ภาพถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) แสดงให้เห็นโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทโรงงานเหล็กและเหล็กกล้า อาซอฟสตัล ที่อยู่ด้านหลังของพวกอาคารซึ่งได้รับความเสียหายจากการสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย ในเมืองมาริอูโปล เมืองท่าทางตอนใต้ของยูเครน
การปฏิบัติการครั้งนี้ของรัสเซีย มุ่งโฟกัส (อย่างน้อยก็จวบจนถึงเวลานี้) แทบจะอย่างหมดสิ้นทีเดียวอยู่ที่เขตดอนบาสส์ในภาคตะวันออกของยูเครน โดยที่เวลานี้ ในลูฮันสก์ พื้นที่กว่า 93% ได้รับการ “ปลดแอกแล้ว” ขณะที่ในโดเน็ตสก์ พื้นที่เกือบๆ 60% อยู่ใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายรัสเซีย และการต้านทานที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองท่ามาริอูโปล ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าจะถูกกวาดล้างไปภายใน 1 สัปดาห์
คณะเสนาธิการใหญ่ของกองทัพรัสเซีย ออกมาแถลงสรุปแบบเจาะลึกเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางทหารเบื้องหลังการปฏิบัติการพิเศษในยูเครน ซึ่งกำลังส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่จะลดกิจกรรมทางทหารในเขตเคียฟ อันเป็นบริเวณเมืองหลวงของยูเครน และเขตเชอร์นิฮิฟ ทางภาคเหนือของยูเครน
กล่าวโดยภาพรวม ข้อความที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียกำลังส่งออกมาก็คือว่า การปฏิบัติการครั้งนี้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ประการแล้ว ได้แก่ การตรึงกองกำลังอาวุธของยูเครนและทรัพย์สินทางทหารเอาไว้ในเขตเคียฟ และประการที่สอง การป้องกันไม่ให้กองกำลังยูเครนเคลื่อนย้ายจากเขตต่างๆ ทางภาคตะวันตกและภาคกลางไปยังภาคตะวันออก “ด้วยการใช้ฐานะครอบงำทางอากาศอย่างสัมบูรณ์” และด้วยการใช้อาวุธสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูง
โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย กล่าวเอาไว้ดังนี้ “สายการติดต่อสื่อสารสำคัญๆ ทั้งหมด รวมทั้งการส่งกำลังบำรุงและกำลังกองหนุน ต่างตกอยู่ใต้การควบคุมอย่างเต็มที่แล้ว ระบบการป้องกันทางอากาศ โครงสร้างพื้นฐานด้านสนามบิน คลังสัมภาระทางทหารสำคัญๆ ศูนย์กลางการฝึกทหารและนักรบรับจ้าง ของยูเครนถูกทำลายแล้ว … ดังนั้น ภารกิจหลักๆ ทั้งหมดของกองทัพรัสเซียในทิศทางเคียฟและทิศทางเชอร์นิคอฟ จึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว”
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พวกนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกและสื่อตะวันตกส่วนใหญ่ต่างหลงทางจับท้องเรื่องสำคัญไม่ได้มาตั้งแต่วันที่ 1 (ของการบุกคราวนี้) ด้วยการประทับตราใส่การปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียคราวนี้ว่า เป็น “ความล้มเหลว” พวกเขากระทำความผิดพลาดโดยพื้นฐานเลย จากการวินิจฉัยเอาไว้ล่วงหน้าว่านี่จะเป็น “การรุกรานของรัสเซีย” ขณะที่มอสโกทำเครื่องหมายสีแดงเอาไว้อย่างชัดเจนมากว่าการบุกของตนคราวนี้คือ “การปฏิบัติการพิเศษ”
การรุกรานนั้นเรียกร้องให้เกิดผลลัพธ์ที่มองเห็นได้ในเชิงปริมาณ ขณะที่การปฏิบัติการพิเศษมีพลวัตการขับเคลื่อนในตัวมันเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมากลายเป็นการรวมกันของการฟื้นคืนเขตดอนบาสส์ให้กลับมาสู่เส้นเขตแดนดั้งเดิมของมัน ความมั่นคงปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชากรชาวรัสเซีย การกำจัดกองกำลังนาซีใหม่อย่างเป็นระบบ โดยที่กองกำลังเหล่านี้แหละเที่ยวอาละวาดในภาคส่วนนั้นของยูเครนตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ด้วยความสนับสนุนของรัฐยูเครนและการกระตุ้นส่งเสริมจากพวกหน่วยข่าวกรองตะวันตก ตลอดจนการสมรู้ร่วมคิดของพวกผู้กุมอำนาจในกรุงเคียฟ และตลอดช่วงเวลาของการปฏิบัติการพิเศษนี้ ฝ่ายรัสเซียก็ไม่หลงลืมที่จะกัดกร่อนทำลายทรัพย์สินทางทหารและสมรรถนะการสู้รบของยูเครนในภาพรวม
