ขณะนี้นานาชาติกำลังจับตาท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของยูเครนในตอนนี้ เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญมาก 2 อย่างที่อาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนของสงครามครั้งนี้
เรื่องแรก คือ “ประธานาธิบดีไบเดน” ขอให้สภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณด้านการทหารก้อนใหญ่อีกก้อน เพื่อช่วยเหลือยูเครนในการรบ
และเรื่องที่สอง คือ สภาคองเกรสมีมติอย่างท่วมท้นให้ฟื้นกฎหมายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นกฏหมายที่มีส่วนให้อังกฤษเอาชนะกองทัพนาซีได้
สภาคองเกรส หรือรัฐสภาของสหรัฐฯ ได้ลงมติให้มีการรื้อฟื้นกฎหมายที่มีชื่อว่า Lend and Lease หรือ “กฎหมายให้ยืมและให้เช่าเพื่อการป้องกันประชาธิปไตยยูเครนปี 2022”
โดยกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบอย่างท่วมท้นอยู่ที่ 417 ต่อ 10 เสียง ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้คือ ส่งกฎหมายนี้ให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนาม และประกาศใช้ ซึ่งหลังจากที่กฎหมายนี้ได้รบการลงนามจากประธานาธิบดีเรียบร้อยแล้ว
สหรัฐฯ จะสามารถให้ประเทศยูเครน หรือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการทำสงคราม เช่น โปแลนด์ สามารถยืมหรือเช่าอาวุธจากสหรัฐฯ ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาผ่านขั้นตอนของทางภาครัฐ
ด้านแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ กล่าวว่า ท่ามกลางสงครามที่ดำเนินอยู่ กฎหมายนี้ช่วยยูเครนพิทักษ์ชีวิตผู้คนได้
โดยกฏหมาย “ยืมและให้เช่าอาวุธ” เป็นกฎหมายที่สหรัฐฯ เคยประกาศใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในคราวนั้นสหรัฐฯ ส่งอาวุธให้สหราชอาณาจักรใน สงครามที่เรียกว่า บลิตซ์ครีก (Blitzkrieg) หรือสงครามสายฟ้าแลบ
บลิตซ์ หรือสงครามบลิตซ์ เป็นชื่อเรียกเหตุการณ์ทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศเยอรมันใส่สหราชอาณาจักรในช่วงเดือนกันยายน ปี 1940 ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 1941 ทำให้สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแฟรงก์คลิน ดี รูสเวลต์ ได้ผ่านร่างกฎหมาย Lend and Lease ในเดือนมีนาคม ปี 1941
โดยสหรัฐฯ สามารถส่งกระสุน อาวุธ รถถัง เรือรบ และเงินจำนวนกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปช่วยเหลือสหราชอาณาจักรได้ โดยไม่กระทบกับสถานะความเป็นกลางของสหรัฐฯ ที่เคยประกาศไว้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และการผ่านกฎหมายนี้ท่ามกลางสงครามยูเครน ใ
นทางกฎหมายสามารถตีความได้ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เปิดศึกกับรัสเซียโดยตรง เหมือนกับที่สหรัฐฯ ไม่ได้เปิดศึกกับเยอรมนีโดยตรงในช่วงปี 1941
สิ่งที่น่าสนใจในคราวนี้ คือ การที่สภาคองเกรสให้การสนับสนุนกฎหมายนี้อย่างท่วมท้น มติที่เกือบเป็นเอกฉันท์ ระหว่างพรรคเดโมเครตและรีพับลิกันในสภา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยมากในการเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ชัดเจน
หนึ่งใน สส. ของพรรครีพับลิกัน ระบุว่า นี่คือช่วงเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สภาสหรัฐฯ จะปกป้องยูเครนเหมือนที่สหรัฐฯ เคยปกป้องอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2
เหนือจากการที่สภาคองเกรสฟื้นกฎหมายที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถส่งความช่วยเหลือไปยังยูเครนได้เร็วขึ้นแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือ การที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เรียกร้องรัฐสภาอนุมัติงบประมาณ 33,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยยูเครนทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ และมนุษยธรรม
