ในที่สุดทางการรัสเซียออกมายอมรับว่า เรือลาดตระเวนมอสควา ที่เป็นเรือธงของกองเรือทะเลดำถูกยิงขีปนาวุธใส่จนจมทะเล อะไรคือช่องโหว่ที่ทำให้มอสควาจม และจากนี้เรือรบควรรับมืออย่างไร
นับว่าเป็นเรื่องช็อกพอสมควรสำหรับกองทัพเรือรัสเซีย ที่ต้องมาสูญเสียเรือธงลำสำคัญของกองเรือฝั่งทะเลดำ หลังเรือลาดตระเวนติดอาวุธนำวิถีชั้นสลาวา (Slava Class) ที่ชื่อ “มอสควา” (Moskva) ไปในระหว่างการรบกับกองทัพยูเครน ขณะลอยลำนอกขายฝั่งเมืองโอเดสซา ทางตอนใต้ของยูเครน จากข่าวแรกที่ฝั่งรัสเซียรายงานว่า เกิดเหตุระเบิดในคลังแสงของเรือมอสควา ทำให้เกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง และเรือกำลังพยายามควบคุมความเสียหาย
ก่อนที่จะมีรายงานต่อมาว่า เรือมอสควาจมลงสู่ก้นทะเลดำแล้ว โดยที่มีลูกเรือสละเรือหนีออกมาได้ แต่ไม่ได้มีการยืนยันจำนวนที่แท้จริง อย่างไรก็ตามทางฝั่งยูเครน ก็ได้อ้างว่าเป็นผลงานของกองทัพยูเครนที่ยิงเรือมอสควาจากนอกชายฝั่งเมืองโอเดสซา โดยใช้อาวุธปล่อยต่อต้านเรือผิวน้ำแบบยิงจากชายฝั่ง เนปจูน (Neptune) ที่ยูเครนผลิตขึ้นเอง โดยอ้างว่ามิสไซล์ 2 ลูกยิงโดยเป้าหมายทำให้เรือเสียหายหนัก และจมลงในที่สุด
สำนักข่าว ทาสก์ รายงานว่า กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ยืนยันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมาว่าเรือลำดังกล่าวได้จมลง ขณะเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย ขณะที่กำลังลากเรือมอสควากลับเข้าท่าเรือชายฝั่งที่ฐานทัพเรือในเมืองเซวาสโตปอล ในภูมิภาคไครเมีย ภายหลังจากที่สามารถควบคุมเพลิงไหม้ที่เกิดจากการระเบิดในคลังเก็บกระสุนบนเรือ ทั้งนี้ไม่มีการรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ของคนบนเรือ
เรือรบขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกจมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
การจมลงของเรือมอสควา นับเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมในการรบโดยเรือรบลำใหญ่ที่สุดก่อนหน้านี้ที่จม คือ เรือเยเนอรัลเบลกราโน ของกองทัพเรืออาร์เจนตินา ที่ถูกเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เรือหลวงคอนควอยเยอร์ ของราชนาวีอังกฤษ ยิงจมด้วยตอร์ปิโดนำวิถี ไทเกอร์ฟิช ที่ทันสมัยที่สุดในตอนนั้น 2 ลูก เมื่อปี 1982 ทำให้ลูกเรือเสียชีวิต กว่า 300 นาย สำหรับเรือเยเนอรัลเบลกราโน เป็นเรือลาดตระเวนเบาชั้นบรู๊กลีนเก่าของกองทัพเรือสหรัฐฯ ต่อขึ้นประจำการเมื่อปี 1938 เคยผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ขายต่อให้กองทัพอาร์เจนตินา เมื่อปี 1956 โดยเป็นเรือธงของกองทัพเรืออาร์เจนตินา ขณะที่ เรือที่ถูกจมในการรบนอกจากเยเนอรัลเบลกราโน ยังมีเรือหลวงเชฟฟิลด์ เรือพิฆาตของราชนาวีอังกฤษ ที่ถูกอาวุธปล่อยนำวิถีเอ็กโซเซต์ของอาร์เจนตินา ที่ผลิตในฝรั่งเศส ยิงใส่จนเกิดการระเบิดไฟไหม้และจมลงในที่สุด
