จาก ‘Influencer จัดตั้ง’
ถึง ‘Propaganda ยุค 5 G’
ก่อนยุค 1 G โลกของเรามี Propaganda ในฐานะ “โฆษณาชวนเชื่อ”
ที่ไม่ว่าจะอยู่ในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด ต่างก็ล้วนใช้ Propaganda เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในยุทธศาสตร์การตลาด เช่น “ลัทธิฟาสซิสต์”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่ายคอมมิวนิสต์” ที่ขึ้นชื่อลือชาด้านการนำแนวคิด Propaganda มาใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการประชาสัมพันธ์แนวคิดของพรรคฯ เพื่อดึงมวลชน และขยายเขตงานออกไปอย่างไม่สิ้นสุด
ศาสตราจารย์ ดร. Garth Jowett และศาสตราจารย์ ดร. Victoria O’Donnell เจ้าของหนังสือ Propaganda and Persuasion ได้อธิบายนิยามของ Propaganda ว่าหมายถึง “ความพยายามอย่างเป็นระบบโดยเจตนา ในการกำหนดรูปแบบการรับรู้ การปรับเปลี่ยนความเข้าใจ และโน้มน้าวพฤติกรรม เพื่อการตอบสนองความตั้งใจ จนกระทั่งบรรลุจุดมุ่งหมายของผู้โฆษณาชวนเชื่อ”
ศาสตราจารย์ ดร. Garth Jowett และศาสตราจารย์ ดร. Victoria O’Donnell ชี้ว่า Propaganda นั้น เป็น “วาทศิลป์” อย่างไม่ต้องสงสัย
“Propaganda คือโฆษณาชวนเชื่อที่มีวาทศิลป์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาในแง่มุมเชิงวิชาการ และการโฆษณาชวนเชื่อทางประวัติศาสตร์ที่ Classic ทั้งหลาย ต่างก็มีวาทศิลป์เป็นองค์ประกอบหลักอยู่เสมอ” ศาสตราจารย์ ดร. Garth Jowett และศาสตราจารย์ ดร. Victoria O’Donnell สรุป
Propaganda รุ่น 5 G ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับกระแสความนิยม Influencer ยุค Social Media ครองโลก
Brian Griffin ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ของ Vero ซึ่งเป็นบริษัท Agency ปรึกษาด้านการตลาดชั้นนำ ได้อธิบายคำว่า Influencer ว่าหมายถึง ผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์
“Influencer คือคนที่มีผู้ติดตามมากพอที่จะสร้างผลกระทบทางด้านวัฒนธรรม และในเชิงเศรษฐกิจ เช่น Celebrity Fashionista Backpacker
ไปจนกระทั่ง Guru นักชิมอาหาร และบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม ศิลปะ หรือ Gamer ต่างๆ” Brian Griffin ทิ้งท้าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับการปรากฏตัวของ “Influencer จัดตั้ง” ในยุค “Propaganda 5 G”
นั่นคือสำนักข่าว CGTN ของทางการจีน กับกองทัพ Influencer บนเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์สัญชาติอเมริกัน
ไม่ว่าจะเป็น Instagram Facebook YouTube Twitter โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TikTok ของจีนเอง
โดยกองทัพ Influencer เหล่านี้มีทั้ง Influencer ชาวจีน ทั้งที่อยู่ในจีน และอยู่นอกจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตก
วัตถุประสงค์ของ Influencer คือการเผยแพร่ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศจีน ผนวกกับการหยอดข้อมูล “โฆษณาชวนเชื่อ” หรือ Propaganda ในเชิงลบต่อชาติตะวันตกด้วยในหลายต่อหลายครั้ง
โดย Influencer เหล่านี้ได้กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียน “สถานภาพส่วนตัว” บนบัญชี Social Media ว่าเป็น “Blogger อิสระ”
หรือเป็น Celebrity Fashionista Backpacker Guru นักชิมอาหาร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม ศิลปะ หรือ Gamer ต่างๆ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาเหล่านี้ต่างมีความเชื่อมโยงกับ CGTN
Influencer ซึ่งโด่งดังที่สุดเห็นจะเป็น Vica Li เจ้าของบัญชี Social Media หลาย App ไม่ว่าจะเป็น TikTok Instagram Facebook YouTube Twitter
ปัจจุบัน มีบรรดาแฟนพันธุ์แท้ติดตาม Vica Li รวมกันมากกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Vica Li ปรากฏตัวในพื้นที่ข่าวของ CGTN หลายต่อหลายครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการระบุสถานะของ Vica Li บน Website ของ CGTN ว่า Vica Li นั้นเป็น “นักข่าว Digital”
เเม้ Vica Li จะพยายามบอกกล่าวเหล่าแฟนพันธุ์แท้บนบัญชี Social Media ส่วนตัวว่า เธอสร้างช่อง Social Media เหล่านี้ขึ้นเอง
อย่างไรก็ดี ได้มีการขุดคุ้ยว่า มีบุคคลอย่างน้อย 9 ราย แอบช่วยบริหารจัดการบัญชีของ Vica Li อยู่เบื้องหลัง
ถือเป็นภาพสะท้อน หรือมุมมองหนึ่ง ซึ่งถูกเจาะลึก และได้รับการตีแผ่ออกมาจากสื่อตะวันตก
ในแง่ที่ว่า เครือข่าย Influencer จีนข้ามชาติ กำลังใช้กลยุทธ์ Propaganda เพื่อสร้างภาพลักษณ์ผ่านโลกออนไลน์
มีรายงานเพิ่มเติมว่า ทางการจีนได้ทยอยสร้างเครือข่าย Influencer อย่างเงียบๆ ตลอดมา
