การหลอกลวงมนุษย์ ตั้งแต่การตกทองแบบปกติที่ไม่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต จนมาถึง การตกทองผ่านทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่แชร์แม่ชม้อยที่มีการนำกลยุทธตกทองกลับมาใช้อย่างแยบยล
มาถึงวันนี้การหลอกลวงด้วยกลยุทธแบบเดิมๆก็ยังไม่ล้มหายตายจากไป แต่ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นและมีรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น Romance Scam Sextortion แก๊ง Call Center แก๊งหลอกโอน รวมไปถึงการหลอกลวงบนสื่อโซเชียล
การหลอกลวงผ่านแชตที่เกิดขึ้นทั้งทาง LINE , Facebook , IG และ Twitter (ซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการหลอกลวงดังกล่าว) ล่าสุดที่กำลังร้อนแรงคือ การหลอกลวงเด็กนักเรียนนักศึกษาให้หารายได้พิเศษ
มิจฉาชีพจะใช้ช่องทาง Twitter ตั้งข้อความติดแฮชแท็กที่ดึงดูด เช่น #งานออนไลน์ได้เงินจริง #งานออนไลน์ไม่จำกัดอายุ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อเข้าไปคลิกเข้าไปคุยด้วย ก็จะบอกให้เพิ่มเพื่อนทาง LINE จากนั้นปฏิบัติการหลอกลวงต้มตุ๋นก็จะเริ่มต้นขึ้น
ด้วยการชักชวนให้ลงทุนในเกมส์ออนไลน์ที่มีลักษณะคล้ายบ่อนพนันออนไลน์ บอกให้เหยื่อเข้าไปที่ Web Application ที่สร้างเอาไว้ซึ่งมีหน้าตาคล้ายคลึงกับ Mobile App ใน App มีให้เล่นเกม เสี่ยงโชคคล้ายกับไฮโล มีสูงต่ำ และ มีระบบโอนเงินเข้าออก หน้า App สามารถแสดงตัวเลขเงินของผู้เล่น
เมื่อลงทุนแล้วได้กำไรเงินก็จะเข้ามาอยู่ในกระเป๋าซึ่งสามารถโอนเงินเข้าในบัญชีของเหยื่อได้ การหลอกลวงจะเริ่มจากลงทุนน้อยๆ 50 บาท ได้กลับมา 75-80 บาท
จากนั้นจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินออกไปยังบัญชีของตัวเองได้เห็นเงินเข้าบัญชีเหยื่อทันที สร้างความเชื่อถือว่าได้ผลตอบแทนจริงๆ
จากนั้นจะหลอกเหยื่อให้ลงทุนต่อสัก 100 บาทเพื่อให้ได้กลับคืนมา 120-130 บาท และ หลอกต่อว่าลงทุน 500 บาท อาจได้กลับคืนมากว่า 1,000-2,000 บาท กระทั่งถึงหลักหมื่นบาท
และที่สำคัญจะมีเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาคือ “ห้ามเล่นผิดขั้นตอน” ซึ่งเหยื่อจะยังไม่รู้ตัวก็จะเล่นไปเรื่อยๆ
จนเมื่อลงทุนเพิ่มก็จะถลำไปเรื่อยๆ ปฏิบัติการกลเกมในการหลอกก็เริ่มตุกติก ขี้โกงเหยื่อดื้อๆ มิจฉาชีพจะบอกว่าเหยื่อโอนผิดขั้นตอน เช่น อาจจะผิดที่ไม่เขียนรายละเอียดในสลิปการโอนเงิน หรือ ยังเล่นไม่ครบรอบ จะหลอกลวงเหยื่อไปเรื่อยๆจนบางรายเสียเงินให้มิจฉาชีพไปหลายแสนบาทเลยทีเดียว
เมื่อทำผิดขั้นตอนก็จะมี Coach ปลอมเป็นอาจารย์ออกมาแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร? ซึ่งคำแนะนำนั้นก็คือ “การซ่อม” จะต้องโอนเงินไปซ่อม เช่นว่าโอน 20,000 บาท แล้วจะได้เงินกลับคืน 40,000 บาท แต่เมื่อโอนไปจริงก็ยังผิดขั้นตอนอยู่ดี และต้องซ่อมกันใหม่
ทีนี้ก็จะให้โอน 40,000 บาท เพื่อที่จะได้เงินกลับคืน 80,000 บาท เป็นต้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเหยื่อเริ่มรู้ตัว ก็จะหายไปเลย หรือถ้าเราตามมากๆ ก็จะตอบด้วยข้อความที่หยาบคาย
บางคนอาจจะสูญเสียเงินหลักหมื่น บางคนสูญเสียหลักแสน หรือบางคนอาจจะสูญเสียนับล้านก็เกิดขึ้นมาแล้ว… ดังนั้นเราจึงควรต้องกลับมาคิดว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้ !!!