ทำความรู้จักกับเรือมอสควา
สำหรับเรือมอสควา มีระวางขับน้ำสูงสุดที่ 11,490 ตัน ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ (COGOG) 4 เครื่อง ทำความเร็วสูงสุด 32 นอต มีพิสัยปฏิบัติการไกลสุด 19,000 กม.ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต ใช้ลูกเรือราว 500 นาย ขึ้นระวางประจำการเมื่อปี 1983 ในสหภาพโซเวียต และเข้าประจำการในกองทัพเรือรัสเซียหลัง สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อ 1995 แต่เดิม ชื่อ สลาวา (Slava) เป็นลำแรกของเรือลาดตระเวนอาวุธนำวิถีชั้นสลาวา (Slava Class) ในฐานะเรือธงของกองเรือทะเลดำ และเป็นเรือที่มีอำนาจการยิงสูงสุด
สามารถทำการรบได้ทั้ง 3 มิติ โดดเด่นในด้านการป้องกันภัยทางอากาศและการโจมตีเรือผิวน้ำ รวมทั้งสามารถต่อต้านเรือดำน้ำได้ด้วย คือ อาวุธปล่อยพื้นสู่พื้นความเร็วเหนือเสียง P-1000 Vulkan สำหรับต่อต้านเรือผิวน้ำ 16 นัด ขณะที่ในการต่อต้านอากาศยานก็มี อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้นพิสัยไกล S-300F Fort (SA-N-6 Grumble) 64 ท่อยิงแนวดิ่ง และแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านอากาศยาน OSA-MA (SA-N-4 Gecko) SR SAM แบบแท่นยิงแขนปล่อยคู่ 2 แท่น รวม 40 นัด นอกจากนี้ยังติดตั้งปืนเรือแบบ AK-130 130 mm/L70 ลำกล้องคู่ 1 แท่นยิง อาวุธป้องกันตัวระยะประชิดแท่นปืนกล AK-630 ลำกล้องหมุนขนาด 30 มม. 6 แท่น ท่อยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-6000 จำนวน 2 แท่น รวมทั้งท่อยิงตอร์ปิโด
เรดาร์ตรวจการณ์ค้นหา 3 มิติแบบ Voskhod MR-800 และ Fregat MR-710
เรดาร์นำร่อง Palm Frond
เรดาร์ควบคุมการยิงแบบ Pop group สำหรับ SA-N-4
เรดาร์ควบคุมการยิงแบบ Top Dome สำหรับ SA-N-6
Bass Tilt ระบบเรดาร์ควบคุมการยิง ของปืน AK-360 CIWS
โซนาร์ค้นหา Bull horn MF ที่หัวเรือ
ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ แบบ Rum Tub และเสาอากาศ Side Globe
ระบบยิงเป้าลวง ท่อยิงชาฟต์และแฟลร์ขนาด 140 มม. 2 ชุด
โดยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศวิเคราะห์ว่า มอสความีขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศถึง 3 ชั้น โดยถือว่ามีขีดความสามารถสูงที่สุด ในกองเรือทะเลดำ ด้วยอาวุธปล่อยต่อต้านอากาศยาน 2 แบบ สามารถจัดการภัยคุกคามได้ 2 ระยะ และระยะประชิดก็ยังมี ระบบ CIWS ที่จะพ่นกำแพงกระสุนเพื่อสกัดภัยคุกคาม
ขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำ “เนปจูน” ต้นแบบจากรัสเซีย เพื่อจมเรือรัสเซีย
