สหรัฐฯแสดงความมุ่งมั่นในการปกป้องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแรนซัมแวร์ทั่วโลก
ทางการสหรัฐฯได้เสนอรางวัลมูลค่าหลายล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับข้อมูลที่จะนำไปสู่การการจับกุมตัวการสำคัญและสมาชิกของแก๊ง Conti ransomware
โดยหน่วยงานดูแลด้านโครงการรางวัลสำหรับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หรือ the Department of State’s Transnational Organized Crime Rewards Program (TOCRP) ได้แบ่งเงินรางวัลออกเป็น 2 ส่วน คือ 10 ล้านดอลลาร์สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับตัวการใหญ่คนสำคัญของแก๊ง Conti หรือผู้พัฒนาของแรนซัมแวร์
และอีก 5 ล้านดอลลาร์สำหรับข้อมูลที่นำไปสู่การจับกุมใครก็ตามที่สมคบคิดโดยใช้มัลแวร์ในการโจมตีในเหตุการณ์ต่างๆ จากข้อมูลของ FBI ที่อ้างโดยกระทรวงการต่างประเทศ แก๊ง Conti เชื่อมโยงกับการโจมตีมากกว่า 1,000 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ทำให้เหยื่อต้องสูญเงินมากกว่า 150 ล้านดอลลาร์ในการโจมกรรมของกลุ่มนี้ และนั่นทำให้ Conti ransomware เป็นแรนซัมแวร์ที่ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติกาล
จากการรั่วไหลของข้อมูลภายในของแก๊ง Conti อาทิ แชทส่วนตัวและข้อมูลต่างๆ อย่างมากมาย ทำให้นักวิจัยได้ทราบถึงกระบวนการทำงานภายในกลุ่ม โดยกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายเงินเดือน ค่าบริการ และเครื่องมือต่างๆ ปีละ 6 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าข้อมูลภายในเหล่านี้ได้รั่วไหลออกมาแล้ว แต่ Conti ก็ยังคงดำเนินงานต่อไปได้
ในเดือน เม.ย.นี้ แก๊ง Conti ransomware ได้ใช้แรนซัมแวร์โจมตีรัฐบาลคอสตาริกา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าต่างประเทศของคอสตาริกาโดยการขัดขวางช่องทางด้านศุลกากรและภาษี
สำหรับการเสนอรางวัลนำจับในครั้งนี้ สหรัฐฯได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อแรนซัมแวร์ในทั่วทุกมุมโลกและจากการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยอาชญากรไซเบอร์ โดยทางการสหรัฐฯได้มองหาความร่วมมือกับนานาประเทศในการช่วยทวงคืนความยุติธรรมแก่เหยื่อของแรนซัมแวร์
ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯได้ใช้เงินจากกองทุน TOCRP มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์เพื่อจูงใจบุคคลที่มีข้อมูลของตัวการผู้อยู่เบื้องหลังการใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ DarkSide
ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการเสนอเงินอีก 10 ล้านดอลลาร์สำหรับแลกกับข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกกลุ่ม Sandworm ทั้ง 6 คนที่เชื่อว่าทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองรัสเซีย
สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการการจัดการกับภัยไซเบอร์ในทุกรูปแบบอย่างเด็ดขาดเพื่อให้เกิดปัญหาน้อยลง
ดังนั้นเพื่อจัดการกับผู้ไม่ประสงค์ดีที่สร้างความเดือดร้อนและภัยทางไซเบอร์ต่างๆ การตั้งรางวัลนำจับก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ เพราะถ้ามีการตั้งรางวัลนำจับก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับคนที่รู้เบาะแสให้นำข้อมูลต่างๆ มาแจ้งกับทางการเพื่อให้เข้าจัดการและจะทำให้ภัยไซเบอร์ต่างๆ ลดน้อยลง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 16 พ.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/1004664