ผู้เขียนขอเล่าเรื่องแยกเป็น 3 ขั้นตอนตามช่วงเวลา เริ่มตั้งแต่ ขั้นตอนที่หนึ่ง “Pre-Attack” ยังไม่ถูกหลอก ขั้นตอนที่ สอง “During Attack” ระหว่างถูกหลอก และ ขั้นตอนที่สาม “After Attack” หลังจากที่ถูกหลอกไปแล้ว ในแต่ละช่วงของสถานการณ์ดังกล่าวเราควรต้องทำอย่างไร ผู้เขียนได้ขยายความไว้ในแต่ละหัวข้อ ดังนี้
ขั้นตอนที่หนึ่ง “Pre-Attack” : อย่าคิดว่าจะไม่โดนหลอก-หยุดภัยได้ด้วยตัวเองเท่านั้น
ขณะที่เรายังไม่ถูกหลอกก็ “อย่าคิดว่าเราจะไม่โดนหลอก” แม้จะเป็นคนที่มีความรู้มีทักษะที่ดีก็ตาม หากเผลอเมื่อไรเราก็อาจจะถูกหลอกได้ จึงต้องมีสติทุกขณะ ไม่โลภ และ ไม่กลัว มากจนเกินไป
ผู้เขียนขอเสนอหลักการในการป้องกันตัวเองง่ายๆ โดย “การหยุดภัยด้วยตัวเองเท่านั้น” เป็นวิธีที่ดีที่สุดในเวลานี้ ซึ่งเราต้องตระหนักไว้เสมอว่า “ไม่มีของฟรีในโลก” และ “Too good to be true” ไม่มีอะไรที่ดีเกินจริง หรือได้มาง่ายๆ
เช่น ลงทุน 50 บาทได้ 100 บาท ภายในเวลาไม่กี่นาที เป็นต้น และ ที่ยิ่งกว่าตัวเราเองคือ บุตรหลาน พ่อแม่ ญาติสนิท คนใกล้ตัวของเราซึ่งเป็นคนกลุ่มเสี่ยงสูงอาจถูกหลอกเมื่อไรก็ได้เช่นกัน…ประเด็นนี้มีคำแนะนำ ดังนี้
1. บัญชีออนไลน์ที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของคนกลุ่มเสี่ยงสูง ไม่ควรมีเงินคงไว้จำนวนมาก ควรมีแค่เพียงพอใช้ในแต่ละวันเท่านั้น หากเงินหมดก็ให้โอนมาจากบัญขีอื่น
2. คนกลุ่มเสี่ยงสูงโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเยาวชน ต้องมีความรู้ในวิธีตรวจสอบเบื้องต้น ควรนำเบอร์โทรหรือ ชื่อ นามสกุล คู่สนทนา ไปเช็คในแอปหรือค้นหาในอินเทอร์เน็ต เพื่อตรวจสอบ เช่น เช็คใน web https://www.blacklistseller.com/ หรือ web ฉลาดโอน https://www.ฉลาดโอน.com/
3. ฉีดวัคซีนไซเบอร์โดยด่วน สอนทักษะให้ความรู้คนกลุ่มเสี่ยงสูง และย้ำว่า “อย่าคิดว่าจะไม่โดนหลอก” สำคัญที่สุดคือ “หยุดภัยด้วยตัวเอง” บนหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุบนโลกออนไลน์ทั้ง ของฟรี งานดีเงินเร็ว หรืออะไรที่ได้มาง่ายซึ่งไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน สติและการพิจารณาโดยละเอียดอย่างช้าๆเท่านั้นที่จะช่วยเราได้
ขั้นตอนที่สอง “During Attack” : จะคุยกับใครผ่านออนไลน์ต้อง “รู้ข้อมูลเขา-มีสติ-วิเคราะห์เจตนา”
ช่วงเวลาระหว่างที่เรากำลังถูกหลอก ในขณะที่คุยผ่านแชต หรือ คุยกับใครทางออนไลน์ที่ต้องมีการโอนเงิน ให้เช็คทันทีโดยการถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อให้รู้จักตัวตนของคนที่เราคุยด้วย เช่น ถามชื่อจริง นามสกุลจริง ชื่อบริษัท เลขบัตรประชาชน ถามที่อยู่ ขอเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อกันได้ก่อนโอน ให้เราสามารถโทรไปพูดคุยได้
ถ้าสามารถเปิดกล้อง โทรคุย ฟังเสียง VDO Call เห็นหน้าด้วยยิ่งดี ตรวจสอบได้เลยว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ ถ้าเป็นมิจฉาชีพมักจะไม่ให้ชื่อไม่ให้เบอร์โทรจริง ไม่ยอมเปิดกล้อง และ ไม่ให้อะไรที่ระบุตัวตนได้ง่ายๆ ซึ่งโดยปกติแล้วมิจฉาชีพจะไม่ให้ข้อมูลอะไรที่สามารถโยงถึงตัวเอง ยกเว้นการหลอกลวงในกรณี Sextortion ที่จำเป็นจะต้องให้ VDO Call เพื่อพูดคุยกัน
ถึงแม้ว่าจะรู้ข้อมูลส่วนตัวและได้พูดคุยผ่านโทรศัพท์หรือ VDO Call แล้ว อาจยังไม่พอ เราก็ยังต้อง “มีสติ-วิเคราะห์เจตนา” ของคนที่เข้ามาคุยด้วย และถ้าเราจำเป็นต้องพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักตัวตนจริงๆ เราก็ไม่ควรที่จะเชื่อทั้งหมดต้องมีสติตลอดเวลา
ขั้นตอนที่สาม “After Attack” : แจ้งความผ่านระบบออนไลน์เปิดบริการแล้วตั้งแต่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565
ถ้าเราโดนหลอกและโอนเงินไปแล้ว สิ่งที่ควรจะต้องทำต่อไปก็คือ การแจ้งความ ที่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดยไปที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565
