อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ แนะสังคมตระหนักภัย “การก่อการร้ายในสังคมเมือง” สร้างองค์ความรู้รับมือเมื่อเกิดเหตุ เสนอรัฐลงทุนด้านความมั่นคง
แม้ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาด สภาวะสงคราม และราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานรายวัน จะเป็นปัญหาที่ตรึงความสนใจของผู้คนจำนวนมากเนื่องจากเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างหนัก แต่ก็อย่าได้ละเลย “การก่อการร้าย” ที่ยังเป็นภัยใกล้ตัวผู้คนในสังคมเมือง โดยเฉพาะท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง
ทั้งนี้ จากดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก ปี 2565 (2022 Global Terrorism Index) ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 163 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วถึง 3 อันดับ นั่นหมายความว่าประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายในระดับที่ค่อนข้างสูงทีเดียว (ที่มา: https://www.visionofhumanity.org/maps/global-terrorism-index/#/)
“ในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง เราควรตระหนักถึงอันตรายจากการก่อการร้าย และมีความรู้เพียงพอที่จะระแวดระวังตัวให้รอดจากเหตุร้าย และช่วยให้สังคมเมืองของเราปลอดภัยมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการ “รอบตัวเรา” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้
ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
การก่อการร้ายต่างจากอาชญากรรมอย่างไร
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า แต่ละสังคมให้นิยามและความหมายของ “การก่อการร้าย” แตกต่างกัน และไม่อาจหานิยามที่เป็นสากลกับเรื่องนี้ได้ แต่สิ่งที่พอจะชี้ได้ว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเข้าข่าย “การก่อการร้าย” ก็คือ “แรงจูงใจในการก่อเหตุ”
“หากแรงจูงใจของการก่อเหตุเป็นเรื่องส่วนตัว แม้ว่าจะรุนแรงก็ยังไม่อาจนับว่าเป็นการก่อการร้าย อย่างเช่น กรณีเด็กนักเรียนกราดยิงเพื่อนๆ และครูในโรงเรียน แม้จะรุนแรงแต่ก็อาจจะไม่ใช่การก่อการร้าย แต่หากพบว่านักเรียนคนนั้นติดตามเว็บไซต์ของขบวนการก่อการร้าย แล้วลุกขึ้นมากราดยิงเพื่อนๆ อันนี้อาจเข้าข่ายการก่อการร้าย”
“วัตถุประสงค์” ในการก่อเหตุจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ “ผู้ก่อการร้าย” แตกต่างจาก “อาชญากร” ศ.ดร.สุรชาติ ขยายความว่า อาชญากรรม เป็นความรุนแรงที่ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง แต่มีเป้าประสงค์ที่ทรัพย์สินหรือตัวบุคคล ในขณะที่การก่อการร้ายเป็นการก่อเหตุรุนแรงโดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือเป็นการก่อเหตุโดยสมาชิกของขบวนการก่อการร้าย เช่น เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน หรือเหตุที่กลุ่มโบโกฮารามลักพาตัวเด็กหญิงในไนจีเรียกว่า 300 คน เป็นต้น
“ในอดีต ผู้ก่อการร้ายจะอยู่ในขบวนหรือเป็นสมาชิกของขบวนการก่อการร้าย แต่ปัจจุบัน มีผู้ก่อเหตุในลักษณะเป็นผู้ปฏิบัติคนเดียว (lone actor) ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในขบวนการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ติดตามข้อมูลของขบวนการและได้รับอิทธิพลทางความคิดจากขบวนการ แล้วลุกขึ้นมาลงมือกระทำการด้วยตัวเอง”
รูปแบบและเครื่องมือการก่อการร้าย
ความรุนแรงคือเครื่องมือของการก่อการร้าย ซึ่งอาจกระทำได้หลายรูปแบบและวิธีการ “ทุกอย่างเป็นเครื่องมือก่อเหตุความรุนแรงได้หมด มีด ปืน แต่พื้นฐานคือวัตถุระเบิด” อาจารย์สุรชาติ กล่าว
ในปัจจุบัน การตรวจตราวัตถุระเบิดอย่างเข้มงวดทำให้การก่อเหตุด้วยระเบิดเปลี่ยนแปลงไป เช่น แทนที่จะเอากระเป๋าที่มีวัตถุระเบิดไปวางทิ้งไว้ในสถานที่หนึ่ง ก็อาจใช้ระเบิดฆ่าตัวตายติดที่บุคคล นอกจากนี้ ก็มีการใช้ยานพาหนะพุ่งเข้าใส่ฝูงชน อย่างที่เกิดเป็นเหตุ 11 กันยายน หรือเหตุที่มีผู้ขับรถพุ่งเข้าใส่ผู้คนที่ออกมาฉลองวันชาติฝรั่งเศส เมื่อปี 2559 เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังมีอาวุธเคมีและชีวภาพที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือการก่อการร้ายด้วยเช่นกัน อย่างที่เคยเกิดเหตุโจมตีรถไฟใต้ดินเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยก๊าซซาริน เมื่อปี 2538 หรือการใช้เชื้อชีวภาพ เช่น “แอนแทร็กซ์” ใส่ในซองจดหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2544
อย่างไรก็ดี อาจารย์สุรชาติ เชื่อว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีขบวนการก่อการร้ายใดที่มีศักยภาพมากพอที่จะผลิตอาวุธทางชีวภาพและเคมีในระดับที่จะก่อเหตุในวงกว้าง
รู้ระวังเหตุก่อการร้าย
การก่อการร้ายมักเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองและการระมัดระวังตัวเป็นเรื่องยาก แนวทางที่พอจะพาตัวเองให้รอดจากภัยก่อการร้ายได้คือการสังเกตและระแวดระวังสิ่งรอบตัว
“เมื่อเห็นอะไรผิดแปลก ผิดปกติ ผิดที่ผิดทาง ห้ามแตะต้องโดยเด็ดขาด” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวเตือน พร้อมกล่าวเสริมว่าสังคมควรมีองค์ความรู้ในการรับมือกับการก่อการร้าย เช่น เมื่อถูกวางระเบิดหรือถูกขู่ว่าจะวางระเบิดจะทำอย่างไร เมื่อเกิดเหตุขึ้น จะทำอย่างไร เป็นต้น
“เราต้องเรียนรู้และฝึกการอพยพคน การเตรียมจัดการปัญหาในสำนักงาน หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าสัญญาณนั้นจะไปกระทบระเบิดแล้วเกิดเป็นตัวจุดชนวนเองหรือไม่”
ภาครัฐเองต้องตระหนักถึงภัยนี้และลงทุนด้านความมั่นคงสำหรับภัยก่อการร้ายสมัยใหม่ไว้ด้วย
“สังคมเมืองมีความเปราะบางในตัวเอง เมืองใหญ่ไม่เฉพาะกรุงเทพมหานคร ล้วนมีช่องโหว่ที่ให้ผู้ก่อเหตุใช้เป็นเงื่อนไขในการก่อการร้ายได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการลงทุนของภาครัฐในด้านความมั่นคงจึงจำเป็น” อ.สุรชาติกล่าว ทิ้งท้าย
ที่มา : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / วันที่เผยแพร่ 31 มี.ค.65
Link : https://www.chula.ac.th/highlight/69826/