ทุกวันนี้หลายๆ ท่านใช้ชีวิตอยู่กับออนไลน์ จนเสมือนว่าชีวิตมีสองโลก คือ โลกที่ใช้ชีวิตจริง และโลกเสมือน (Virtual World) หรือโลกออนไลน์ ที่หลายๆ คนมีเพื่อน มีคนรู้จัก หรือมีคนที่หมายปองอยู่ในโลกเสมือน
ในชีวิตจริงการได้รู้จักคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เราก็มักจะอยากรู้ว่า เขาเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เกี่ยวพันกับเพื่อนเราหรือไม่/อย่างไร เชื่อใจได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าได้พบตัวจริง เราอาจจะสังเกตได้จากบุคลิก ท่าทาง และ ภาษากาย (Body Language) ซึ่งเราอาจจะพอเดาได้บ้างในเบื้องต้น
แต่สำหรับการรู้จักคนในโลกออนไลน์ หรือ Virtual World) เป็นอะไรที่ยากต่อการคาดเดาเพราะเราไม่ได้เห็นบุคลิกท่าทาง หน้าตาที่แท้จริง แม้จะเข้าไปดูโปรไฟล์ ดูโพสต์ย้อนหลังก็ตาม จะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ใช่คนๆ นั้นจริงๆ” จะเป็นตัวตนของคนนั้นจริงหรือไม่ก็ไม่อาจจะพิสูจน์ได้
ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วบนแอปหาคู่ชื่อดังอย่าง Tinder ที่โดดเด่นเรื่องการให้ใส่ข้อมูลจริงตอนลงทะเบียนเข้าใช้งาน แต่สุดท้าย ไม่ใช่แอปไม่ดี แต่คนตั้งใจมา Fake หลอกคน โดยมากประสงค์ต่อ “ทรัพย์” มีการหลอกลวงเกิดขึ้นทั่วโลก จากสภาวะไซเบอร์ที่ไร้พรมแดนทำให้อยู่ที่ไหนก็หาคู่ หาเพื่อนคุยบนโลกออนไลน์ได้ แนะนำให้ชมภาพยนตร์เรื่อง “The Tinder Swindler” ใน Netflix จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น
“Digital Identity” เรื่องสำคัญที่พึงระวังทั้ง “อ่าน” ทั้ง “ใช้”
ว่าด้วยเรื่อง Digital Identity หรือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ผู้เขียนขออธิบายไว้ 2 มุม มุมหนึ่งคือ “ตรวจสอบ เพื่อทำความรู้จักคนๆ นั้นอย่างแท้จริง” และอีกมุมหนึ่ง คือ “ใช้ของตนเอง เพื่อแสดงตัวบนโลกดิจิทัล”
• “ตรวจสอบ เพื่อทำความรู้จักคนๆ นั้นอย่างแท้จริง” : การที่เราคุยกับผู้คนบนโลกออนไลน์โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ควรคิดไว้เสมอว่า เรากำลังคุยกับ Digital Identity ของคนนั้น ไม่ได้คุยกับ Real Identity หรือคนๆนั้นจริงๆ
เนื่องจาก Digital Identity สามารถถูกสร้างขึ้นมาได้ ตกแต่งให้ดูดีดึงดูดความสนใจ โดยไม่ได้มาจากข้อมูลจริงสามารถทำได้โดยง่าย จะสวย จะหล่อ ระดับดาราก็สามารถสร้างขึ้นมาได้หมด ถ้ามิจฉาชีพตั้งใจสร้าง Fake Digital Identity เพื่อมาหลอกลวงโดยเฉพาะ หากเราไม่ทันระวังก็จะถูกหลอกให้หลงเชื่อได้
ยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้มี Metaverse ซึ่งเป็นโลกเสมือนหรือ Virtual World เราก็ยิ่งต้องระลึกไว้เสมอว่าเรากำลังคุยกับ Virtual Identity ซึ่งไม่รู้ว่าข้อมูลบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างปลอมแปลงขึ้นมา
โดยที่เราไม่สามารถจะหาความจริงเพื่อระบุตัวตนที่แท้จริงได้โดยง่าย ต้องใช้เวลา และ ขอมูลประกอบจากหลายแหล่งกว่าที่จะระบุตัวตนที่แท้จริงของบุคคลนั้นได้
• “ใช้ให้เป็น เพื่อการแสดงตัวบนโลกดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย” : ทุกครั้งที่เราเริ่มสมัครเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เราจะต้องทำการพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล เพื่อบอกว่าเราเป็นใคร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะใส่ข้อมูลจริงในการลงทะเบียนเข้าใช้
เช่น การลงชื่อเข้าใช้ Facebook เรามักจำเป็นต้องใส่ข้อมูลจริงเนื่องจากเราต้องมีการติดต่อกับบุคคลต่างๆบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ การใส่ข้อมูลตัวตนจริงเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะการสมัครเข้าใช้แพลตฟอร์มหาคู่
ตัวอย่างเช่น การใช้แอป Tinder ทำให้หลายๆ คนอาจลืมคิดไปว่า มีการเปิดเผย Digital Identity ของเราไปไว้บนโลกเสมือนอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ที่มีใครมาพบว่าข้อมูลส่วนตัวเราอยู่ในแอปหาคู่ ทั้งที่เรามีครอบครัวแล้ว ก็อาจจะถูกมองในแง่ลบ และ หากวันใดแอปหาคู่เกิดข้้อมูลรั่ว ถูกนำไปเปิดเผยบนเว็บมืด มีคนเข้ามาพบข้อมูลก็จะเกิดปัญหาการเสื่อมเสียชื่อเสียง สูญเสียความน่าเชื่อถือได้ในทันที
