ความสามารถในการวิเคราะห์และคำนวณขั้นสูงของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial Intelligence – AI) ทำให้สมองกลสามารถตรวจพบโรคภัยไข้เจ็บชนิดใหม่ ๆ จากฐานข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งคิดค้นสูตรยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพได้หลากหลายชนิด
แต่ข้อเสียของเอไอในทางสุขภาพและการแพทย์ก็มีอยู่ หากมีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นการคิดค้นสูตรอาวุธเคมี-ชีวภาพ ที่อาจคร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมหาศาล
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ ทดลองเดินเครื่องปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า MegaSyn ซึ่งถูกออกแบบและฝึกฝนมา ให้มีความถนัดในการค้นหาโมเลกุลพิษที่จะทำลายโปรตีนในร่างกายมนุษย์ โดยแต่เดิมนั้นนักวิจัยใช้เอไอดังกล่าวเพื่อการคิดค้นตัวยาที่มีความปลอดภัย ทว่าในคราวนี้ พวกเขาทำการทดลองเพื่อให้มันค้นหาโมเลกุลพิษร้ายแรงที่สามารถจะนำมาทำเป็นอาวุธเคมี-ชีวภาพได้
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Machine Intelligence ระบุว่า เอไอ MegaSyn สามารถคิดค้นสูตรอาวุธเคมี-ชีวภาพที่มีความเป็นไปได้ในการนำไปผลิตจริงมากถึง 40,000 ชนิด ภายในเวลาเพียงแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของการใช้เอไอในทางที่ผิด ซึ่งนักวิจัยยุคใหม่ไม่ควรประมาท
รายงานวิจัยข้างต้นระบุว่า “เราใช้เวลานานหลายทศวรรษ พัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเอไอเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ทำให้ย่ำแย่ลง แต่เรากลับไม่เคยตระหนักถึงอันตรายของการใช้เอไอเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชั่วร้าย”
ในการทดลองครั้งนี้ เอไอได้รับคำสั่งให้ค้นหาโมเลกุลที่เป็นพิษร้ายแรงคล้ายสารทำลายประสาทวีเอ็กซ์ (VX) โดยนอกจากจะค้นหาสารอินทรีย์ซึ่งมีลักษณะดังกล่าวทีละชนิดจากฐานข้อมูลแล้ว เอไอยังสามารถทดลองผสมสารหลายชนิดเข้าด้วยกันด้วยการคำนวณ จนทำให้พบสูตรอาวุธชีวภาพเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าในเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับสิ่งที่มนุษย์สามารถคิดค้นได้ในเวลาเท่ากัน
สูตรอาวุธชีวภาพที่เอไอค้นพบในครั้งนี้ บางสูตรมีฤทธิ์ร้ายแรงยิ่งกว่าสารทำลายประสาทวีเอ็กซ์เสียอีก ทำให้ทีมผู้วิจัยต้องเก็บผลการทดลองบางส่วนไว้เป็นความลับ โดยจะไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ดร. ฟาบิโอ เออร์บินา ผู้นำทีมวิจัยจากบริษัทยา Collaborations Pharmaceuticals ของสหรัฐฯ ชี้ว่ากระบวนการเปลี่ยนเอไอที่ดีมีประโยชน์ให้กลายเป็นเอไอที่ชั่วร้ายนั้น สามารถทำได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากนัก
“ข้อพิสูจน์ของเราชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการตระหนักต่ออันตรายจากเอไอ ซึ่งสามารถจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด หากปราศจากการวางแนวทางกำกับ และออกกฎเกณฑ์ควบคุมให้เข้มงวดขึ้น” ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุป
———————————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 24 มี.ค.2565
Link : https://www.bbc.com/thai/international-60865243