สิ่งที่ปรากฏออกมาในวันนี้ก็คือ มีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับ “การปฏิบัติการพิเศษ” นี้ และนี่หมายรวมไปจนถึงเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ด้วย การปฏิบัติการครั้งนี้ของรัสเซีย มุ่งโฟกัส (อย่างน้อยก็จวบจนถึงเวลานี้) แทบจะอย่างหมดสิ้นทีเดียวอยู่ที่เขตดอนบาสส์ในภาคตะวันออกของยูเครน โดยที่เวลานี้ใน ลูฮันสก์ พื้นที่กว่า 93% ได้รับการ “ปลดแอกแล้ว” ขณะที่ใน โดเน็ตสก์ พื้นที่เกือบๆ 60% อยู่ใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายรัสเซีย และการต้านทานที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองท่ามาริอูโปล ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าจะถูกกวาดล้างไปภายใน 1 สัปดาห์
สิ่งที่บรรยายเอาไว้ข้างต้นนี้ แน่นอนล่ะ เป็นการอ้างอิงถึงการปลดแอกพื้นที่ทั้งหมดที่เคยเป็นของสาธารณรัฐแห่งดอนบาสส์ทั้ง 2 มาตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2014 (แต่ได้หดหายไปราว 2 ใน 3 ตลอดช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา จากการปฏิบัติการด้านความมั่นคงที่ได้รับคำสั่งจากกรุงเคียฟ)
มีปัจจัยหลายหลากที่ทำให้การปฏิบัติการคราวนี้เป็นภารกิจที่ยากลำบากมาก โดยที่สำคัญๆ ก็คือ การที่กองกำลังอาวุธของฝ่ายยูเครนในดอนบาสส์ มีส่วนประกอบของพวกนาซีใหม่แฝงฝังอยู่อย่างหนาแน่นมากในหน่วยทหารทุกๆ หน่วย การปิดล้อมชุมนุมชนต่างๆ ไม่ให้ฝ่ายรัสเซียบุกเข้าไปได้ง่ายๆ การใช้คนชาติพันธุ์รัสเซียมาเป็น “โล่มนุษย์”
เหนือสิ่งอื่นใดเลยก็คือ กองกำลังอาวุธของฝ่ายยูเครนอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมสู้รบ โดยที่มีหน่วยทหารชั้นเยี่ยมที่สุดของพวกเขาบางหน่วยถูกส่งเข้าไปในเขตนี้เรียบร้อยแล้วในตอนที่การปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้พวกเขาได้มีการวางแผนการลับของพวกเขาเองเอาไว้แล้วสำหรับเปิดการปฏิบัติการรุกด้วยกลุ่มโจมตีต่างๆ ในเขตดอนบาสส์ภายในสิ้นเดือนดังกล่าว
แน่นอนทีเดียวว่า กองกำลังอาวุธของฝ่ายยูเครนยังคงมีกำลังจำนวนมากชุมนุมอยูในพื้นที่ตรงนี้ เวลาเดียวกันฝ่ายทหารรัสเซียก็ยังคงดำเนินการโจมตีอย่างแม่นยำใส่เป้าหมายทางทหารต่างๆ ด้วยเจตนาที่จะป้องกันไม่ให้กำลังหนุนทั้งหลายไปถึงกองกำลังฝ่ายยูเครน ขณะที่การสงครามใหญ่ทำท่าจะระเบิดขึ้นมาในเร็ววันนี้ในดอนบาสส์ ซึ่งกองกำลังของยูเครนจำนวนหลายหมื่นคนกำลังเผชิญกับการถูกโอบล้อม
ด้วยเหตุนี้ ระหว่างวันที่ 2 เมษายน กองบินเพื่อการปฏิบัติการทางยุทธวิธีของรัสเซีย จึงสามารถโจมตีใส่ทรัพย์สินทางทหารของกองทัพยูเครนได้ 28 จุด ในจำนวนนี้เป็นคลังแสงอาวุธประเภทขีปนาวุธและปืนใหญ่ ตลอดจนเครื่องกระสุน 2 แห่ง เช่นเดียวกับพื้นที่ซึ่งเป็นจุดชุมนุมอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของยูเครนอีก 23 แห่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนามบินทหาร มีร์โกร็อด ในเขตโปลตาวา ที่อยู่ทางภาคกลางของยูเครน และถือเป็นฮับสำคัญทางยุทธศาสตร์ ได้ถูกทำลายจนใช้การไม่ได้ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบของยูเครนจำนวนมากซึ่งถูกพบอยู่ในที่จอดรถหลายแห่งที่ถูกอำพรางเอาไว้ รวมทั้งคลังเชื้อเพลิงและคลังแสงอาวุธของอากาศยานได้ถูกทำลาย