อีกประเด็นหนึ่งที่พึงระวังเกี่ยวกับ Digital Identity ที่ปรากฏอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ อาจถูกใครบางคนเก็บข้อมูลเราไว้โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้ ดังนั้นการใช้ Digital Identity บนโลกออนไลน์ที่ใช้ข้อมูลจริงจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ
Digital Footprint หลักฐานที่สามารถถูกปลอมขึ้นมาได้
ที่ผ่านมาเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Digital Footprint หรือร่องรอยทางดิจิทัล ซึ่งเป็นประวัติหรือข้อมูล/ข้อความ ของตัวเราเองที่ถูกแพลตฟอร์มบันทึกไว้บนโลกดิจิทัล ซึ่งรวมถึงข้อมูลการแสดงพฤติกรรม สามารถบอกนิสัยใจคอของเป้าหมายได้ จากข้อมูล Digital Footprint นั้นสามารถย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวในอดีตที่ผ่านมาได้
จนทุกวันนี้ Social Media กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเช็คประวัติของผู้สมัครเข้าทำงานไปแล้วก็ว่าได้ เพื่อดูว่าคนที่มาสมัครงานนั้นมีพฤติกรรมส่วยตัวอย่างไรใน Social Media บางคนอาจจะแสดงความคิดเห็นต่อต้านทางการเมืองอย่างรุนแรง หรือบางคนอาจจะมีเพื่อนที่เกี่ยวพันกับเครือข่ายการค้ายาเสพติด ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้สามารถตรวจสอบหาความสัมพันธ์ได้ทั้งนั้น
การหลอกลวงทางไซเบอร์ในปัจจุบันมีความแยบยลซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ สมจริงขนาดมีการสร้าง Digital Footprint ปลอมขึ้นมา เมื่อเหยื่อเข้าไปเช็คข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล ได้เห็นข้อมูล Digital Footprint ปลอมก็ยิ่งเชื่ออย่างตายใจ
ดังนั้น การที่เราจะเชื่ออะไรต้องเช็คกันจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง โดยเฉพาะบนโลกดิจิทัล อะไรก็สามารถปลอมขึ้นมาได้ แม้แต่หลักฐานอย่าง Digital Footprint ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างนับเดือนนับปีก็ยังมีโอกาสเป็นหลักฐานปลอมได้เช่นกัน
Digital Footprint หลักฐานที่ถูก “แอบเก็บ” จากการใช้ชีวิตทั้ง Online และ Offline
ความจริงอีกด้านหนึ่งของข้อมูล Digital Footprint ที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึง คือ เมื่อใดที่เราออกจากบ้าน กล้องวงจรปิดหรือ CCTV ที่ติดอยู่บนท้องถนนจะเก็บภาพเราแทบตลอดเวลา หรือเราไปช้อปปิ้งซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าด้วยบัตรเครดิตก็จะถูกเก็บข้อมูลไว้แล้วเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ นับว่าเป็นการจัดเก็บข้อมูล Digital Footprint ที่เกิดจากการใช้ชีวิตจริงบนโลกจริง (ไม่ใช่โลกเสมือน) แต่เป็นการเก็บข้อมูลดิจิทัลไว้ใน Cloud ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ที่เราไม่สามารถจะควบคุม หรือ หลีกเลี่ยงได้เลย
หันมาดูโลกออนไลน์ ท่านใดที่ชอบเข้าเว็บอโคจร หรือ เล่นแอปประมาณ VK หรือ OnlyFans ที่ผู้ติดตามต้องจ่ายค่าบริการให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ซึ่งจะสร้างเนื้อหาแบบหมิ่นเหม่มาให้ผู้ติดตามชม ผู้ติดตามต้องจ่ายเงินโดยการใช้บัตรเครดิตก็จะถูกเก็บเป็น Digital Footprint เช่นกัน
วันนี้อาจไม่มีใครรู้ว่าท่านไปใช้บริการประเภท 18+ แต่หากวันใดข้อมูลรั่วไหลแล้วบังเอิญปรากฏชื่อท่านขึ้นมาในเว็บสาธารณะ ประมาณเรื่องแดงย่อมส่อแววเสียงชื่อเสียงอย่างแน่นอน
โดยสรุปการใช้งานโลกออนไลน์จำเป็นต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง เพราะเรากำลังนำข้อมูลตัวตนของเรา หรือ Our Digital Identity ไปให้คนทั่วไป “รู้” ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้ที่เข้ามาดู ในขณะเดียวกัน เราเองก็ไม่ควรเชื่อคนบนโลกออนไลน์ว่าเป็นตัวตนจริงๆ ของเขาโดยไม่เคยตรวจสอบเสียก่อน
นอกจากนี้ Digital Identity ยังโยงใยไปกับข้อมูล Digital Footprint นั่นหมายความว่า ทุกย่างก้าวในโลกออนไลน์มีเรื่องราว มีความหมาย ที่ถูกบันทึก เราจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในทุกการกระทำบนโลกออนไลน์ที่เมื่อข้อมูลถูกบันทึกไปแล้ว เราไม่สามารถเข้าไปแก้ไขอดีต.
คอลัมน์ : รู้ทันไซเบอร์
ดร.ปริญญา หอมเอนก
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด
https://web.facebook.com/prinyah
prinya.ho@acisonline.net
————————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 3 พ.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/columnist/1002163