Counter-protesters set fire to a police bus ahead of a demonstration planned by Danish anti-Muslim politician Rasmus Paludan and his Stram Kurs party, in the park Sveaparken in Orebro, Sweden, April 15, 2022. Kicki Nilsson/ TT News Agency/via REUTERS ATTENTION EDITORS – THIS IMAGE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY. SWEDEN OUT. NO COMMERCIAL OR EDITORIAL SALES IN SWEDEN.
เหตุจลาจลในสวีเดน
กับชายผู้สร้างความเกลียดชัง
สวีเดนเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ขึ้นชื่อเรื่องความสงบสุขและมีระเบียบเรียบร้อย โลกจึงมักจะไม่ค่อยเห็นภาพความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศแถบสแกนดิเนเวียแห่งนี้เท่าใดนัก
แต่ล่าสุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุประท้วงจนลุกลามกลายเป็น “การจลาจล” ขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศ และเหตุดังกล่าวส่งผลให้ทรัพย์สินสาธารณะได้รับความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย
เหตุวุ่นวายดังกล่าวมีต้นตอจากชายที่ชื่อว่า “ราสมุส พาลูดาน” นักการเมืองชาวเดนมาร์ก ผู้ถือสัญชาติสวีเดน หัวหน้าพรรคการเมือง “สตรามคึช” (หรือ Hard Line ในภาษาอังกฤษ) มีความหมายว่ากลุ่มที่ยึดมั่นในหลักการที่มีแนวทางต่อต้านอิสลามขวาจัดสุดโต่งอย่างแน่วแน่
พาลูดานไม่เพียงแต่เผยแพร่แนวคิดปลุกระดมทำกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายในสวีเดนเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความวุ่นวายเดนมาร์กและหลายประเทศในยุโรปด้วย
เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในสวีเดนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ร่วมชุมนุมของกลุ่ม “สตรามคึช” เอง แต่เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจการจัดกิจกรรม “ต่อต้านอิสลาม” ที่ดูเป็นการดูหมิ่นศาสนาของกลุ่มสตรามคึช
รายงานระบุว่า เหตุประท้วงเกิดขึ้นตั้งแต่กลุ่มสตรามคึชนัดทำกิจกรรมในหลายเมืองไม่ว่าจะเป็นเมืองนอร์เชอร์ปิง เมืองที่มีประชากร 130,000 คน ห่างจากกรุงสตอกโฮล์มไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 160 กิโลเมตร ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดกระสุนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ยิงขู่เพื่อสลายการจลาจล เหตุการณ์ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก
ขณะที่อีกหลายเมืองกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านสตรามคึชนับร้อยคน รวมตัวกันขว้างปาก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ รถตำรวจ จุดไฟเผาสิ่งของ เช่น ยางรถยนต์ เรื่อยไปจนถึงการจุดไฟเผารถตำรวจและรถบัสได้รับความเสียหายไปหลายคัน นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 10 ราย
การจลาจลลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในเมืองลิงโชปิง, สตอกโฮล์ม, โอเรโบร, แลนด์สครูนา รวมไปถึงมัลโม เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศด้วย
แน่นอนว่าในเมืองเหล่านี้เป็นเมืองที่กลุ่มสตรามคึชเตรียมจัดกิจกรรมขึ้นทุกที่
คําถามก็คือ กิจกรรมที่กลุ่ม “สตรามคึช” นัดรวมตัวกันทำเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านศาสนาอิสลามในหลายๆ เมืองทั่วประเทศสวีเดนและสร้างความโกรธแค้นถึงขึ้นเกิดจลาจลขึ้นคืออะไร
คำตอบก็คือ กลุ่มสตรามคึชนัดทำกิจกรรม “เผาคัมภีร์อัลกุรอาน” คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสูงสุดของชาวมุสลิมทั่วโลก โดยพาลูดานโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นัดทำกิจกรรมดังกล่าวด้วยข้อความว่า “ถึงเวลาเผาคัมภีร์อัลกุรอานแล้ว” และว่า จะมีการจัดปาร์ตี้ด้วยการ “นำเลือดหมูมาเทใส่คัมภีร์อัลกุรอาน” ที่สื่อถึงข้อห้ามบริโภคสุกรของชาวมุสลิมด้วยนั่นเอง
กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความเกลียดชังทางศาสนาอันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พาลูดานเคยทำ
พาลูดานเป็นนักการเมืองและทนายความชาวเดนมาร์ก ได้สัญญาชาติสวีเดน เนื่องจากมีพ่อเป็นพลเมืองชาวสวีเดน
พาลูดานก่อตั้งกลุ่ม “สตรามคึช” ในปี 2017 เคยได้รับคำเตือนฐานทำวิดีโอที่มีเนื้อหาต่อต้านมุสลิมในยูทูบ เช่น การเผาคัมภีร์อัลกุรอานที่ห่อด้วยเบคอน โดยพาลูดานอ้างการกระทำของตนเองว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ในเดือนเมษายนปี 2019 พาลูดานหัวหน้ากลุ่ม “สตรามคึช” เคยจัดกิจกรรมเผาคัมภีร์อัลกุรอานมาแล้วในประเทศเดนมาร์ก เหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการจัดกิจกรรมดังกล่าวจำนวนนับร้อยคน
พฤติกรรมของพาลูดานส่งผลให้เขาต้องใช้ชีวิตในคุก 1 เดือนในข้อหาเหยียดผิว และถูกห้ามไม่ให้ว่าความในฐานะทนายมาแล้ว
พาลูดานเคยเกือบได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเดนมาร์กในฐานะตัวแทนพรรค “สตรามคึช” ในการเลือกตั้งเดนมาร์กเมื่อปี 2019 โหนกระแสวิกฤตการณ์ผู้อพยพ ออกนโยบายเนรเทศชาวมุสลิม 300,000 คนออกจากประเทศ และแบนศาสนาอิสลามในเดนมาร์ก แต่คะแนนเสียงไม่มากพอ
ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 2020 พาลูดานเคยนัดทำกิจกรรมลักษณะนี้ในสวีเดนมาแล้วจนเกิดเป็นการจลาจลในเมืองมัลโม ส่งผลให้มีรถยนต์ รวมไปถึงร้านค้าถูกเผาทำลาย และนั่นส่งผลให้ทางการสวีเดนประกาศห้ามนายพาลูดานเข้าประเทศเป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม 1 เดือนต่อมาพาลูดานได้รับสัญชาติสวีเดน เนื่องจากมีพ่อเป็นพลเมืองชาวสวีเดน นั่นทำให้คำสั่งห้ามเข้าประเทศเป็นโมฆะไปในที่สุด
นอกจากการจัดกิจกรรมในเดนมาร์กและสวีเดนแล้ว พาลูดานและพรรค “สตรามคึช” ยังเคยถูกห้ามเข้าประเทศเบลเยียมเป็นเวลา 1 ปีหลังจากวางแผนจะจัดกิจกรรมเผาคัมภีร์อัลกุรอานในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของประเทศเมื่อปี 2020
ในเวลานั้น รัฐมนตรีต่างประเทศเบลเยียม ถึงกับออกมาระบุว่า กลุ่มสตรามคึชนั้นเป็น “ภัยคุกคามที่จริงจังต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม”
พาลูดานยังเคยถูกทางการฝรั่งเศสเนรเทศในช่วงเวลาเดียวกันด้วยเนื่องจากวางแผนที่จะจัดกิจกรรมในกรุงปารีสด้วยเช่นกัน
การนัดทำกิจกรรมของพาลูดานในสวีเดนและเดนมาร์ก คงจะไม่ได้หยุดไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากการนัดชุมนุมทำกิจกรรมลักษณะดังกล่าวยังไม่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน แต่เมื่อย้อนไปฟังแนวคิดของพาลูดานในคลิปวิดีโอที่บันทึกไว้ในเดือนธันวาคม ปี 2018 ที่ว่า
“ศัตรูคืออิสลามและมุสลิม สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการไม่มีชาวมุสลิมเหลือยู่บนโลกนี้แม้แต่คนเดียว”
นั่นดูจะเป็นแนวคิดที่อันตรายและสร้างความเกลียดชังราวกับแนวคิดของลัทธินาซี แนวคิดล้าหลังที่ไม่ควรจะหลงเหลืออยู่บนโลกในยุค 2022 อีกต่อไป
ทว่า นั่นเป็นหน้าที่ของสังคมของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องที่จะตัดสินว่าจะจัดการกับแนวคิดที่อาจสร้างความวุ่นวายในสังคมต่อไปอย่างไร
ขณะที่ในอีกแง่ กฎหมายในสวีเดนที่มีการจับกุมผู้ก่อเหตุจลาจลก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การตอบโต้ด้วยความรุนแรงอย่างการก่อจลาจลไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 – 28 เมษายน 2565
คอลัมน์ ต่างประเทศ
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ / วันที่เผยแพร่ 27 เม.ย.65
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_544783