เมื่อเหล่าหัวกะทิด้านไอที รวมตัวกันในหน่วยโดรนพิฆาต ต่อกรกับกองทัพรัสเซีย
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. เว็บไซต์ Business Insider ได้รายงานถึง Aerorozvidka ซึ่งเป็นหน่วยโดรนชั้นยอดของยูเครนที่ก่อตั้งโดยอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านไอที พวกเขาสร้างหรือดัดแปลงโดรนเพื่อใช้การโจมตีกองทัพรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิดรถถังหรือรถหุ้มเกราะของรัสเซีย
ซึ่งหน่วยนี้กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับการรุกรานของรัสเซีย
Aerorozvidka ที่รวบรวมอาสาสมัครที่มีความเก่งกาจด้านไอที บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างมารวมตัวกันที่นี่ เพื่อออกแบบยุทโธปกรณ์สำหรับสนับสนุนกองทัพยูเครน พวกเขาจะสร้างหรือดัดแปลงโดรนที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ให้กลายเป็นโดรนสังหาร เพื่อซุ่มวางระเบิดยานพาหนะของรัสเซียในยามวิกาล
“พวกเรามาจากคนละที่เลย แต่ตอนนี้เราทุกคนเป็นทหาร” มิไคโล สมาชิกคณะกรรมการและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของ Aerorozvidka กล่าวกับ Insider
“บางคนจบปริญญาเอก บางคนจบปริญญาโท บางคนมาจากอุตสาหกรรมไอที และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่รวมเราเป็นหนึ่งเดียว คือความปรารถนาที่จะชนะสงครามครั้งนี้”
รู้จัก Aerorozvidka
Aerorozvidka เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อต่อกรกับรัสเซียที่พยายามผนวกไครเมีย และรับมือกับกลุ่มก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบัสที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย
น่าเศร้าที่ผู้ก่อตั้ง Aerorozvidka เสียชีวิตในปฏิบัติการที่ดอนบัสเมื่อปี 2015
มิไคโล เปิดเผยว่าหน่วยปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนประมาณ 300 ภารกิจต่อวัน และได้ทำลายยานพาหนะของรัสเซียหลายสิบคันหรืออาจจะถึงหลายร้อยคัน โดยปกติแล้ว Aerorozvidka จะปฏิบัติการในตอนกลางคืน
ซึ่งมิไคโลไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างชัดเจนว่าหน่วยของเขามีสมาชิกเท่าไร โดยบอกเพียงว่ามี “หลายสิบคน”
ภารกิจที่น่าภาคภูมิใจที่สุดของพวกเขาคือการช่วยหยุดขบวนรถรัสเซียที่กำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน โดยทีมมุ่งเป้าโจมตีไปที่ยานพาหนะหัวขบวน ทำให้สามารถสกัดกั้นขบวนรถไว้ได้ ในขณะที่ทหารรัสเซียต่างขวัญเสีย
ตามรายงานของ The Guardian ยังระบุว่า Aerorozvidka เคลมว่าพวกเขาช่วยเอาชนะการโจมตีทางอากาศของรัสเซียที่สนามบิน Hostomel ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ ในวันแรกของสงคราม โดยการใช้โดรนเพื่อค้นหาเป้าหมาย กำหนดเป้าหมาย และยิงพลร่มของรัสเซียประมาณ 200 นาย
นับว่าเป็นอีกหนึ่งหน่วยปฏิบัติการทางทหารที่กำลังเป็นที่จับตามองจากบรรดาสื่อต่างประเทศ โดย The Times ยังได้รายงานว่า Aerorozvidka เป็นหน่วยโดรนชั้นยอดของยูเครน ที่โจมตีเป้าหมายสำคัญไปได้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น รถถัง รถบรรทุก และยานพาหนะที่บรรทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของรัสเซีย โดยแอบเล่นงานกองกำลังรัสเซียขณะพวกเขากำลังหลับ
โดยหน่วยนี้แบ่งออกเป็น 3 ทีมด้วยกัน ได้แก่ ทีมโดรน, ทีมเดลตา (Delta) และทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยทีมเดลตานั้นจะสอดส่องสถานการณ์บนเว็บที่สนับสนุนโดยนาโต (NATO) ซึ่งสร้างแผนที่เป้าหมายของรัสเซียโดยใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินและข้อมูลการลาดตระเวนจากทีมโดรน
หน่วยนี้ยังใช้ระบบดาวเทียม Starlink ของอีลอน มัสก์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ขาดการเชื่อมต่อแม้ว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะขัดข้องหรือไฟฟ้าดับ
ปัจจุบัน Aerorozvidka ดำเนินงานในกรุงเคียฟเป็นหลัก แต่กำลังขยายการดำเนินไปทั่วประเทศยูเครน ขณะที่มีการคาดการณ์ว่ารัสเซียจะเดินหน้ารุกทางตะวันออกและทางใต้ของยูเครน
อาวุธประจำหน่วย
ปัจจุบัน Aerorozvidka ดำเนินงานในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ให้การสนับสนุนกองทัพยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยรายงานระบุว่าพวกเขาใช้งานโดรนหลายรุ่นด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโดรนที่หาได้ทั่วไป และนำมาดัดแปลงเพื่อใช้เป็นอาวุธทางทหาร ซึ่งรวมถึงโดรน DJI และ Autel ของจีน, โดรน Parrot ของฝรั่งเศส และอื่นๆ
โดรนที่นับว่าล้ำที่สุดคือ octocopter R-18 ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ไกล 4 กิโลเมตร นาน 40 นาที และสามารถทิ้งระเบิดหนัก 5 กิโลกรัม โดยแต่ละลำมีค่าใช้จ่ายในการสร้าง 20,000 เหรียญสหรัฐ ทำให้มีราคาถูกกว่าขีปนาวุธต่อต้านรถถัง เช่น NLAW หรืออาวุธต่อต้านรถถังอื่นๆ ที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ R-18 ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เว้นแต่ว่าจะได้รับความเสียหายจากการโจมตีของรัสเซีย ไม่เหมือนกับ NLAW ซึ่งสามารถใช้ได้แค่ครั้งเดียว
LAW ซึ่งสามารถใช้ได้แค่ครั้งเดียว
อุปสรรคของ Aerorozvidka
ความท้าทายที่สำคัญที่พวกเขาต้องเผชิญคือปัญหาด้านเงินทุนและอุปทานที่มีอย่างจำกัด ซึ่งต้องอาศัยการระดมทุนและการบริจาค เพื่อนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น ขณะที่ชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐและแคนาดาจำนวนมากอยู่ภายใต้การควบคุมการส่งออก ซึ่งไม่สามารถส่งมายังยูเครนได้
ยิ่งไปกว่านั้น กองกำลังรัสเซียกำลังค่อยๆ ปรับตัวและหาวิธีจัดการกับโดรนของ Aerorozvidka ทำให้โดรนถูกทำลายไปจำนวนมาก ยิ่งต้องการชิ้นส่วนเพิ่มเติม และเงินทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ
อย่างไรก็ตามพวกเขามั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการรับมือกับผู้บุกรุกอย่างรัสเซีย
Photo by REUTERS/Zohra Bensemra
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 10 เม.ย.65
Link : https://www.posttoday.com/world/680359