โดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
******************
ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใด เกิดขึ้นที่ใดในโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มากก็น้อย ดังนั้น รัฐบาลต้องคอยรับมืออยู่ตลอดเวลา เพราะอาจส่งผลกระทบทางบวกหรือลบต่อผลประโยชน์ของชาติ
เวลานี้ จุดร้อนแห่งหนึ่งของโลกอยู่ที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอยู่ในยุโรปตะวันออก ห่างไกลจากไทยหลายพันไมล์ แต่โลกเวลานี้เป็นโลกาภิวัฒน์ไปแล้ว และไทยก็เข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์ ดังนั้น จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา
เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมและมีมติประณามรัสเซีย ไทยก็ต้องตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับมตินั้น หรือคัดค้าน หรืองดออกเสียง โดยคำนึงถึงประโยชน์ระยะสั้นและระยะยาวของประเทศเป็นสำคัญ
แน่นอน การตัดสินใจย่อมไม่ถูกใจคนไทยทุกคน เพราะบางคนเชียร์รัสเซีย ไม่ต้องการให้ประณามรัสเซีย บางคนเห็นใจยูเครน ต้องการให้ประณามรัสเซีย บางคนก็บอกว่า เรื่องนี้ไกลเมืองไทย และไม่เกี่ยวกับไทยโดยตรง ดังนั้น ไทยควรงดออกเสียง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดีที่สุด
มีเสียงวิจารณ์ต่อมาว่า ทำไมเราไปประณามรัสเซีย ทำไมไม่งดออกเสียง เพราะรัสเซียเป็นมิตรประเทศของไทย ฯลฯ ซึ่งทางการไทยได้ชี้แจงแล้วว่า ให้ไปดูมติของไทยชนิดคำต่อคำ ไม่มีประโยคใดเลยที่เราประณามรัสเซีย เพียงแต่ไทยได้แสดงจุดยืนในหลักการที่ประเทศหนึ่งไม่ควรรุกรานอีกประเทศหนึ่งเท่านั้น
เวลานี้ สหรัฐฯ ได้กลับฟื้นอิทธิพลของตนในเอเชียเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค หลังจากทิ้งเอเชียไปนานเพราะมัววุ่นอยู่กับการจัดการกลุ่มก่อการร้าย อัล ไกดา และไอสิส ในตะวันออกกลาง พอหันกลับมาอีกที จีนเติบใหญ่อย่างแข็งแรงทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ชนิดหายใจรดต้นคออเมริกัน
ดังนั้น อเมริกาต้องรักษาแชมป์โลกไว้ ไม่ให้ประเทศใดมาชิงแชมป์ได้
ในยุโรป สหรัฐฯ มองรัสเซียกลับมาเป็นภัยคุกคามอันดับแรก สหรัฐฯมีเครื่องมือในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซีย รวมทั้งมาตรการทางทหารที่ผ่านนาโต เวลานี้ สหรัฐฯใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือยั่วยุรัสเซียโดยหวังว่าจะให้รัสเซียติดหล่มในยูเครน เหมือนกับที่เคยติดหล่มในอัฟกานิสถาน จนทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย ครั้งนี้ สหรัฐฯหวังจะทำลายเศรษฐกิจและการเงินของรัสเซีย ไม่ให้ประเทศพันธมิตรยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานและอาหารจากรัสเซียมากเกินไป เพื่อไม่ให้รัสเซียโตจนเป็นภัยต่อความมั่นคงของยุโรปและท้าทายความเป็นหนึ่งของสหรัฐฯ
ด้านเอเชียและแปซิฟิก สหรัฐฯพยายามรื้อฟื้นพันธมิตรเก่าและสร้างพันธมิตรใหม่ปิดล้อมจีนในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยดึงอินเดียมาร่วมกับญี่ปุ่น แกนหลักคือกลุ่ม “แองโกล แซกซ่อน” คือ สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย “ผู้ช่วยนายอำเภอ”
การอ้างอธิปไตยเหนือเกาะสแปรตลีย์และขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้ เพื่อคุมเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้ของจีน กระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯในภูมิภาคและท้าทายกองเรือที่ 7 ซึ่งต่อไปจะไม่ใช่ผู้เดียวที่คุมมหาสมุทรแปซิฟิกและช่องแคบสุมาตราอีกต่อไป นอกจากนั้น ในยามสันติ หากจีนสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามันได้ จะเท่ากับการพึ่งพาช่องแคบสุมาตราในยามสันติลดน้อยลง
ใช้อินเดียให้คุมเส้นทางลำเลียงน้ำมันของจีนจากตะวันออกกลางผ่านมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นที่รัฐยะไข่ เพื่อส่งต่อทางท่อผ่านพม่าเข้าทางตอนใต้ของจีน
