หน่วยงานด้านไซเบอร์ของเยอรมนี ออกโรงแนะนำให้ผู้ใช้งานเลี่ยงการใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่มาจากรัสเซีย เพราะอาจถูกนำไปใช้โจมตีทางไซเบอร์ ภายใต้การจัดการของรัฐบาลรัสเซีย
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Bundesamt für Sicherheit in der Informationstechnik (BSI) หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศเยอรมนี ออกประกาศแจ้งเตือนผู้ใช้งานและองค์กรต่างๆ ที่ใช้งานซอฟต์แวร์แอนตีไวรัสของแคสเปอร์สกี (Kaspersky) ให้เปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทอื่นๆ
ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของเยอรมนี ระบุว่า บริษัทที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในรัสเซีย อาจถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรัสเซีย บังคับให้กระทำการแฮกระบบ หรืออาจถูกนำไปใช้เป็นตัวแทนในการเข้าไปโจมตีทางไซเบอร์อย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐาน
คำเตือนของหน่วยงานด้านไซเบอร์ของเยอรมนี เกิดขึ้นท่ามกลางการเข้าไปรุกรานยูเครนโดยรัสเซียที่รุนแรงมากขึ้น
ทางด้านแคสเปอร์สกี ออกมาปฏิเสธถึงการเชื่อมโยงดังกล่าว พร้อมกับระบุว่า แคสเปอร์สกีเป็นบริษัทเอกชน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐบาลรัสเซีย อีกทั้งพวกเขาบอกด้วยว่า คำเตือนของบีเอสไอ มีแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าด้านเทคโนโลยี
อย่างไรก็ดี แคสเปอร์สกี จะติดต่อไปยังบีเอสไอ เพื่อชี้แจงในเรื่องนี้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวด้วยว่า โครงสร้างพื้นฐานในการประมวลผลข้อมูลของบริษัทย้ายไปตั้งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ขณะที่ ข้อมูลของผู้ใช้งานชาวเยอรมนี ก็อยู่ที่ศูนย์ข้อมูลภายในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เช่นกัน
คงต้องกล่าวด้วยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แคสเปอร์สกี ถูกจับตามองจากชาติตะวันตกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2017 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ได้สั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลและรัฐบาลกลางลบและยุติการใช้งานผลิตภัณฑ์ของบริษัทแคสเปอร์สกี เนื่องจากกังวลว่า ข้อมูลความลับทางราชการอาจรั่วไหล
ประเด็นข้างต้น ยูจีน แคสเปอร์สกี ผู้ก่อตั้งบริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์แคสเปอร์สกี ปฏิเสธเสียงแข็งมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยตัวเขายืนยันอย่างหนักแน่นว่า รัฐบาลเครมลินไม่ได้มีอิทธิพลต่อบริษัทของเขา การกล่าวหาในช่วงที่ผ่านมาล้วนเป็นเรื่องเท็จ และอยู่ภายใต้ทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่มีมูลใดๆ.
——————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 มี.ค.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/tech/2343015