แม้ว่า ‘การติดตามสอดส่องพนักงาน’ (Employee Monitoring) ในองค์กรธุรกิจต่างๆ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่สำหรับพนักงานออฟฟิศ แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 มันกลับรุกล้ำไปยังที่บ้าน และกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น
ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2022 สหภาพแรงงาน TUC ในสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้เทคโนโลยีการติดตามสอดส่องพนักงาน ซึ่งสำรวจคนทำงาน 2,209 คน ในอังกฤษและเวลส์ช่วงเดือนธันวาคม 2021 ผลสำรวจพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า พวกเขาถูกติดตามสอดส่องในสถานที่ทำงาน เพิ่มขึ้นจาก 53 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 โดยนายจ้างใช้อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และเทคนิคต่างๆ เช่น การตรวจสอบอีเมลและไฟล์ เว็บแคมบันทึกภาพพนักงาน การบันทึกการกดแป้นพิมพ์ ติดตามการใช้โทรศัพท์ และติดตามความเคลื่อนไหวผ่านกล้องวงจรปิด (CCTV) หรือกล้องเว็บแคม (Webcam)
ก่อนหน้านี้สหภาพแรงงาน Prospect เคยสำรวจความคิดเห็นคนทำงาน 2,400 คน ในอังกฤษเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2021 โดยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พวกเขากำลังถูกนายจ้างสอดส่องอยู่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 24 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนเมษายน 2021
และจากการสำรวจบริษัทมากกว่า 2,000 แห่ง ในสหราชอาณาจักร ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ธุรกิจต่างๆ ต้องให้พนักงานทำงานทางไกลจากที่บ้านนั้น พบว่า บริษัทกว่า 1 ใน 5 แห่งได้เริ่มใช้เทคโนโลยีที่ติดตามกิจกรรมออนไลน์ของพนักงาน นอกจากนี้ Prodoscore บริษัทซอฟต์แวร์ตรวจสอบพนักงานที่ใช้การวิเคราะห์เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ระบุว่า มียอดผู้ใช้สูงขึ้นถึง 600 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2020 ส่วน TransparentBusiness อีกหนึ่งซอฟต์แวร์ตรวจสอบพนักงานก็ระบุว่า พวกเขามีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ที่ออสเตรเลีย มีการสำรวจความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกันโดย Australia Institute ในเดือนพฤศจิกายน 2021 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวออสเตรเลีย 39 เปอร์เซ็นต์ ทราบว่าพวกเขากำลังถูกนายจ้างติดตามอยู่
ที่แคนาดา ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ผลักดันให้การทำงานทางไกลจากที่บ้านเพิ่มมากขึ้น มีรายงานข่าวระบุว่า พนักงานที่ทำงานที่บ้านเหล่านั้นก็ถูกติดตามสอดส่องจากนายจ้างด้วยเช่นกัน
และที่สหรัฐฯ Digital.com สำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจ 1,250 แห่ง พบว่า นายจ้างกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าพวกเขายังคงติดตามสอดส่องพนักงานที่ต้องทำงานทางไกล (ทำงานที่บ้าน) เช่นเดียวกับการทำงานที่ออฟฟิศในช่วงสถานการณ์ปกติ
มุมมองจากนายจ้าง ทำไมต้องติดตามสอดส่องพนักงาน?
ผลสำรวจของ Digital.com ยังระบุถึงเหตุผลที่นายจ้างต้องใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบพนักงาน โดยนายจ้าง 79 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พวกเขาต้องการเข้าใจมากขึ้นว่าพนักงานใช้เวลางานทำอะไรบ้าง 65 เปอร์เซ็นต์ ต้องการยืนยันว่าพนักงานทำงานให้พวกเขาอย่างเต็มที่ และ 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องการตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานไม่ได้ใช้อุปกรณ์ทำงานในเรื่องส่วนตัว
นายจ้างส่วนใหญ่ 76 เปอร์เซ็นต์ ติดตามพฤติกรรมของพนักงานโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ตรวจสอบการท่องเว็บและการใช้แอปพลิเคชัน 60 เปอร์เซ็นต์ ใช้ซอฟต์แวร์ที่จับภาพหน้าจอแบบสุ่ม 54 เปอร์เซ็นต์ ใช้ซอฟต์แวร์บล็อคเนื้อหาและแอปพลิเคชัน และ 44 เปอร์เซ็นต์ ใช้ซอฟต์แวร์บันทึกการกดแป้นพิมพ์
Helen Poitevin รองประธานฝ่ายวิเคราะห์ของ Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี ที่ตั้งอยู่ในเมืองสแตมฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐฯ ระบุว่า การใช้เทคโนโลยีในการติดตามตรวจสอบไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาสำหรับพนักงาน เมื่อดำเนินการด้วยความระมัดระวัง การติดตามกิจกรรมในการทำงานอาจมีข้อดีแก่ทั้งนายจ้างและพนักงาน ทั้งนี้มีหลายสาเหตุที่นายจ้างอาจติดตามกิจกรรมของพนักงาน เช่น เหตุผลด้านความปลอดภัยหรือเพื่อปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนสูง นอกจากนี้การตรวจสอบยังช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงานได้อีกด้วย