โดย Influencer เหล่านี้จะเสนอมุมมองของรัฐบาลจีน ในลักษณะสอดคล้องต้องกันเป็นอย่างมาก กับ “ค่านิยมจีน” เเละความพยายามของจีน ที่ต้องการเบี่ยงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงล่าสุด กับการที่ Influencer จำนวนมากให้การสนับสนุนจุดยืนของจีน ในกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน
Miburo บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์กลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามปฏิบัติการเผยเเพร่ข่าวสารบิดเบือน ชี้ว่า มี Influencer อย่างน้อย 200 บัญชีที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Influencer เหล่านี้มีความโยงใยกับสื่อหลักของจีน นอกจากภาษาจีนกลาง มีการแปล และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกไปมากกว่า 40 ภาษา
Clint Watts กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Miburo อดีต FBI หรือเจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนกลางของสหรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์ของ Influencer จีนในขณะนี้ ตรงตามทฤษฎี Propaganda ทุกประการ
“ถ้าคุณโหมกระหน่ำข้อมูลชุดหนึ่งไปยังผู้ชมเป็นเวลายาวนาน ผู้รับสารก็จะมีเเนวโน้มคล้อยตามเรื่องราวซ้ำๆ เหล่านั้นได้ไม่ยาก” Clint Watts ระบุ
ตัวอย่างเช่น Li Jingjing ผู้ประกาศสาวแห่งสำนักข่าว CGTN ได้โพสต์เนื้อหาวิดีโอบน YouTube ของเธอ ผ่านคลิปที่มีชื่อว่า “วิกฤตยูเครน : เหตุใดโลกตะวันตกจึงไม่ใส่ใจสงครามที่รัสเซียได้ก่อหายนะขึ้นเท่าที่ควร”
นอกจากนี้ Li Jingjing ยังโพสต์เนื้อหาบางส่วนที่ช่วยโหมกระพือ Propaganda จากฝ่ายรัสเซีย ว่าเกิดการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ขึ้นในยูเครน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวที่ว่าสหรัฐอเมริกา เเละ NATO เป็นผู้ยั่วยุให้รัสเซียบุกยูเครน
นอกจากนี้ ยังมีบทวิเคราะห์มากมายที่ชี้ตรงกันว่า Propaganda ข่าวการเมือง มักถูก “สอดแทรกด้วยเรื่องเบาๆ” อยู่เสมอ อาทิ สกู๊ปท่องเที่ยวประเทศจีน
เนื่องจากมีการพบบัญชี Social Media ของ Influencer หลายสิบคนที่มีผู้ติดตามรวมกันกว่า 10 ล้านราย ล้วนพุ่งเป้า Propaganda ไปที่คนดูนอกประเทศจีน
Jessica Brandt ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีข่าวสารแห่งสถาบันวิจัยนโยบาย Brookings Institution ชี้ว่า การที่ Influencer ทำ Propaganda เป็นเรื่องอันตราย
“เทคนิค Propaganda ง่ายๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าบรรดา Influencer ต้องการนำภาพลักษณ์ที่ดีของจีน มากลบปัญหาสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลปักกิ่ง” Jessica Brandt ระบุ
นอกจากนี้ มีการเปิดเผยว่า สถานกงสุลจีนที่มหานครนิวยอร์ก ตกลงจ่ายเงินว่าจ้างให้ Vipp Jaswal ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Vippi Media บริษัท PR ในรัฐ New Jersey เป็นเงิน 300,000 ดอลลาร์
เพื่อ Sub งานต่อให้ Influencer ท้องถิ่น ให้โพสต์เนื้อหาบน Instagram และ TikTok ช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของทางการจีน ในการบริหารจัดการกับปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างผิดธรรมชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานว่า Patricia Lane ผู้ก่อตั้ง New World Radio สื่อวิทยุท้องถิ่นในรัฐ Virginia ได้รับเงินหลายล้านดอลลาร์ เพื่อออกอากาศเนื้อหาของ CGTN เป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งข้อกล่าวหานี้อ้างอิงมาจากเอกสารของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ
อย่างไรก็ดี Patricia Lane ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า New World Radio ได้ยุติความสัมพันธ์กับสื่อจีนรายนี้ไปเเล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เกี่ยวกับสถานะของ CGTN ในสหรัฐอเมริกานั้น สำนักข่าว CGTN เป็นองค์กรที่จดทะเบียนนิติบุคคลในอเมริกาภายใต้ชื่อ CGTN America ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับองค์กรข่าวต่างประเทศหลายเเห่ง เช่น AP CNN และ Reuters
ขณะเดียวกัน Liu Pengyu “โฆษกสถานทูตจีน” ประจำกรุง Washington ได้ออกมาระบุว่า สื่อจีน และนักข่าวจีน ต่างก้มหน้าก้มตาทำงานตามปกติของพวกเขาอย่างเป็นอิสระ
“พวกเขาไม่ควรถูกสันนิษฐานว่าโดนชี้นำ หรือถูกเเทรกเเซงโดยรัฐบาลจีน หากยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ” Liu Pengyu ทิ้งท้าย
บทความโดย จักรกฤษณ์ สิริริน
——————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2565 / วันที่เผยแพร่ 6 พ.ค.65
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_545187