R-360 Neptune ขีปนาวุธจรวดร่อนต่อต้านเรือผิวน้ำชนิดนี้ มีต้นแบบมาจาก ขีปนาวุธร่อน Kh-35 ของสหภาพโซเวียต โดยได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งระยะยิง และระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้าประจำการในกองทัพยูเครนตั้งแต่มี.ค. ปี 2021 การทำงานของขีปนาวุธเมื่อสั่งยิง ชุดมอเตอร์ขับดันจะพาขีปนาวุธพุ่งออกจากท่อยิงขึ้นฟ้า จากนั้นจะสลัดออก แล้วเครื่องยนต์ไอพ่นจะพาขีปนาวุธร่อนไปสู่เป้าหมาย โดย 1 ลูกสามารถจมเรือรบที่มีขนาดระวางขับน้ำสูงสุดถึง 5,000 ตัน รวมทั้งดักโจมตีขบวนเรือ หรือเรือลำเดียว น้ำหนักหัวรบที่ติดตั้งหนัก 150 กก.ระยะยิงไกลสูงสุด 300 ไมล์ทะเล สามารถยิงจากฐานยิงบนบก จากรถยิงเคลื่อนที่ที่พร้อมยิงจากขีปนาวุธบรรจุในท่อ 4 นัด นำวิถีด้วยเรดาร์โดยมีรถบรรทุกติดตั้งเรดาร์ Mineral-U radar และรถควบคุมสั่งการยิง
ปฏิบัติการจมเรือมอสควา
13 เม.ย. 2565 มีการรายงานว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรงบนเรือมอสควา เนื่องจากคลังอาวุธเกิดการระเบิดบนเรือ สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยลูกเรือพยายามดับไฟและขอเรือลากจูงกลับเข้าท่าเรือเซวาสโตโปล ต่อมามีการอ้างจากกองทัพยูเครนว่า ได้ยิงขีปนาวุธเนปจูนใส่เป้าหมาย ผลยืนยันขีปนาวุธกระทบเป้า 2 ลูก โดยยิงจากฐานยิงเคลื่อนที่บนชายฝั่งเมืองโอเดสซา แต่ไม่มีการยืนยันว่ายูเครนยิงไปทั้งหมดกี่ลูก ขณะที่เรือมอสควาอยู่ห่างจากฝั่ง 120 กิโลเมตร โดยคาดว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีอาจมาจากการชี้เป้าของโดรน Bayraktar TB2 ที่ยูเครนจัดหามาจากตุรกี
ช่องโหว่การป้องกันภัยทางอากาศ ทำให้ถูกโจมตี
เรือลาดตระเวนมอสควา ติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศถึงสามชั้น เมื่อประเมินแล้ว อาจเพิ่มโอกาสให้มีเวลาเพียงพอในการสกัดกั้นขีปนาวุธเนปจูนที่พุ่งเข้ามา นับตั้งแต่มีการแจ้งเตือนการตรวจจับเรดาร์ 3-4 นาที ก่อนจะปะทะกับเรือ แต่ไม่มีบันทึกของลูกเรือที่เปิดใช้งานระบบเหล่านี้ รวมถึงขีปนาวุธพื้นสู่อากาศระยะไกล S-300F และ OSA-MA (SA-N-4 Gecko) การยิงเป้าลวง หรือการใช้การรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเปิดระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด AK-630 อันเป็นอาวุธระยะสุดท้าย
Tayfun Ozberk นักวิเคราะห์ด้านการรบทางทะเล และอดีตทหารเรือชาวตุรกี ได้เสนอแนะว่าเรดาร์ของเรือลาดตระเวนไม่สามารถตรวจจับขีปนาวุธเนปจูนที่เข้ามาได้ หรือระบบป้องกันไม่พร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามที่ตรวจพบ แสดงว่าทหารเรือที่เป็นกำลังพลบนเรือเป็นทหารใหม่ ขาดการฝึกอบรมลูกเรือสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ด้วยระบบดังกล่าว คาดว่าเรือลาดตระเวนจะรอดจากการจู่โจมหลายครั้ง จากขีปนาวุธเนปจูน (แต่ละหัวรบมีดินระเบิด 150 กก. หรือ 320 ปอนด์)
