(ภาพบนขวา) มิสไซล์ไฮเปอร์โซนิก บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน กลางมีนาคมปีนี้ และ (ภาพใหญ่) การทดสอบมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกบริษัทเรธีออน เทคโนโลยีส์ เมื่อกันยายนปีที่ผ่านมา
เอเอฟพี/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.) สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียประกาศว่าจะเริ่มต้นร่วมมือทางความสามารถป้องกันและการโจมตีของมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกท่ามกลางคู่แข่งทั้งรัสเซียและจีนที่รุดหน้าในความก้าวหน้าเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นหลังกองทัพสหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคมประสบความสำเร็จโครงการ Hypersonic Air-breathing Weapon Concept หรือ HAWC ที่ยิงออกมาจากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 แต่ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (6 เม.ย.) ว่า สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย แถลงในวันอังคาร (5) ว่า จะทำงานร่วมกันในเทคโนโลยีทางการทหารไฮเปอร์โซนิกอันเป็นส่วนหนึ่งของการขยายพันธมิตรทางการป้องกันกลุ่ม AUKUS ที่จะช่วยติดอาวุธเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลทางการทหารของจีนในภูมิภาค
โดยประเทศทั้งสามประกาศความร่วมมือต่อการพัฒนาไฮเปอร์โซนิก การต่อต้านไฮเปอร์โซนิก และความสามารถทางสงครามอิเล็กทรอนิกส์วอร์แฟร์ ในแถลงการณ์ที่ออกโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสสัน
อาวุธมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกสามารถเดินทางกว่า 5 เท่าของความเร็วเสียง ซึ่งจะทำให้มิสไซล์ประเภทนี้ยากที่จะติดตามและสกัดมากกว่ามิสไซล์ตามปกติทั่วไป
มิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้
มอร์ริสสันกล่าวผ่านแถลงการณ์ในวันพุธ (6) ต่อนักข่าวว่า ไฮเปอร์โซนิกและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนั้นถือเป็นส่วนสำคัญของในสิ่งที่สมาชิกกลุ่ม AUKUS ตื่นเต้นที่จะส่งมอบ
เอเอฟพีชี้ว่า แต่ทว่าในเวลานี้มีรายละเอียดน้อยมากเกี่ยวกับโครงการไฮเปอร์โซนิกของผู้นำเหล่านี้
มาร์คัส เฮลล์เยอร์ (Marcus Hellyer) นักวิเคราะห์ทางการป้องกันประเทศประจำสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute) ออกมาชี้ว่า เป็นการยากที่จะทราบจากแถลงการณ์ว่ามีสิ่งใดใหม่เพิ่มเติม
โดยเขาชี้ว่าทั้งออสเตรเลียและสหรัฐฯ ต่างร่วมมือกันก่อนหน้าทางด้านไฮเปอร์โซนิก แต่ทว่าพันธสัญญาใหม่นั้นจะเปิดกว้างต่อด้านใหม่ๆ ให้การเข้ามาของอังกฤษ
ทั้งนี้ เมื่อธันวาคม ปี 2020 ออสเตรเลียประกาศจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการพัฒนายุทโธปกรณ์ไฮเปอร์โซนิกผ่านโครงการ SCIFIRE และแคนเบอร์รามีข้อผูกพันของโครงการยุทธศาสตรการป้องกันประเทศของตัวเองในปี 2020 ในการลงทุนราว 6.2 พันล้านออสเตรเลีย-9.3 พันล้านออสเตรเลีย (4.7 พันล้านดอลลาร์-7 พันล้านดอลลาร์) ในการโจมตีระยะไกลความเร็วสูงและการต่อต้านมิสไซล์ ที่รวมไปถึงอาวุธไฮเปอร์โซนิก
และในวันเดียวกันกับที่มีแถลงการณ์ประกาศออกมาจากกลุ่ม AUKUS CNN รายงานเมื่อวานนี้ (5) ว่า กองทัพสหรัฐฯ ทำการทดสอบมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกในช่วงกลางเดือนมีนาคมแต่ปิดเงียบไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มความตึงเครียดกับรัสเซีย
โดยการทดสอบเป็นการยิงมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ภายใต้โครงการ Hypersonic Air-breathing Weapon Concept (HAWC) นอกชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ โดยเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ เกิดจากการใช้เครื่องยนต์บูสเตอร์ (booster engine) เป็นตัวเร่งมิสไซล์มาจนถึงความเร็วสูงในจุดที่เครื่องยนต์ air-breathing scramjet engine จุดระเบิดขับเคลื่อนจรวดมิสไซล์ให้เดินทางในความเร็วเหนือเสียงกว่า 5 เท่า หรือ 5 มัค (mach)โดยความเร็วเสียงอยู่ที่ 1 มัค (mach)
