มีรายงานว่ารัสเซียส่งนักรบจาก Wagner Group ราว 400 นายเข้าไปปฏิบัติการลอบสังหารผู้นำยูเครนถึงในกรุงเคียฟ
1.บริษัท Wagner Group ถูกบรรยายสรรพคุณไว้หลากหลาย อาทิ บริษัทเอกชนด้านการทหาร เครือข่ายนักรบรับจ้าง หรือกองทัพส่วนตัวโดยพฤตินัยของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
2.ที่มาที่ไปของ Wagner Group ค่อนข้างลึกลับ กระแสหนึ่งเชื่อว่ากลุ่มนี้ก่อตั้งโดย ดมิทรี วาเลเยวิช ยุตกิน อดีตนายทหารระดับผู้พันจากกองทัพรัสเซียที่เคยทำงานให้กับหน่วยข่าวกรอง GRU แต่เมื่อเดือน ส.ค. 2017 หนังสือพิมพ์ Yeni ?afak ของตุรกีตั้งข้อสังเกตว่า ยุตกินอาจเป็นหัวหน้าแต่ในนาม ส่วนหัวหน้าตัวจริงของ Wagner Group คือคนอื่น
3.ส่วนอีกกระแสคาดว่านักธุรกิจชื่อ เยฟเกนี ปริโกชิน (Yevgeny Prigozhin) คือเจ้าของตัวจริงและเป็นคนจ่ายเงินให้ Wagner Group ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
4.ต้องบอกก่อนว่าปริโกชินถูกยกให้เป็น “เชฟของปูติน” โดยทั้งคู่เริ่มสานสัมพันธ์จากร้านอาหาร New Island ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปูตินใช้จัดงานเลี้ยงรับรองประธานาธิบดี ฌากส์ ชีรัค ของฝรั่งเศสเมื่อปี 2001 ปีถัดมาปูตินก็ใช้ร้านนี้รับรองประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐ รวมทั้งเป็นสถานที่จัดงานวันเกิดของปูตินเมื่อปี 2003 จนปริโกชินได้เป็นเชฟส่วนตัวของปูติน
5.นอกจากเกี่ยวข้องกับปูตินแล้ว ปริโกชินยังมีความเกี่ยวข้องกับยุตกินคือ ฝ่ายหลังเคยเป็นหัวหน้าการ์ดของปริโกชิน และเคยมีชื่อของยุตกินนั่งตำแหน่งกรรมการบริษัท Concord Management ของปริโกชิน ทว่าทั้ง Concord และยุตกินต่างก็ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับ Wagner Group จนกระทั่งเดือน พ.ย. 2016 Concord ยินยันกับสื่อรัสเซียว่า ดมิทรี ยุตกิน คนเดียวกันซึ่งเป็นผู้นำ Wagner Group กำลังดูแลธุรกิจอาหารของปริโกชิน
6.จำนวนของนักรบ Wagner Group เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปี 2016 มีอยู่ราว 1,000 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 5,000 คนในเดือน ส.ค. 2017 และ 6,000 คนในเดือน ธ.ค. 2017 ส่วนค่าตอบแทนนั้น ทหารรับจ้างเอกชนของ Wagner Group ซึ่งมักจะเป็นทหารรัสเซียอายุระหว่าง 35-55 ปีที่ลาออกจากกองทัพ อยู่ที่ราว 80,000-250,000 รูเบิล บางแหล่งข่าวบอกว่าสูงถึง 300,000 รูเบิล
7.Wagner Group เริ่มปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อปี 2014 ช่วงที่รัสเซียปฏิบัติการผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเป็นดินแดนของรัสซียหลังยึดไครเมียได้แล้ว Wagner Group ราว 300 คนเข้าไปสู้รบร่วมกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบัสของยูเครน
8.ปลายเดือน ต.ค. 2015 มีการรายงานครั้งแรกว่ามีนักรบของ Wagner Group ปรากฏตัวในซีเรีย 1 เดือนหลังจากรัสเซียเริ่มปฏิบัติการแทรกแซงทางการทหารเพื่อสนับสนุนรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด โดยมีรายงานว่า Wagner Group ได้รับการว่าจ้างจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียแม้ว่าบริษัทเอกชนด้านการทหารจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายในรัสเซียก็ตาม แต่ทางการรัสเซียปฏิเสธ ถึงอย่างนั้นแหล่งข่าวในหน่วยสายลับ FSB ของรัสเซียและกระทรวงกลาโหมบอกอย่างไม่เป็นทางการกับ RBTH ของสำนักข่าว RIA ว่า Wagner Group อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยข่าวกรอง GRU
9.นอกจากนี้ Wagner Group ยังเข้าไปปฏิบัติการในหลายประเทศ อาทิ ในลิเบียในปี 2016 เพื่อสนับสนุนกองกำลังที่สวามิภักดิ์กับนายพล คาลิฟา ฮาฟตาร์ คาดว่านักรบรับจ้างรัสเซียราว 1,000 นายมีส่วนร่วมในการบุกทำเนียบรัฐบาลในกรุงตริโปลีเมื่อปี 2019 ของนายพลฮาฟตาร์ รวมทั้งในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ซูดาน และในมาลี
10.ในมาลีนั้นช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch เปิดเผยว่า กลุ่มทหารรับจ้าง Wagner Group ของรัสเซียที่ร่วมปฏิบัติการปราบกลุ่มก่อการร้ายกับกองทัพมาลีและสังหารพลเมืองชายไปราว 300 คน และเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มก่อการร้าย GSIM ประกาศว่าจับนักรบ Wagner Group ได้คนหนึ่ง
11.ระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน นักรบจาก Wagner Group ถูกส่งตัวเข้าสมรภูมิยูเครน โดย The Times รายงานว่า นักรบรับจ้างกลุ่มนี้ราว 400 คนถูกส่งไปยังกรุงเคียฟเพื่อลอบสังหารประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน แต่รัฐบาลยูเครนได้รับการแจ้งข่าวนี้ก่อนที่จะมีการลงมือจึงคุ้มกันอย่างเต็มที่ ทำให้ ณ วันที่ 3 มี.ค. ผู้นำยูเครนรอดจากการพยายามสังหาร 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งเชื่อว่าเป็นฝีมือของ Wagner Group
โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
Photo – Sputnik/Aleksey Nikolskyi/Kremlin via REUTERS ATTENTION EDITORS (*หมายเหตุ ภาพประกอบรายงาน ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา)
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 27 เม.ย.65
Link : https://www.posttoday.com/world/681648