“บางองค์กรปรับใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าพนักงานกำลังทำงานอยู่” Poitevin กล่าว “เพราะพวกเขาต้องการให้แน่ใจว่าพนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
แต่การตรวจสอบ ควรทำร่วมกับการสำรวจความเห็น และสิ่งสำคัญคือต้องวัดทัศนคติของพนักงานต่อการใช้เครื่องมือตรวจสอบ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ หน้าที่งาน และที่ตั้งภูมิศาสตร์ เป็นต้น
“หากผู้ที่ใช้ข้อมูลเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อจะปรับปรุงประสบการณ์และสภาพการทำงานของพนักงานให้ดีขึ้น มันจะคงคุ้มค่าและมีประโยชน์ ตราบใดที่วัตถุประสงค์และการใช้ข้อมูลที่รวบรวมมานั้นชัดเจนสำหรับพนักงาน” Poitevin กล่าว
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีติดตามสอดส่องพนักงาน และมูลค่าตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น
ข้อมูลจาก American Management Association ระบุว่า ระหว่างปี 1997-2007 นั้น เครื่องมือติดตามสอดส่องพนักงาน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยบันทึกการโทรศัพท์หรือข้อความเสียง , การตรวจสอบข้อความอีเมล ไฟล์ และการท่องอินเทอร์เน็ตของพนักงานเท่านั้น และมีจำนวนนายจ้างน้อยกว่า 21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่บันทึกภาพวิดีโอพนักงานเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงาน
ปัจจุบันเทคโนโลยีเครื่องมือติดตามสอดส่องพนักงานพัฒนาขึ้นมากกว่าในอดีต มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงติดตามพนักงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบการทำงาน การวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพและละเอียดยิ่งขึ้น การตรวจสอบพนักงานมักจะต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ไว้บนอุปกรณ์ที่พนักงานใช้ทำงาน โดยจะสร้างการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ขณะทำงาน นอกจากนี้ ยังสามารถถ่ายภาพหน้าจอปกติ บันทึกการกดแป้นพิมพ์ และอื่นๆ อีกมากมาย เครื่องมือบางอย่างสามารถแอบบันทึกวิดีโอและเสียงจากคอมพิวเตอร์ของพนักงานได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าด้วย AI และเครื่องมือตรวจจับอารมณ์แบบไบโอเมตริกซ์มาใช้ด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท Fujitsu สามารถสร้างอัลกอริธึมที่ตรวจจับระดับความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อจากการแสดงออกทางสีหน้า ในแถลงการณ์เมื่อต้นปี 2021 บริษัท Fujitsu ระบุว่า อัลกอริธึมดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้กับชั้นเรียนออนไลน์ การประชุมออนไลน์ และกิจกรรมการขายต่างๆ ได้เป็นต้น
ทั้งนี้ รายงานการวิจัยของ Market Research Future (MRFR) ได้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด ‘อุปกรณ์และบริการติดตามสอดส่องพนักงาน’ (Employee Monitoring Solution) จะสูงถึง 6.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2028
หวังมีการกำกับดูแล ไม่ให้นายจ้างรุกล้ำมากเกินไป
ในมุมมองของพนักงาน ส่วนใหญ่แล้วมักจะต่อต้านการเฝ้าติดตามสอดส่องพวกเขา และคนทำงานส่วนน้อยที่จะได้รับคำปรึกษาว่าพวกเขามีสิทธิและควรจะทำเช่นไรบ้าง
การสำรวจที่ดำเนินการโดย VMware ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ระดับองค์กร แสดงให้เห็นว่า มีพนักงานปกติทั่วไปเพียง 36 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่รู้จักเครื่องมือติดตามตรวจสอบที่ติดตั้งในองค์กร ส่วนฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) รู้จักเครื่องมือเหล่านั้นกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขนี้บ่งชี้ถึงการขาดความโปร่งใสในองค์กร
จากการสำรวจของสหภาพแรงงาน Prospect ผู้ตอบแบบสอบถาม 52 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า นายจ้างไม่ควรใช้เว็บแคมสอดส่องพวกเขา มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เห็นด้วยว่า นายจ้างสามารถใช้เว็บแคมได้ตามที่เห็นสมควร และอีก 28 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าการเฝ้าติดตามเว็บแคมเป็นที่ยอมรับได้ในบางสถานการณ์ เช่น ระหว่างการประชุม หรือเมื่อพวกเขาได้รับแจ้งก่อนว่าจะมีการติดตามทางเว็บแคม
