หากเทียบกับในอดีตแล้ว ข้อมูลที่ถูกผลิตขึ้นในปัจจุบันนั้นมีทั้งรายละเอียด รูปแบบ และปริมาณที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เปิดประตูมากมายให้กับธุรกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ปัญหา และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ในบทความนี้เราได้สรุปมุมมองจาก ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ถึงปัจจัยที่จะกำหนดความสำเร็จของธุรกิจในการนำข้อมูลไปใช้
เวลาเปลี่ยน ข้อมูลเปลี่ยน
ข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในโลก และก่อนการเกิดของคำว่า Big Data ธุรกิจจำนวนมากก็มีการนำข้อมูลมาใช้ในการดำเนินการเสมอ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันคือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทำให้เกิดข้อมูลรูปแบบใหม่ๆที่จะช่วยบอกเล่าเรื่องราวให้กับธุรกิจได้มากกว่าเดิม เช่น ข้อมูลจากเครือข่ายโซเชียล ที่สามารถช่วยให้ธุรกิจเข้าใจในตัวลูกค้าได้มากขึ้น
นอกจากรูปแบบข้อมูลที่แตกต่างและละเอียดขึ้นแล้ว การประมวลผลข้อมูลยังมีความซับซ้อนและ “เก่ง” ขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น การใช้เทคนิค AI และ Machine Learning เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล
ใครๆ ก็อยากใช้ข้อมูล แต่ข้อมูลไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง
ความสามารถของข้อมูลนั้นมีมากและช่วยธุรกิจได้จริง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าคำว่า Big Data หรือศัพท์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับข้อมูลจะได้รับความสนใจจากธุรกิจอย่างรวดเร็ว ทว่าหนึ่งมุมมองที่บิดเบือนไปคือการมุ่งหวังว่าพอนำข้อมูลเข้ามาใช้แล้ว ปัญหาจะหมดไป หรือธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
จากมุมมองของ ดร.ศักดิ์ ธุรกิจจำนวนมากนั้นมีปัญหาที่คล้ายๆกัน 3 ข้อ ดังนี้
1.ธุรกิจไม่ตั้งโจทย์และกำหนดเป้าหมายในการนำ Big Data มาใช้ให้ชัดเจน เมื่อนำข้อมูลมาใช้จึงไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามที่หวัง และอาจได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยไม่สมน้ำสมเนื้อกับการลงทุนลงแรง
2.องค์กรไม่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลให้พนักงานอย่างเพียงพอ พนักงานจึงไม่ใส่ใจในการนำข้อมูลมาใช้ในการทำงาน ไม่มีกระตือรือร้นในการทำงานกับข้อมูล ส่งผลให้ไม่เกิดวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลขึ้นในองค์กร และไม่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลเต็มที่
3.ความคาดหวังผิดๆเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล โดยส่วนมากมักมองว่าเมื่อนำข้อมูลเข้ามาใช้จะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง ดร.ศักดิ์ มองว่าในหลายๆ กรณีนั้น กว่าโครงการ Big Data จะเห็นผล ก็ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี
จะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้คือ การที่องค์กรไม่สามารถสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกในองค์กรได้ว่าการนำข้อมูลมาใช้นั้นจะเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใด สร้างความเปลี่ยนแปลงและคุณค่าอย่างไรนั่นเอง
‘กำหนดเป้าหมาย – เตรียมคน – เตรียมจัดการ’ 3 ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการทำ Big Data
ดร.ศักดิ์ เชื่อว่าการจะนำข้อมูลหรือ Big Data มาใช้ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จนั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
1. กำหนดเป้าหมาย
สิ่งแรกที่องค์กรจะต้องทำ คือการตอบคำถาม Why-What-How ของการนำข้อมูลมาใช้ให้ได้เสียก่อน เพื่อกำหนดเป้าหมายและวิธีการใช้ข้อมูลให้ชัดเจน
– Why ทำไมองค์กรต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล จะนำข้อมูลไปทำอะไร
– What ข้อมูลรูปแบบไหนที่องค์กรจะต้องใช้บ้าง ข้อมูลใดไม่เกี่ยวข้อง
– How จะนำข้อมูลมาใช้อย่างไร ใช้เครื่องมือแบบไหน วิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีอะไรที่เหมาะสมกับข้อมูลที่ใช้ และผลลัพธ์ที่ต้องการ
2. เตรียมคน
การใช้ข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับสมาชิกทุกคนในองค์กร ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแผนก IT ที่ต้องเตรียมการวางระบบและเครื่องมือ แต่สมาชิกในแผนกอื่นๆ ก็ต้องเข้าใจข้อมูลที่มีอยู่ การใช้งาน รวมไปถึงประโยชน์และคุณค่าที่ข้อมูลสามารถสร้างให้กับงานที่รับผิดชอบอยู่ได้ เช่น หากต้องการนำข้อมูลเข้ามาช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้า ฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด ก็ต้องเข้าใจข้อมูลที่มี ผลการวิเคราะห์ และการนำผลลัพธ์ไปเปลี่ยนเป็นกลยุทธ์เพื่อใช้ประโยชน์
นอกจากสมาชิกระดับปฏิบัติการณ์แล้ว ผู้บริหารเองก็ต้องปรับมุมมอง ทั้งความเข้าใจว่าองค์กรมีข้อมูลอะไร สามารถนำมาใช้ได้อย่างไร และการปรับการทำงานโดยนำข้อมูลมามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในการตัดสินใจทางธุรกิจและการคำนึงถึงข้อมูลในการวางกลยุทธ์ใหม่ๆ
3. เตรียมจัดการข้อมูล
แน่นอนว่าองค์กรที่ใช้งานข้อมูลก็ต้องมีกลไกในการจัดการข้อมูล หรือ Data Governance ที่เป็นระบบ องค์กรต้องวางนโยบายด้านข้อมูล หารือร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเกี่ยวกับการจัดการ แต่งตั้งผู้รับผิดชอบ มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทั้งเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
Data ไม่มีคำว่าจบ
ดร.ศักดิ์ กล่าวว่างานเกี่ยวกับข้อมูลนั้นจะวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ องค์กรจะต้องวางกลไกให้ธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง “อย่าคาดหวังว่าวันแรกทุกสิ่งจะสำเร็จ 100% แต่เราจะต้องวางรางฐานโดยเริ่มจากการตั้งโจทย์เป็นอันดับแรก”
อ่านมุมมองของดร.ศักดิ์ เสกขุนทด เพิ่มเติมได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/05/17/1100/
ที่มา : techtalkthai / วันที่เผยแพร่ 17 พ.ค.65
Link : https://www.techtalkthai.com/jrit-ichi-3-factors-to-build-data-culture/