บางคนมองว่า นอกจากสหรัฐฯเป็นแกนสำคัญขององค์การนาโตในยุโรปเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น และต่อต้านอิทธิพลของรัสเซียในปัจจุบัน สหรัฐฯกำลังสร้าง “นาโต 2” ขึ้นในเอเชียแปซิฟิก โดยพยายามรวมพันธมิตรเก่าต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีน มีข่าวปล่อยที่ทำให้เข้าใจว่า ไทยถูกดึงเข้าไปร่วมกับ “นาโต 2” ด้วย
หลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยไปทำความตกลงกับสหรัฐฯ ในการจัดทำเรื่องเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้คนไทยสับสน จึงขอนำคำชี้แจงของคุณธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศมาเผยแพร่ โดยไม่มีการตัดต่อเพิ่มเติมคำพูดแต่อย่างใด เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบความจริงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ดังรายละเอียดข้างล่างนี้
“ข้อเท็จจริง ก็คือ ไทยไม่เคยเข้าไปร่วม ไม่ว่าในนามอาเซียนหรือประเทศไทย ทั้งยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคของเมริกัน หรือ “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน
ล่าสุด สมัชชาใหญ่มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ยุติสมาชิกภาพ (suspend) ของรัสเซียในสภาสิทธิมนุษยชน ไทยก็งดออกเสียงร่วมกับสมาชิกอื่นรวม 58 ประเทศ
ก่อนหน้านี้ เมื่อสหประชาชาติมีมติประณามรัสเซียที่บุกยูเครน ท่าทีของไทยก็ไม่มีคำพูดใดที่ประณามรัสเซียแต่ประการใด เราเพียงแต่ยืนยันหลักการทั่วไปเท่านั้น
เพื่อป้องกันการสับสน ประชาชนต้องฟังกระทรวงต่างประเทศซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง จากการที่มีการเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเทศไทยไปทำความตกลงกับสหรัฐฯในการจัดทำเรื่องเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟกของสหรัฐฯ และกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่า
1) เอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว (unilaterally) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯกับแต่ละภูมิภาค และมีการปรับทุกปี โดยเป็นเอกสารที่หลายหน่วยงานของสหรัฐฯช่วยกันประมวลทำขึ้นมาเอง ไม่ใช่ความตกลงกับประเทศใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ประเทศไทยและรัฐบาลไทยจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนี้ ไม่มีหน่วยงานใดของไทยลงนามรับรองหรือรับรู้เอกสารฉบับนี้ หรือไปตกลงว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแต่อย่างใด
2) ในส่วนของเอกสารที่เป็นข่าวว่ามีการจัดทำร่วมกันระหว่างสองฝ่าย ไทยและสหรัฐฯนั้น เป็นเอกสารแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (ค.ศ.2020) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ( Joint Vision Statement 2020 for the Thai-US Defense Alliance) ซึ่ง นรม.ในฐานะ รมว.กห. ได่ลงนามเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 ร่วมกับนาย Mark Esper รมว.กห.ในขณะนั้น โดยเป็นเพียงการแสดงวิสัยทัศน์ร่วมย้ำความเป็นพันธมิตรและเสริมสร้างความสัมพันธ์ และเป็นแนวทางความร่วมมือระหว่าง กห.ทั้งสองฝ่าย ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ที่จะมีขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่ได้เป็นสัญญาหรือความตกลงในรูปแบบใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ การจัดทำเอกสารแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม ฯ ได้ทำตามกระบวนการขั้นตอนตามปกติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการประชาสัมพันธ์การลงนามต่อสาธารณชนผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ อย่างเปิดเผยด้วย