สหภาพแรงงาน Prospect ระบุว่า ปัจจุบันนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้ล้ำหน้าไปกว่ากฎหมายการจ้างงานไปแล้ว และได้เรียกร้องให้มี “สิทธิทางข้อมูลที่เหมาะกับยุคดิจิทัล” เพื่ออัพเดตกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของคนทำงาน
“ตอนนี้ เรากำลังก้าวไปสู่ยุคที่งานถูกกำหนดจากข้อมูลดิจิทัลบนคลาวด์ และเราจำเป็นต้องประเมินสิทธิของเราในพื้นที่นั้นใหม่” ฝ่ายการสื่อสารและการวิจัยของสหภาพแรงงาน Prospect ระบุ
ส่วนการสำรวจของสหภาพแรงงาน TUC ระบุว่า คนทำงานส่วนใหญ่ 82 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยว่าควรมีกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องปรึกษาหารือและขอความยินยอมจากพนักงานก่อนที่จะติดตามสอดส่องพวกเขา เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 75 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจเมื่อปี 2020 และคนทำงานส่วนใหญ่ 72 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยว่า การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อาจเพิ่มการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในที่ทำงานได้ หากไม่มีการกำกับดูแลอย่างระมัดระวัง สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นจาก 61 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจเมื่อปี 2020 ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้สหภาพแรงงาน TUC ได้เรียกร้องให้นายจ้างควรปรึกษาหารือกับพนักงานก่อนนำระบบติดตามสอดส่องมาใช้ และยังเรียกร้องรัฐบาลออกกฎหมายที่ให้สิทธิพนักงานตัดการเชื่อมต่ออย่างเหมาะสมนอกเวลาทำงาน (right to disconnect)
ที่แอลบาเนีย เมื่อช่วงต้นปี 2021 คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลได้ตัดสินให้นายจ้างหยุดใช้เว็บแคมสอดส่องขณะที่พนักงานทำงานทางไกลที่บ้าน หลังสหภาพแรงงาน Solidariteti ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่บริษัท Teleperformance ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจัดหาลูกค้าการ ดูแลลูกค้า สนับสนุนด้านเทคนิคการ ติดตามทวงหนี้ ให้บริการด้านโซเชียลมีเดียและบริการอื่นๆ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส มีพนักงานทั่วโลกรวมกัน 330,000 คน ให้บริการใน 170 ประเทศทั่วโลก ได้ใช้กล้องเว็บแคมสอดส่องพนักงานของตนเองในการทำงานทางไกลที่บ้าน
สหภาพแรงงาน Solidariteti ที่เป็นแกนนำในการต่อต้านการสอดส่องนี้ระบุว่าหากบริษัทต้องการสอดส่องคนทำงานพวกเขาสามารถทำในสถานที่ของพวกเขาได้แต่ไม่ใช่ที่บ้านของพนักงาน ส่วนสหภาพแรงงาน UNI Global Union ที่ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ชี้ว่า นอกเหนือจะเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับพนักงาน Teleperformance ในแอลเบเนียแล้ว กรณีนี้จะยังส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมด้วย
“การทำงานจากที่บ้านไม่ได้หมายถึงการทำงานโดยไร้สิทธิ ส่วนการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบพนักงานควรได้รับการควบคุมโดยรัฐบาลและการเจรจาต่อรองร่วมกับสหภาพแรงงาน เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของคนทำงาน” สหภาพแรงงาน UNI Global Union ระบุ
ที่แคนาดา ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2022 Michael Coteau สมาชิกสภาสามัญชนแห่งแคนาดา (ส.ส.) จากพรรค Ontario Liberal Party ประกาศแผนการที่จะจัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัว นายจ้าง และพนักงาน เพื่อหารือเกี่ยวกับการติดตามสอดส่องพนักงานของธุรกิจต่างๆ
“ผมเชื่อว่าในยุคของบิ๊กดาต้า รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัลของคนทำงาน” Coteau กล่าว ” [ปัจจุบัน] นายจ้างสามารถตรวจสอบการกดแป้นพิมพ์และการแสดงออกทางสีหน้าของคุณได้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากคุณ”
Coteau กล่าวว่า แผนการของเขาคือนำข้อมูลจากการปรึกษาหารือกันนี้มาร่างกฎหมายใหม่ เพื่อแก้ไขช่องว่างในกฎหมายเดิมที่มีอยู่ โดยมุ่งหวังที่จะ “สร้างกรอบการทำงานที่ครอบคุลม โดยให้สิทธิของพนักงานเป็นแกนกลาง”.
ที่มา : plus.thairath / วันที่เผยแพร่ 17 เม.ย.65
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/101398