โจ ไบเดน กล่าวว่า ราคาในการต่อสู้ของยูเครนนั้นแพง แต่ไม่แพงเท่าการที่สหรัฐฯ ยอมแพ้ต่อการรุกรานของรัสเซียที่เกิดขึ้น สหรัฐฯ ต้องไม่นิ่งเฉยและสนับสนุนยูเครน
ทั้งนี้งบประมาณ 33,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งออกเป็นการช่วยเหลือทางทหารประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 7 แสนล้านบาท การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ 8,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 260,000 ล้านบาท และ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอีก 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท
โดยเงินในส่วนนี้มาจากการประเมินจากค่าใช้จ่ายด้านสงครามของยูเครนนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2022 เมื่อนำจำนวนเงินที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือยูเครนตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้จะพบว่า สหรัฐฯ ได้มอบความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนไปแล้วถึง 14,000-15,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5 แสนล้านบาท
ไบเดน ระบุอีกว่า สหรัฐฯ ไม่เคยมีเป้าหมายในการทำสงครามกับรัสเซีย เพียงแต่กำลังช่วยยูเครนในการปกป้องตนเองจากการรุกรานของรัสเซียเท่านั้น
ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านกฎหมาย Lend and Lease และขอมติเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่ยูเครน กองทัพสหรัฐฯ ก็ยังคงการส่งอาวุธหนักอย่างต่อเนื่อง โดยมีภาพที่ทหารสหรัฐฯ ในฐานทัพอากาศที่รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังลำเลียงอาวุธหนักอย่างปืนใหญ่วิถีโค้งรุ่นเอ็ม 198 ฮาวอิตเซอร์ ส่งให้ยูเครน เนื่องจากต้องการให้ยูเครนใช้เพื่อรับมือกับปฏิบัติการทางการเฟส 2 ของรัสเซีย
แน่นอนว่าการที่สหรัฐฯ ออกมาสนับสนุนยูเครน แม้ว่าจะเป็นแบบทางอ้อม ได้สร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซียเป็นอย่างมาก เมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวว่า นี่คือความพยายามในการขัดขวางปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซีย หากใครก็ตามตั้งใจที่จะแทรกแซง รัสเซียจะโต้กลับแบบสายฟ้าฟาดแน่นอน
นอกจากนี้ ผู้นำรัสเซียยังส่งสัญญาณเตือนว่ารัสเซียมีทุกอย่างสำหรับสงครามนี้ รัสเซียจะใช้พวกมันถ้าจะเป็น
เลขา UN และ NATO ชี้สงครามยูเครนอาจยาว
เมื่อดูจากท่าทีของทุกฝ่ายที่พร้อมสู้สุดตัวในสงครามครั้งนี้ ประกอบข้อตกลงในการเซ็นสัญญาสันติภาพก็ไม่มีจุดที่ตรงกัน ทำให้ตอนนี้ฝ่ายประเมินกันว่าสงครามในยูเครนน่าจะไม่จบในเร็ววันแน่นอน
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ออกมายืนยันเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เขาระบุว่า สงครามในครั้งนี้น่าจะเป็นสงครามระยะยาว และอาจต้องคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมด้วย
อีกคนที่ออกมายืนยันเรื่องนี้ คือ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO โดยเขาให้สัมภาษณ์ว่า ทางโตเตรียมพร้อมที่จะช่วยยูเครนในการทำสงครามระยะยาวและจะช่วยยูเครนในการขนส่งอาวุธสมัยโซเวียตให้ยูเครนด้วย
ตอนนี้ท่าทีของฝ่ายต่าง ๆ เริ่มชัดเจนขึ้น เราต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะมีโอกาสที่สงครามในยูเครนจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง มีการประเมินกันว่า หากสงครามในยูเครนยังไม่ยุติในเร็ววัน สงครามนี้อาจขยายจนกลายเป็นสงครามที่ใหญ่กว่าได้
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTVHD36 / วันที่เผยแพร่ 29 เม.ย.65
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/171108