความเปราะบาง เช่น เขตพระราชฐาน หรือมีการประกาศใช้เป็นการชั่วคราวสำหรับการแข่งขันกีฬา หรือการชุมนุมขนาดใหญ่
ในด้านการทหาร เขตห้ามบินจะมีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศยานบินเข้าไปในน่านฟ้าหวงห้าม โดยทั่วไปเพื่อป้องกันการโจมตี หรือการสอดแนม และจะต้องมีการบังคับใช้โดยกองกำลังทหาร ซึ่งจะส่งผลให้จะมีการลาดตระเวน รวมทั้งการโจมตีระบบป้องกัน หรือยิงเครื่องบินที่ล่วงล้ำเข้าไปในเขตหวงห้าม
การประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครนจึงอาจหมายถึงการที่กองกำลังทางทหาร โดยเฉพาะองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต จะเข้าดูแล และจัดการโดยตรงกับเครื่องบินรัสเซียที่ล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้ายูเครน และยิงเครื่องบินเหล่านี้หากจำเป็น
ซากเครื่องบินทหารที่ถูกยิงตกในเมืองหลวงยูเครน
ทำไมชาติตะวันตกไม่ประกาศเขตห้ามบินในยูเครน
การที่กองกำลังของนาโตจะเข้าจัดการกับเครื่องบิน หรือยุทโธปกรณ์ของรัสเซียอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็วได้
พลอากาศเอกฟิลิป บรีดเลิฟ อดีตผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นยุโรป กล่าวกับนิตยสาร Foreign Policy ว่า “คุณไม่สามารถแค่พูดว่า ‘นี่คือเขตห้ามบิน’ คุณจะต้องมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ”
พลอากาศเอก บรีดเลิฟ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังพันธมิตรนาโตระหว่างปี 2013-2016 ระบุว่า ในขณะที่เขาเรียกร้องให้มีการกำหนดเขตห้ามบินในยูเครน แต่ก็ยอมรับว่าจะต้องมีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน
“มันเท่ากับสงคราม ถ้าเราจะประกาศเขตห้ามบิน เราจะต้องทำลายความสามารถของศัตรูในการยิงและล่วงล้ำเข้าเขตห้ามบินของเรา”
นายโทไบอัส เอลล์วูด ส.ส. อังกฤษ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมสนับสนุนแนวคิดเรื่องการกำหนดเขตห้ามบินบางส่วน หรือทั้งหมด โดยเรียกร้องให้นาโตเข้าจัดการเรื่องนี้ เนื่องจากมีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก และมีข้อกล่าวหาว่ารัสเซียได้ก่ออาชญากรรมสงคราม
แต่นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ปฏิเสธความเป็นไปได้ว่านาโตจะเข้าไปจัดการเรื่องนี้ โดยในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อ 1 มี.ค. เขากล่าวว่า “เราไม่มีความตั้งใจที่จะนำกำลังพลเข้าไปในยูเครน ไม่ว่าจะทางบกหรือทางอากาศ”
ขณะที่นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมของสหราชอาณาจักร กล่าวชัดเจนว่า อังกฤษจะไม่ช่วยบังคับใช้เขตห้ามบินเหนือยูเครน เพราะเครื่องบินรบรัสเซียจะยั่วยุให้เกิด “สงครามทั่วยุโรป” แต่อังกฤษจะให้การสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนแทน
สหรัฐฯ ก็ปฏิเสธการประกาศเขตห้ามบินที่ยูเครนด้วยเหตุผลเดียวกัน
นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับรัสเซียยังทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้สั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ “เตรียมพร้อมเป็นพิเศษ”
หลายฝ่ายมองว่าคำสั่งนี้ว่าเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลก มากกว่าความตั้งใจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง ๆ
ถึงแม้จะเป็นการสื่อเป็นนัยเพียงเล็กน้อยว่าอาจเกิดสงครามโลกที่จะลุกลามเป็นสงครามนิวเคลียร์ ก็ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะประกาศใช้เขตห้ามบินในยูเครนเป็นเรื่องที่แทบไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
การใช้เขตห้ามบินในอดีต
หลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกในปี 1991 สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้กำหนดเขตห้ามบินในอิรัก เพื่อป้องกันการโจมตีชนกลุ่มน้อย และกลุ่มทางศาสนาบางกลุ่ม แต่การกระทำดังกล่าวมีขึ้นโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
ในปี 1992 ช่วงที่เกิดความขัดแย้งบนคาบสมุทรบอลข่าน ยูเอ็นได้ผ่านมติที่ห้ามเครื่องบินทหารบินเข้าไปในน่านฟ้าบอสเนีย
เมื่อปี 2011 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้อนุมัติให้กำหนดเขตห้ามบิน อันเป็นส่วนหนึ่งของการแทรกแซงทางทหารในลิเบีย
โดยเขตห้ามบินในบอสเนีย และลิเบีย อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังนาโต
ที่มา : bbc / วันที่เผยแพร่ 3 มี.ค.65
Link : https://www.bbc.com/thai/international-60586526