แบบจำลองการสู้รบ (ซิมูเลชั่น) สถานการณ์แบบแบบระดมยิงหนึ่งเป้าหมาย ก็บ่งชี้ว่า ยูเครนจะต้องยิงขีปนาวุธเนปจูนอย่างน้อย 11 ลูก (พร้อมกัน) เข้าใส่เรือมอสควา และการที่ขีปนาวุธบินเรี่ยน้ำด้วยความเร็ว ทำให้ตรวจจับด้วยเรดาร์ได้ลำบาก จึงสามารถเอาชนะระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ จะขัดขวางขีปนาวุธได้ 6 ลูก กับอีก 5 ลูกที่เหลือสามารถทะลุแนวป้องกันของเรือลาดตระเวนและโจมตีเรือได้ ทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเรือเพียงพอที่จะจมได้
เกิดอะไรขึ้นหลังเรือถูกขีปนาวุธยิงใส่
คาห์ล ชูสเตอร์ อดีต ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ US Pacific Command หนึ่งใน จนท.อาวุโส ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ เผยกับ ซีเอ็นเอ็น ว่า ขีปนาวุธเนปจูนบินเรี่ยผิวน้ำมาด้วยความเร็ว ทำให้ระบบเรดาร์ตรวจจับไม่ได้ประกอบกับทัศนวิสัยไม่ดีมีหมอกลง ทำให้ลูกเรือไม่ทันได้ต่อต้านหรือป้องกันตัวเอง ขีปนาวุธที่ยากจะคาดเดาเส้นทางการบิน เพราะบินเรี่ยน้ำเข้ามาทำให้ระบบเรดาร์จับเป้าไม่ได้ เมื่อมิสไซล์กระทบกับเรือทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง และมีไฟไหม้ที่ลูกเรือไม่สามารถดับ หรือควบคุมความเสียหายได้ แม้หลักฐานความเสียหายจะยืนยันไม่ได้ว่า แรงระเบิดทำให้เกิดแรงระเบิดลูกโซ่กับ ท่อยิงขีปนาวุธวัลแคนหรือไม่ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเรือก็นับว่ารุนแรงอย่างมาก เพราะลำตัวเรือมีรอยฉีกขาดใต้ระดับน้ำทะเล ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าสู่เรืออย่างรวดเร็่ว ขณะที่ไฟก็ลุกไหม้รุนแรงจนลูกเรือควบคุมไม่อยู่
ทั้งนี้ส่วนตัวผู้เขียนก็คาดว่า ตัวเรือที่ฉีกขาดและน้ำที่ทะลักเข้าเรือ อาจทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้อง ส่งผลต่อการสื่อสารในตัวเรือ รวมทั้งระบบควบคุมอัตโนมัติต่างๆ ผนวกกับไฟที่ลุกไหม้ภายในเรืออย่างหนัก และลุกลามไปยังโซนอื่นๆ โดยเฉพาะคลังกระสุน ก็อาจเป็นปัจจัยที่ต้องยอมให้น้ำทะเลทะลักเข้าเรือเพื่อดับไฟ ก่อนที่จะลำเลียงลูกเรืออพยพ และสละเรือในที่สุด ทั้งนี้สาเ้หตุที่แท้จริง ต้องรอทางการรัสเซียส่งยานกู้ภัยลงไปสำรวจซากเรือ และกู้เรือขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้งว่า เรือจมลงได้อย่างไร
บทเรียนของมอสความีผลต่อเรือรบยุคนี้อย่างไร
เรือรบจึงจำเป็นต้องมีระบบเรดาร์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจจับและติดตามเป้าหมายได้พร้อมกันหลายเป้า เพราะเวลาถูกยิงมิสไซล์ไม่ได้มากทีละนัด รวมทั้งระบบตรวจจับที่ตรวจจับความร้อน ขณะที่ อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะไกลถึงกลางมีความจำเป็นมากที่จะเป็นด่านแรก ในการสกัดภัยคุกคามจากระยะนอกสายตา เพื่อซื้อเวลาให้กับจนท.และอาวุธได้เตรียมพร้อม โดยบนเรือมอสความีระบบ S-300F Fort (SA-N-6 Grumble) ติดตั้งอยู่ พอที่จะรับมือจากระยะไกลได้ แต่ถ้าเรดาร์จับเป้าไม่ได้ หรือ จำได้ในระยะประชิดเกินไป ก็ไม่สามารถใช้มิสไซล์ตัวนี้จัดการภัยคุกคามได้