https://online.police.go.th
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรวบรวมและติดตามคดีต่างๆ ให้แก่ผู้เสียหาย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อจะนำข้อมูลจากการแจ้งความมาใช้เป็นประโยชน์ในการประมวลผลต่อไป
นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ ควรแชร์ประสบการณ์อันเลวร้ายเพื่อเป็นวิทยาทานให้แก่บุคคลอื่น ลดความเสี่ยงที่ผู้คนจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่โดนหลอกน่าจะดีที่สุด เพราะโอกาสที่จะได้เงินคืนทั้งหมดนั้นค่อนข้างยาก โดยเฉพาะหากมีการโอนเงินไปต่างประเทศหรือแปลงเป็น Cryptocurrency เรียบร้อยแล้ว
“PPT and Technical Revolution”
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการหลอกลวงมีมาหลายสิบปีก็ยังคงมีอยู่ไม่หมดไปอีกทั้งยังมีการพัฒนาการที่ก้าวล้ำขึ้นโดยเฉพาะการมาบรรจบกันของเทคโนโลยี ช่องทาง รูปแบบ และระยะเวลาที่อำนวยโอกาสมากขึ้น
ผู้เขียนจึงขอแบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่จะอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสำหรับการป้องกันตนเองจากปรากฎการณ์ Technological Revolution ซึ่งประกอบด้วยหลักการ PPT ได้แก่ “People Process and Technology”
People :
แบบเดิม ใช้คนในการหลอก มีการพูดคุยติดต่อกันแบบซึ่งหน้า อย่างมากก็จะใช้โทรศัพท์ นั่นก็คือมีตัวตนจริงที่พิสูจน์ได้ไม่ยาก
ยุคปัจจุบัน ส่วนมากยังคงใช้คนในปฏิบัติการหลอกลวงต่างๆ แต่บางส่วนก็ใช้เทคโนโลยีในการปกปิดตัวตนเวลาแชตกับเหยื่อ ซึ่งหลายกรณีจะไม่ได้ยินเสียง ไม่เห็นหน้า แต่จะคุยกันผ่านตัวหนังสือแทน ทำให้ระบุตัวตนจริงได้ยาก
Process :
แบบเดิม ยุคตกทอง หลอกให้ผู้คนเข้ามาลงทุน ได้ผลตอบแทนสูง จูงใจให้คนจำนวนมากเข้าร่วมลงทุนเพราะความโลภเป็นหลัก
ยุคปัจจุบัน เสมือนกับสร้างหน้ากากใหม่เป็นการหลอกให้ลงทุนโดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นลงทุนใน Coin/Token/Cryptocurrency/NFT/Defi หรือแม้แต่ชวนเล่นเกมพนันผ่านระบบออนไลน์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นก็เป็นกระบวนการใหม่ๆ ที่นิยมใช้ในการหลอกลวง
Technology :
แบบเดิม ที่ผ่านมานั้นมักใช้เทคโนโลยียอดนิยม คือ หลอกผ่านมาทาง SMS และ ทางโทรศัพท์ เช่น แก๊ง Call Center
ยุคปัจจุบัน อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มีช่องทางมากมายโดยเฉพาะสื่อโซเชียลที่ใช้ในการพูดคุยโต้ตอบกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียงหรือเห็นหน้า ซึ่งนั่นหมายความว่าเหยื่อจะไม่สามารถระบุตัวตนได้ มิจฉาชีพนิยมเข้ามาหลอกผู้คนโดยผ่าน Social Media Platform ที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook, IG หรือ Twitter ฯลฯ
ยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ที่จะมี Metaverse เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ก็ยิ่งจินตนาการได้ว่าจะเป็นช่องทางในการหลอกลวงได้อีกช่องทางหนึ่ง ขณะเดียวกันจะยิ่งเพิ่มความแนบเนียนยากที่จะแยกได้ระหว่างจริงหรือ
นั่นคือความน่ากลัวที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีอันชาญฉลาด เชื่อว่าอย่างไรก็ตามภัยจากการหลอกลวงจะไม่หมดไปจากโลกนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้อง มีสติ และ เรียนรู้ให้รู้ทันในทุกขณะ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท.
คอลัมน์ : รู้ทันไซเบอร์
ดร.ปริญญา หอมเอนก
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด
https://web.facebook.com/prinyah
prinya.ho@acisonline.net
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 22 พ.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/columnist/1005710