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่า มิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ของสหรัฐฯ เดินทางไกลในระดับอัลติจูด 65,000 ฟุตไปไกลกว่า 300 ไมล์ทะเล แต่ถึงแม้ในรุ่นที่ต่ำของพิสัยของมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกนั้นสามารถเดินทาง 3,800 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งการเดินทางระยะแค่ 300 ไมล์ทะเลนั้นมิสไซล์จะใช้เวลา 5 นาทีเท่านั้น
CNN ชี้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปิดเป็นความลับสำหรับการทดสอบมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิก หรือมิสไซล์เหนือเสียงของตัวเองไว้นาน 2 สัปดาห์ในเหตุผลที่ไม่ต้องการยั่วยุเครมลิน หรือประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในช่วงเวลาที่กองกำลังรัสเซียขยายการโจมตีทิ้งระเบิดในยูเครน
สำนักงานโครงการวิจัยความก้าวหน้าทางการทหารสหรัฐฯ DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) ซึ่งรับผิดชอบโครงการ HAWC กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า การทดสอบมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกล่าสุดประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหลักทั้งหมดที่ได้วางไว้ รวมไปถึงความแม่นยำของมิสไซล์และการปล่อย การแยกตัวออกมาจากอากาศยานได้อย่างปลอดภัย การยิงบูสเตอร์ และการบินร่อน แต่ทว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่เปิดเผยในรายละเอียดการบินของมิสไซล์
เป็นต้นว่า อัตราความเร็วเปิดเผยเพียงว่าเร็วกว่า 5 มัค หรือระยะทางการเดินทางที่แท้จริงของมิสไซล์
CNN ชี้ว่า การทดสอบมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ เมื่อกลางมีนาคมเป็นการทดสอบที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งที่ 2 ของกองทัพสหรัฐฯ
DARPA แถลงผ่านเว็บไซต์ทางการของตัวเองเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ปี 2021 กล่าวว่า กองทัพสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จครั้งแรกสำหรับการทดสอบมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกของบริษัทเรธีออน เทคโนโลยีส์ (Raytheon Technologies) ของอังกฤษ ที่ถูกยิงออกมาจากอากาศยาน
เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า ในแวดวงเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิกนั้นพบว่า รัสเซียถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดดสำหรับมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิก ขณะที่จีนกำลังพยายามพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างหนักเช่นกัน อ้างอิงจากสำนักงานบริการวิจัยของสภาคองเกรสสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมามอสโกออกมาอ้างความสำเร็จว่าได้ทำการยิงมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกคินซาล (Kinzhal) 2 ครั้งเข้ามากกว่า 1 เป้าหมายในยูเครน
นอกจากนี้ รัสเซียยังอ้างความสำเร็จมากมายของการทดสอบ รวมไปถึงการยิงมิสไซล์ไฮเปอร์โซนิกเซอร์คอน (Zircon) จากเรือดำน้ำ
และในวันอังคาร (5) ผู้นำ 3 ชาติกลุ่ม AUKUS กล่าวแสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าโครงการเรือดำน้ำออสเตรเลีย
เทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิกของกองทัพสหรัฐฯ จากบริษัทเรธีออน เทคโนโลยีส์ ที่ทดสอบไปเมื่อกันยายนปี 2021
————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 6 เม.ย.65
Link : https://mgronline.com/around/detail/9650000033420