3) การออกเสียงที่สหประชาชาติกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ของไทย อยู่บนพื้นฐานของความเป็นเอกราชและอธิปไตยของไทย มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความเป็นกลาง และการรักษามิตรภาพการเป็นมิตรกับทุกประเทศและผลประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎกติกาสากล เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของโลก ไม่ใช่เป็นการออกเสียงเพื่อเอาใจประเทศอื่นใด หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศใด ไทยเคารพกฎกติการะหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของทุกประเทศเท่าเทียมกัน ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กว่าเป็นสิ่งที่ละเมิดมิได้ ซึ่งกฎกติกาดังกล่าวก็มีความสำคัญยิ่งกับประเทศไทยเช่นกัน การออกเสียงของไทยบนพื้นฐานนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น สมควรและรอบคอบ
4) รัฐบาลไทยตระหนักดีว่า มีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของชาติไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ใช่ด้วยการเป็นศัตรูกับประเทศอื่น หรือยอมไปอยู่ในอาณัติของประเทศใด แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยอยู่บนพื้นฐานของการยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะประเทศเอกราช โดยร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
สำหรับการกล่าวประณามหรือไม่ประณามประเทศใดในสถานการณ์ความขัดแย้ง ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องยึดหลักและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการสากลที่ทุกประเทศเคารพเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และประเด็นที่ประเทศไทยต้องการสนับสนุนยิ่งและเน้นย้ำตลอดมา คือ ขอให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการเจรจาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่กรณีมีทางออก เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งไม่เคยมีผู้ชนะ มีแต่ผู้แพ้ และผู้ที่แพ้มากที่สุด ก็คือประชาชน
ไทยมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับทุกประเทศที่มีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน จึงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนของประเทศเหล่านั้น ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม และการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้ง
5) เนื่องจากขณะนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สำหรับไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันต่อ GDP สูงที่สุดประเทศหนึ่ง ก็ได้รับผลกระทบด้านพลังงาน ราคาสินค้า และเงินเฟ้อ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะบรรเทาผลกระทบของความขัดแย้งกับประชาชนไทยอย่างเต็มที่แล้ว แต่ไทยจะสามารถผ่านวิกฤตินี้ได้ด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการรักษามิตรภาพกับทุกประเทศและการสื่อสารให้ดำเนินอยู่ตลอดเวลา
6) การดำเนินนโยบายต่างประเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือและความมั่นใจของนานาประเทศในความมั่นคงและความมีเอกภาพของนโยบายของไทย จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน มิใช่เป็นเรื่องไม่จริงแต่บอกเล่ากันต่อๆ มา จนกลายเป็นข้อเท็จจริง เพราะเรื่องการต่างประเทศ เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความเป็นเอกภาพของนโยบายของเราได้ ก็จะเป็นปัญหาของประเทศเราเอง”
บทความวันนี้ ได้อุทิศพื้นที่ส่วนใหญ่ให้กับคำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยชี้แจงและออกทางสื่อโซเชียลไว้แล้ว มาลงอีกครั้งสำหรับผู้ที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้ เพื่อป้องกันการสับสน มีอะไรขอให้ถามแ ละฟังกระทรวงต่างประเทศซึ่งรับผิดชอบโดยตรง “ การทูต” ไทยเป็นพลังอำนาจสำคัญที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้ประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัยตลอดมาจนถึงขณะนี้
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 14 เม.ย.65
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/680665