เวลาเดียวกัน พล.ต.อีกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ยังประกาศเมื่อวันเสาร์ (2 มี.ค.) ว่า ในการโจมตีด้วยความแม่นยำสูงโดยใช้ขีปนาวุธพื่อการปฏิบัติการทางยุทธวิธีแบบ “อิสคานเดอร์” ต่อกองบัญชาการป้องกันในเมืองคาร์คิฟ ในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) “พวกชาตินิยมและพวกนักรบรับจ้างจากประเทศตะวันตกจำนวนกว่า 100 คน” ได้รับการยืนยันว่าถูกสังหาร
กล่าวโดยภาพรวม การปฏิบัติการของรัสเซียในปัจจุบันรวมศูนย์อยู่ที่การรวมตัวจัดกำลังกันใหม่และการเพิ่มเติมยุทธสัมภาระให้แก่หน่วยทหารต่างๆ ของฝ่ายตนในดอนบาสส์ ขั้นตอนต่อไปในการรุกของรัสเซียในเขตภาคตะวันออกของยูเครนนี้ จะเชื่อมโยงกับการปลดแอกเมืองมาริอูโปลอย่างสมบูรณ์ การละลายการต้านทานที่ยังหลงเหลืออยู่ในมาริอูโปลนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากจะทำให้กองกำลังสำคัญๆ มีอิสระ สามารถเคลื่อนพลไปเข้าร่วมการรุกที่กำลังจะเกิดขึ้นในดอนบาสส์
(ภาพจากแฟ้ม) บริษัทโรงงานเหล็กและเหล็กกล้า อาซอฟสตัล (Azovstal Iron & Steel Works) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมาริอูโปล ถือเป็นหนึ่งในโรงงานเหล็กและเหล็กกล้าขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป
เวลานี้การต้านทานในมาริอูโปลได้หดลดลงเหลือแค่เพียงศูนย์รวมหลักๆ 3 จุด ได้แก่ เขตกลางเมือง โรงงานอาซอฟสตัล และพื้นที่ท่าเรือ พวกกองกำลังนาซีใหม่จำนวนมากรวมพลกันอยู่ที่โรงงานอาซอฟสตัล ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานเหล็กและเหล็กกล้าขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป โดยมีทั้งกองบัญชาการทหาร โกดัง และค่ายพัก ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่ออพยพวกผู้บังคับบัญชานาซีใหม่โดยทางเฮลิคอปเตอร์ได้ถูกขัดขวาง กองกำลังฝ่ายรัสเซียสามารถยิงเฮลิคอปเตอร์ตก 2 ลำในวันเสาร์ (2 เม.ย.)
กองทหารชาวเชชเนียซึ่งเวลานี้ถูกส่งมาอยู่ใกล้ๆ โรงงานอาซอฟสตัล กำลังเตรียมตัวเพื่อเข้าโจมตี รามซาน คาดีรอฟ ประธานของสาธารณรัฐเชชเนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ได้ยื่นคำขาดต่อพวกที่ยังหลงเหลืออยู่ของกรมทหารอาซอฟ ดังนี้ “ผมเสนอแนะให้พวกเขาประเมินทรัพยากรที่ยังหลงเหลืออยู่ของพวกเขาอย่างจริงจังและยอมแพ้เสียเถอะ คุณยังสามารถที่จะยอมแพ้ได้ในวันนี้ ถ้านี่ยังไม่เกิดขึ้นมา รอจนถึงวันพรุ่งนี้ วันที่ 2 เมษายน พวกนักรบทั้งหมดจะถูกทำลาย”
โดยภาพรวม แนวหน้าบริเวณใกล้ๆ กับกรุงเคียฟและเมืองเชอร์นิฮิฟ ที่กำลังมีการถอยร่นนั้น เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการรวมกลุ่มจัดกำลังกันใหม่ของกองทหารรัสเซีย ฝ่ายรัสเซียไม่ได้วางแผนการที่จะบุกถล่มเข้าไปยังตัวเมืองเคียฟโดยตรงในอนาคตอันใกล้นี้ การจัดกำลังกันใหม่เช่นนี้อาจจะมองว่าเป็นการรีบวิ่งขึ้นไปรอรับการปฏิบัติการรุกอย่างดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้นในภาคตะวันออก
ในวันพุธ (30 มี.ค.) พล.ต.อีกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย แถลงว่า กองทัพรัสเซียกำลังรวมกลุ่มจัดกำลังกันใหม่เพื่อ “การปฏิบัติการอย่างเข้นข้นยิ่งขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ที่มีลำดับความสำคัญสูง และเหนือสิ่งอื่นใดเลย เพื่อจบการปฏิบัติการสำหรับการปลดแอกดอนบาสส์อย่างสมบูรณ์” ทั้งนี้ แน่นอนทีเดียวว่า ระยะถัดไปของการปฏิบัติการพิเศษจะมีความหมายโดยนัยที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งสำหรับการบรรลุถึงข้อตกลงสันติภาพในท้ายที่สุด
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/donbass-still-remains-key-battleground/
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 4 เม.ย.65
Link :https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6981040