หากกล่าวถึงสายลับของรัฐบาลอเมริกาในปัจจุบัน หลายคนอาจนึกถึงซีไอเอ (C.I.A. – Central Intelligence Agency) หรือสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ ที่มีบทบาทในฐานะตัวแทนสายลับรัฐบาลอเมริกา ซึ่งทำงานด้านการข่าวและการต่อต้านข่าวกรอง
ซีไอเอมักมีบทบาทที่โดดเด่นด้านการต่อต้านการก่อการร้าย หรืออาชญากรรมร้ายแรงข้ามชาติ สายลับพวกนี้มักปฏิบัติการในต่างประเทศ โดยแฝงตัวอยู่ในรูปแบบหรืออาชีพอะไรก็ได้ อาทิ นักธุรกิจ นักการทูต หรือแม้กระทั่งประชาชนอเมริกาธรรมดา
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีการก่อตั้งซีไอเอในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีหลักฐานที่น่าเชื่อว่า อเมริกาได้จัดตั้งสายลับหรือจารชนเข้ามาสอดแนมความเป็นไปของประเทศต่างๆ ที่พวกเขาให้ความสนใจ หรือมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และความมั่นคงของอเมริกามานานแล้ว
สำหรับประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าสายลับอเมริการุ่นก่อนซีไอเอกลุ่มแรกๆ ที่แฝงตัวเข้ามา คือบรรดาผู้ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำงานหลังฉากเป็นสายลับได้ ผู้คนเหล่านั้นก็คือ หมอสอนศาสนา “บางคน”
และจากข้อมูลในประวัติศาสตร์ จารชนชาวอเมริกันในคราบหมอสอนศาสนาที่มีหลักฐานมัดตัวมากที่สุด ได้แก่ “นายแคนแนต เพอรรี่ แลนดอน” (Kenneth Perry Landon) อดีตมิชชันนารีอเมริกัน ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอทับเที่ยง จังหวัดตรัง ซึ่งต่อมาเขาได้ข้ามไปดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประเทศไทย ประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ไม่นาน
นายแลนดอนถือได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของอเมริกาต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ระหว่างปี พ.ศ. 2488 – 2491 ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยที่นายแลนดอนสั่งสมมา ได้กลายเป็นข้อมูลพื้นฐานที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายทวิภาคีต่อประเทศไทย
จึงกล่าวได้ว่า นายแลนดอนผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีข้อมูลเชิงลึกของประเทศไทย ในช่วงที่อเมริกามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างจำกัดมาก โดยเฉพาะช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500
นายแลนดอน เกิดในปี พ.ศ. 2446 ที่รัฐเพนซิลเวเนีย สำเร็จการศึกษาทางด้านเทวศาสตร์ระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชิคาโก และได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในฐานะมิชชันนารีอเมริกัน ในปี พ.ศ. 2470 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ซึ่งในขณะนั้นนายแลนดอนมีอายุเพียงแค่ 24 ปี เท่านั้น
นายแลนดอนมีทักษะความสามารถในทางภาษามาก โดยสามารถพูดไทยและจีนได้แตกฉาน หลังจากมาถึงไทยได้ไม่นานเขาก็ได้สร้างความสนิทสนมกับคนไทยหลายกลุ่ม ทั้งบรรดาข้าราชการและเจ้านายพระองค์สำคัญหลายพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
และด้วยการสร้างความรู้จักมักคุ้นกับผู้คนต่างๆ ในช่วงที่เพิ่งเข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ นี้เอง ทำให้นายแลนดอนมีพรรคพวกมิตรสหายชาวไทยเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่ามีเครือข่าย (network) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรวบรวมข่าวสาร หรือสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยที่เขาต้องการจะทราบ
ต่อมาไม่นาน นายแลนดอนและภริยาได้ตัดสินใจลงไปประจำการคณะมิชชันนารีที่ภาคใต้ ช่วงหลังปี พ.ศ. 2471 โดยได้ไปลงหลักปักฐานอยู่ที่อำเภอทับเที่ยง จังหวัดตรัง แต่แทนที่นายแลนดอนจะสนใจเฉพาะด้านการศาสนา เขากลับตัดสินใจเดินทางสำรวจภาคใต้ของไทยอย่างละเอียดจนถึงแหลมมลายู รวมถึงได้จัดทำแผนที่แหลมมลายูขึ้นด้วย (ในเวลานั้นพื้นที่แหลมมลายูใต้ปัตตานีลงไป อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ)
นอกจากการสร้างแผนที่แล้ว นายแดนดอนยังได้จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ในลักษณะจดหมายเหตุรายเดือน (2 ภาษา ทั้งจีนและไทย) เพื่อเผยแพร่ความรู้ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งการกระทำของนายแลนดอนนั้น ในปัจจุบันถือว่าเป็น “การบ่อนทำลาย” เพราะเป็นการละเมิดหลักอธิปไตยและความเคารพซึ่งบูรภาพแห่งดินแดนไทย แต่ในสมัยที่นายแลนดอนประจำการอยู่ทางภาคใต้ของไทยช่วงปี พ.ศ. 2471 – 2480 เขาได้กระทำการเช่นนี้อย่างปกติ และยังได้รวบรวมสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับประเทศไทยกลับสู่สหรัฐอเมริกาด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่เขาได้รับประทานมาจาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมัยที่พระองค์ลี้ภัยไปยังเกาะปีนัง เมื่อปี พ.ศ. 2476 เนื่องจากทรงทนภาวะกดดันจากรัฐบาลคณะราษฎรไม่ไหว ด้วยเหตุนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้มอบหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยกว่าร้อยเล่มให้แก่นายแลนดอน ซึ่งนายแลนดอนอ้างว่าจะนำไปมอบให้แก่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประเทศไทยสำหรับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นด้วย
หลังจากปี พ.ศ. 2480 นายแลนดอนและครอบครัวได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชื่อกันว่าตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่เขาอยู่ในไทยนั้น รัฐบาลอเมริกาน่าจะได้รับข้อมูลพื้นฐานที่ต้องการเกี่ยวกับประเทศไทยไปทั้งหมดแล้ว
และการจารกรรมข้อมูลประเทศไทยของนายแลนดอน ก็ได้กลายเป็นคูณปการที่สร้างความได้เปรียบให้แก่อเมริกาเป็นอย่างมาก ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น
เมื่อกลับไปยังสหรัฐอเมริกา นายแลนดอนก็ได้รับบทบาทอย่างสูงในตำแหน่งหน้าที่การงาน โดยได้เป็นผู้แทนในคณะกรรมการของอเมริกา ในการเจรจาให้ไทยไม่แพ้สงครามโลก และได้กลายเป็นสมาชิกคณะกรรมการสภาความมั่นคงสหรัฐ รวมถึงเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอเมริกันอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่หลายคนอาจเพิ่งเคยทราบ เกี่ยวกับสายลับอเมริกันที่แทรกซึมเข้ามาในประเทศไทยช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในคราบหมอสอนศาสนา แต่เบื้องหลังนั้นเรียกได้ว่าเป็นการจารกรรมข้อมูลสำคัญให้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็นจุดเชื่อมโยงไปถึงบทบาทของอเมริกาที่มีต่อประเทศไทยในช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 อีกด้วย
ที่มา : luehistory.com / วันที่เผยแพร่ 16 พ.ค.65
Link : https://bit.ly/3ljrgtx