ขณะนี้ เรื่องราวที่คนไทยที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองสนใจเป็นพิเศษ คือ การเดินทางไปเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญเพื่อร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ที่กรุงวอชิงตัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่เปิดเผยคือ ฉลอง 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ สองฝ่ายจะร่วมกันกำหนด “ ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ “ เพื่อฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคหลังโควิด 19
ก่อนหน้านี้ สหรัฐเคยเชิญผู้นำอาเซียนไปประชุมมาแล้ว แต่ต้องเลื่อนไปเพราะผู้นำกัมพูชาซึ่งเป็นประธานอาเซียนแจ้งไปว่า หลายคนติดธุระ ไม่ว่างที่จะมาพบตามวันเวลาที่กำหนด แต่ผู้นำสหรัฐก็เชิญมาอีกที ทำนองยืนยันว่าต้องมาพบกันให้ได้เป็นการแสดงพลัง ( แม้ว่าการประชุมผ่านวิดีโอสามารถทำได้และสะดวกกว่า )
ผู้นำที่ไปไม่ได้คงมีฟิลิปปินส์เพราะเพิ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่คนใหม่ต้องเข้าพิธีสาบานตนก่อนจึงจะทำงานได้ อีกประเทศหนึ่งที่ไม่ไปก็คือพม่า ส่วนที่เหลือจะไปโดยเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ต้องไป เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่มีกับสหรัฐ
เป็นที่รู้กันว่า ผู้นำสหรัฐต้องการใช้ “อาเซียน” เป็นตัวแสดงพลังหนุนท่าทีสหรัฐในประเด็นเฉพาะหน้าคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตามที่เขาเคยประกาศว่า ประเทศประชาธิปไตยต้องช่วยกันประณามรัสเซีย ใครไม่ประณามรัสเซียก็เท่ากับไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย ส่วนระยะยาว เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการร่วมด้วยช่วยกันในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้
มีเรื่องเกี่ยวกับสหรัฐมากมายที่สื่อตั้งคำถามไว้ โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามร่วมกับรัฐมนตรีช่วยกลาโหมสหรัฐเมื่อครั้งมาเยือนไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 และมีแถลงการณ์ร่วมฉบับที่สองปี 2564 ยกระดับความร่วมมือจากแถลงการณ์ปี 2562 จนกระทรวงต่างประเทศต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่สหรัฐจัดทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลผูกมัดประเทศไทย และไทยไม่เคยตกลงใดๆ กับสหรัฐในเรื่องนี้
ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้นะนี่ ทำให้คนไทยยิ่งอยากรู้ต่อไปว่า ที่ว่าสหรัฐเขียนเอง เออเอง นั้นคืออะไร ไทยบอกว่าเราไม่เคยไปตกลงอะไรไว้ แต่สหรัฐอาจทึกทักเอาว่า ไทยได้ตกลงแล้ว
ถ้าจะให้ดี รัฐบาลโดยกระทรวงต่างประเทศน่าจะเปิดเผยรายละเอียดเท่าที่จะเปิดเผยได้ให้ประชาชนได้ทราบบ้าง ทุกอย่างจะได้ชัดเจน ไม่เป็นปัญหาค้างคาใจกันอีกต่อไป
หากเป็นความลับเปิดเผยไม่ได้ ก็บอกไปเลยว่าเป็นความลับเปิดเผยไม่ได้ หากเปิดเผยแล้วจะเสียหายต่อผลประโยชน์ของชาติ ประชาชนจะได้รู้และเข้าใจ และไม่รบเร้าที่จะรู้ความลับของชาติ แต่สิ่งใดที่พอให้ประชาชนเจ้าของอธิปไตยได้ทราบบ้างก็ควรจะบอก
เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นในอนาคต คนไทยก็หนีไม่พ้นที่จะมีส่วนรับผิดชอบในชาตากรรมของบ้านเมือง
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ที่เพิ่งเดินทางมาเยือนไทยได้ทำ “ ข้อตกลงว่าด้วยว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างไทยกับญี่ปุ่น “ ซึ่งดูแปลก ๆ
เราเพิ่งรู้ว่า ญี่ปุ่นซึ่งแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และรัฐธรรมนูญที่สหรัฐเขียนได้ห้ามญี่ปุ่นฟื้นฟูกิจกรรมด้านการทหาร ความมั่นคงของญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ร่มธงนิวเคลียร์ของสหรัฐ แต่วันนี้ ญี่ปุ่นสามารถมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้กับประเทศอื่นใดแล้ว การจะทำได้เช่นนี้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐ หรือนัยหนึ่ง สหรัