นอกจากสงครามการเมือง สงครามเศรษฐกิจ และสงครามที่ใช้อาวุธห้ำหั่นกันระหว่างรัสเซียกับยูเครนแล้ว ล่าสุด กองหนุนยูเครนเช่น สหรัฐและชาติยุโรปตะวันตกนอกจากส่งอาวุธให้ยูเครนสู้กับรัสเซียแล้ว มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลวอชิงตันนิยมใช้ในทางการเมือง คือ ขับนักการทูตรัสเซียที่ประจำอยู่ในสถานทูตและสถานกงสุลรัสเซียในสหรัฐ
คราวนี้ วอชิงตันได้ชักชวนสมาชิกนาโตในยุโรปช่วยกันขับนักการทูตรัสเซียที่ประจำอยู่ในประเทศนั้น ๆ อิตาลีได้ขับนักการทูตรัสเซียประจำอิตาลีกลับประเทศไปแล้ว 30 คน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและวิกฤติการณ์ยูเครน เยอรมนี ซึ่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติจำนวนมากจากรัสเซีย ก็สั่งขับ 40 คน สเปนสั่งขับนักการทูตรัสเซียประมาณ 25 คนกลับประเทศ อิตาลี จับนักการทูตรัสเซีย 30 คน สวีเดน สั่งขับทูตรัสเซีย 3 คน เดนมาร์กขับทูตรัสเซีย 15 คน โรมาเนียขับนักการทูตรัสเซีย 10 คน สโลวาเนีย ขับนักการทูตรัสเซีย 33 คน เอสโทเนีย ก็เอากับเขาด้วยเหมือนกัน
เพียง 48 ชั่วโมงแรก ประเทศพันธมิตรนาโตขับทูตรัสเซียแล้วรวมประมาณ 150 คน หากรวมตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน มีนักการทูตรัสเซียถูกขับออกจากสหรัฐและสมาชิกนาโตมากกว่า 200 คน บางข่าวบอกว่าเกือบถึง 400 คน
การที่สหรัฐและสมาชิกนาโตสั่งขับนักการทูตรัสเซียกลับประเทศนี้ เป็นการแสดงออกทางการทูตและการต่างประเทศเท่านั้น ไม่มีผลต่อสถานการณ์สู้รบในยูเครน เพราะ รัสเซียก็ยังบุกยูเครนต่อไป ผู้นำยูเครนก็ยัง “ เดี่ยวไมโครโฟน “ เรียกร้องการสนับสนุนจากนาโตต่อไป สหรัฐและนาโตก็ส่งอาวุธให้กับยูเครนสู้กับรัสเซียต่อไป แต่ละประเทศยังมีชื่อนักการทูตรัสเซียที่หมายหัวไว้อีกหลายคน ทำนองเดียวกัน รัสเซียก็ยังมีรายชื่อนักการทูตอเมริกันและนาโตจำนวนมากอยู่ในกระเป๋าที่จะควักมาใช้ได้ในโอกาสต่อไป คนที่นาโตและรัสเซียไล่กลับอยู่ในลำดับต้น ๆ ของบัญชีเท่านั้น
ข้ออ้างของประเทศเหล่านี้ มีตั้งแต่เหตุผลด้านความมั่นคงกว้าง ๆ ซึ่งคลุมได้มากมาย ในกรณีนี้ รู้กันว่าเป็นการรวมหัวกันเพื่อตอบโต้รัสเซียในการบุกยูเครน จนกระทั่งระบุตรง ๆ ว่าทำจารกรรม
นี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรก ทั้งสหรัฐและยุโรปเคยขับทูตรัสเซียมาก่อนนี้หลายครั้ง เช่นเดียวกับที่รัสเซียขับทูตสหรัฐและตะวันตกเป็นการตอบโต้กลับทุกครั้ง เมื่อเดือนตุลาคม 2564 นาโต “ เลิกรับรอง “ นัยหนึ่ง ขับไล่ผู้แทนรัสเซีย 8 นายประจำนาโต รัสเซียตอบโต้ด้วยการประกาศระงับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้แทนนาโตที่ทำงานอยู่ในรัสเซีย และปิดสำนักงานนาโตในรัสเซีย หลังจากที่นาโตขับไล่นักการทูตรัสเซีย 8 คน ที่เป็นผู้แทนประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่นาโต รัสเซียแจ้งว่า หากสมาชิกนาโตมีเรื่องเร่งด่วนที่จะติดต่อกับรัสเซีย ก็สามารถติดต่อผ่านสถานทูตรัสเซียในเบลเยี่ยมได้
รัสเซียใช้ระบบ “ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน “ ทุกครั้ง ในกรณีที่รัสเซียขับนักการทูตตะวันตกที่ประจำอยู่ในรัสเซีย ประเทศตะวันตกก็ตอบโต้ในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สหรัฐและอังกฤษเป็นฝ่ายริเริ่มก่อนแทบทุกครั้ง ประเทศอื่น ๆ ไม่ค่อยมีเรื่องทำนองนี้ แต่คราวนี้ สมาชิกนาโตประเทศอื่นเข้าร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกดดันจากสหรัฐเป็นสำคัญ
ในทางการทูตอาจถือว่าเป็นเรื่องรุนแรงพอสมควร แต่ในด้านความมั่นคง ถือว่าการขับไล่ทูตตอบโต้กันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ฝ่ายใดริเริ่มก่อน อีกฝ่ายก็ตอบโต้ในระดับเดียวกัน ไม่ต้องไปตื่นเต้นอะไร โดยเฉพาะสหรัฐ อังกฤษ กับรัสเซีย ทำกันเป็นประจำ
หน่วยข่าวรัสเซีย ทั้ง เอส.วี.อาร์ (เค.จี.บี เก่า) และหน่วยข่าวกรองทางทหาร จี.อาร์.ยู ของรัสเซีย ส่งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองไปทำงานอยู่ทั่วโลกภายใต้การอำพรางของนักการทูต หรือประจำองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับเอกสิทธิความคุ้มครองเช่นเดียวกับนักการทูตทั่วไป หากเกิดพลั้งพลาดมา ก็ไม่ถูกจับ อย่างดีก็โดนรัฐบาลประเทศที่ตนไปประจำอยู่ประกาศเป็น “ บุคคลไม่พึงปรารถนา “ (Persona Non Grata) จะไปจับกุมคุมขังเขาไม่ได้
นั่นเป็นจุดแข็ง แต่จุดอ่อนของสถานะอำพรางทางการทูตก็มีไม่น้อย เพราะไม่วันใดวันหนึ่ง หน่วยต่อต้านข่าวกรองของประเทศเจ้าบ้านก็สามารถพิสูจน์ทราบได้ เพราะคนพวกนี้ต้องออกไปสร้างหาสายลับ พบปะสายลับซึ่งเป็นคนท้องถิ่น แต่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่ฝังตัวอยู่นอกสถานทูตภายใต้การอำพรางต่าง ๆ นั้น อาจถูกเพ่งเล็งน้อยกว่า หรือเล็ดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่ต่อต้านข่าวกรองได้ แต่ข้อเสียคือ เมื่อถูกจับก็ต้องติดคุกหัวโต เพราะรัฐบาลหรือสถานทูตของตนไม่สามารถออกมาปกป้องคุ้มครองได้
คนที่ถูกรัฐบาลสหรัฐและสมาชิกนาโตขับออกมานี้ ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดอยู่ในบัญชีของหน่วยรักษาความปลอดภัย หรือหน่วยต่อต้านข่าวกรองของประเทศนั้นๆ แล้ว เมื่อรัฐบาลมีนโยบายขับคนเหล่านี้ออกไป ก็เอาบัญชีมากาง ใครที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศนั้นก็ถูกเสนอชื่อให้ขับออกไป ซึ่งเท่ากับลดอันตรายต่อประเทศของตนไปได้ไม่มากก็น้อย แม้ประเทศเจ้าภาพจะส่งคนมาทดแทน แต่กว่าจะทำงานได้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร บัญชีลำดับต้น ๆ ที่ค่อนข้าง “ แอ็คตีฟ “
ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และเมืองใหญ่ในสหรัฐ ในกรุงลอนดอน กรุงปารีส ฯลฯ แม้แต่ในกรุงเทพเอง ก็เต็มไปด้วยสายลับต่างชาติเดินกันขวักไขว่ไปหมด แม้เวลานี้ การหาข่าวทำได้ง่ายขึ้นโดยการดักฟังการติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ทางโซเชียลมีเดีย ฯลฯ แต่การใช้เจ้าหน้าที่ข่าวและสายลับไม่เคยหายไปจากโลกใบนี้
วิธีที่ปลอดภัยไม่ให้ถูกหน่วยต่อต้านจารชนประเทศนั้นจับได้ ก็คือ การนัดพบกับสายลับใน “ ประเทศที่สาม “ ดังนั้น ในประเทศเป็นกลางในยุโรปตะวันตกครั้งหนึ่งจึงเป็นที่สายลับประเทศต่างๆ เดินกันให้วุ่นไปหมด ส่วนประเทศเจ้าบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไรหากไม่ทำอะไรที่เป็นกระทบกระเทือนความมั่นคงของเขา
การขับไล่นักการทูตรัสเซีย – อเมริกันและยุโรป ตอบโต้กันครั้งนี้ดูจะรุนแรงมากกว่าทุกครั้ง สาเหตุหลักน่าจะมาจากตอบโต้การที่รัสเซียบุกยูเครน สหรัฐจึงสามารถดึงพันธมิตรนาโตรวมหัวกันขับนักการทูตรัสเซีย คราวนี้รัสเซียเสียเปรียบเพราะสหรัฐและพันธมิตรนาโตรวมหัวกันเล่นงานขับนักการทูตรัสเซียออกนอกประเทศ
เกมจารกรรม และเกมไล่ล่าจารชน ก็ยังดำเนินต่อไป
บทความโดย …ภุมรัตน ทักษาทดิพงศ์
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 28 เม.ย.65
Link : https://www.posttoday.com/politic/report/681674