‘เอ็ตด้า’ เสียงแข็งยันแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ ต้องจดแจ้งในไทย ฝ่าฝืน ผิดกฎหมายมีบทลงโทษหนัก ดึงโมเดลกฎหมายญี่ปุ่น-ยุโรป มาปรับใช้ต่างใช้กฎหมายนี้แล้ว
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า กล่าวว่า (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นผู้ให้บริการผิดกฎหมาย ไม่มีธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อต้องการมาลงทุนในประเทศไทยก็ต้องดำเนินธุรกิจตามกฎหมายไทย และหากไม่จดแจ้งคนไทยก็ไม่ควรใช้บริการของแพลตฟอร์มต่างชาติ หรือ แพลตฟอร์มใดๆก็ตามที่ทำผิดกฎหมาย
“หากไม่ทำจะมีตั้งคณะกรรมการร่วม โดยมีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน นอกจากนี้ยังมีกรรมการที่มาจากทั้งตัวแทนภาครัฐและเอกชนกว่า 20 คน ในการร่วมกันกำหนดเงื่อนไขและส่งหนังสือไปยังสถานทูตในประเทศที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติตั้งสำนักงานใหญ่อยู่เพื่อเรียกร้องให้ปฏิบัติตามกฏหมายไทยด้วย”
เขา กล่าวว่า เอ็ตด้ามีหน้าที่ตั้งแต่ การจดแจ้ง,การขึ้นทะเบียน และการอนุญาต แต่กฎหมายฉบับนี้เอ็ตด้าให้ดำเนินการตามอำนาจเพียงการจดแจ้งเท่านั้นซึ่งนับว่าไม่ได้เป็นภาระของผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยเฉพาะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติที่ต้องมีการแจ้งรายได้ประจำปีต่อสำนักงานตามกม.นั้น จำเป็นต้องปฏิบัติเพราะจัดอยู่ในมาตรา 32 เรื่องความเสี่ยง โดยความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์เป็น หนึ่งในความเสี่ยงที่ต้องแจ้งด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการคนไทย ในการสะท้อนถึงความเสี่ยงต่างๆที่จะกระทบต่อคนไทย
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ ได้นำกฎหมายที่บังคับใช้ในญี่ปุ่นและยุโรปมาปรับใช้ โดยเฉพาะในประเทศยุโรปมีการใช้กับแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสและเสริซเอนจิ้น มาแล้ว 2 ปี และ กำลังจะประกาศใช้เพิ่มเติมภายในไม่เกินเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ขณะที่ประเทศไทยเองต้องมีกฏหมายนี้อย่างเร่งด่วน
เพราะที่ผ่านมาปัญหาการฉ้อโกงทางออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น สถิติจากศูนย์ร้องเรียน 1212 พบว่ามีเกือบ 50,000 เคสที่ร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งบางเคสก็จัดการได้ และบางเคสก็ต้องใช้กม.อื่นๆหรือหน่วยงานอื่นๆเข้ามาเป็นกลไกในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน
สำหรับลักษณะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.บุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
2.นิติบุคคลมีรายได้ในประเทศไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี และ
3.ผู้มีจำนวนคนใช้งานในไทยเฉลี่ยเกิน 5,000 รายต่อเดือน ดังนั้นผู้ประกอบการออนไลน์รายเล็กไม่เข้าข่ายจดแจ้งตามกม.นี้
ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศที่มีลักษณะดังนี้ ได้แก่ แสดงผลเป็นภาษาไทย,จดทะเบียนชื่อโดเมน .th หรือ .ไทย ,กำหนดให้ชำระเงินเป็นเงินบาท,ให้ใช้กฎหมายไทยแก่ธุรกรรม,จ่ายค่าตอบแทนแก่ เซิร์ซ แอนจิ้น เพื่อช่วยให้ยูสเซอร์ในไทยเข้าถึงบริการ,จัดตั้งสำนักงาน หน่วยงาน หรือมีบุคลากรเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือยูสเซอร์ในไทย ต้องแจ้งสำนักงานก่อนประกอบธุรกิจและต้องมีการแต่งตั้งผู้ประสานงานในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม หากเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่และที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องมีการประเมินความเสี่ยง และมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงเสนอต่อสำนักงานทุกปี เพิ่มเติมด้วย ซึ่งกม.ได้กำหนดผู้ที่จัดเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่นั้นต้องมีรายได้จากการให้บริการในไทย แต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาท ต่อปี หรือ รวมทุกประเภทบริการเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ใช้งานแอคทีฟต่อเดือนเกิน 7 ล้านคน หรือ 10% ของจำนวนราษฎร
บทความโดย โต๊ะข่าวไอที ดิจิทัล
—————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 17 มี.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/994130