การป้องกันในชั้นต่อไป ต่อจาก S-300F เป็นหน้าที่ของมิสไซล์ต่อต้านระยะใกล้ ที่ส่วนมากกองทัพเรือหลายชาติ จะเลือกใช้มิสไซล์นำวิถีด้วยความร้อน หรือนำวิถีด้วยเลเซอร์ ที่เป็นระบบต่อต้านอากาศยานแบบประทับบ่ายิงที่รู้จักกันเช่น ระบบ RAM ของสหรัฐอเมริกา ระบบซาดรัล ที่ใช้มิสไซล์มิสทรัล ของฝรั่งเศส ระบบ Pantsir-M ของรัสเซีย และ 4K33 “OSA-M หรือ SA-N-4 “Gecko ที่ติดบนเรืออมอสควา การป้องกันภัยในชั้นนี้ จึงเน้นอาวุธฮาร์ดคิล ที่ต้องแม่นจริง ยิงโดนแล้วระเบิด ทำลายภัยคุกคามได้ จึงต้องเป็นระบบอาวุธที่ไว้ใจได้ แต่ถ้าระบบเรดาร์ยังจับไม่ได้ หรือ ไม่มีระบบตรวจจับที่เป็นอินฟราเรด และกล้องเล็งอิเล็กโทรออปติคอล ก็ไม่สามารถปล่อยอาวุธออกไปสกัดได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากมิสไซล์คุกคามหลุดจากชั้นที่ 2 ก็ต้องเป็นหน้าที่ของ ด่านสุดท้าย ที่เรียกว่า ระบบ CIWS หรือ ระบบป้องกันระยะประชิด ส่วนมากเป็นระบบปืนกลวัลแคนลำกล้องหมุน ที่มีอัตราการยิงที่สูง เพื่อสาดกระสุนเป็นม่านกำแพงทำลายมิสไซล์ ก่อนจะปะทะเรือ ปืนเหล่านี้ควบคุมการยิงด้วยเรดาร์ และการบังคับด้วยแมนนวล คือ ใช้พลปืนเล็งยิง ส่วนมากปืนเหล่านี้จะติดที่หัวเรือ กลางลำเรือ และท้ายเรือ สามารถจัดการเป้าหมายได้ทั้งอากาศยาน เรือผิวน้ำขนาดเล็ก และมิสไซล์ที่ยิงเข้ามา
แต่ถ้ายังหลุดมาอีกก็คงต้องเป็นหน้าที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ว่ามิสไซล์เมื่อปะทะกับเรือจะสร้างความเสียหายขนาดไหน ทั้งนี้ เรือรบเก่าๆ เช่นเรือลาดตระเวนขนาดกลางหรือเรือลาดตระเวนหนัก เหล็กที่ใช้ต่อเรือมักจะหนาทนได้หลายลูก แต่เรือรบรุ่นใหม่ เหล็กบางกว่าและบางลำยิ่งใช้วัสดุผสมยิ่งเสี่ยงติดไฟได้ง่าย โดนโจมตีเพียงลูกเดียวก็อาจสร้างความเสียหายทำให้เรือจมได้ ดังนั้นลูกเรือจึงต้องฝึกหนัก เพื่อให้พร้อมกับการแก้ไขกรณีเพลิงไม้ในเรือ และควบคุมความเสียหายที่เกิดบนเรือ เพื่อให้เรือยังลอยน้ำอยู่ และแล่นกลับไปซ่อมได้
สิ่งที่สำคัญ คือ การรบยุคใหม่ข้อมูลข่าวกรองมีความสำคัญมาก หากเรือรบลำนั้นๆ ทราบสถานการณ์ว่าชายฝั่งมีภัยคุกคามที่เป้นอันตราย ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เศร้าที่สร้างความสูญเสีย เพราะสามารถปรับแผนเดินเรือ เพื่อหลีกเลี่ยงได้ ขณะเดียวกัน การทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นตัวเลือกที่ยุคนี้ต้องให้ความสำคัญ และดำเนินการทันทีที่อยู่ในชายฝั่งข้าศึก ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนเรดาร์ กวนสัญญาณสื่อสาร เพราะจะลดทอนความสามารถในการตรวจจับ หรือการชี้เป้าให้กับมิสไซล์ต่อต้านเรือผิวน้ำได้อย่างดี…
ผู้เขียน : จุลดิส รัตนคำแปง
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 27 เม.ย.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2372855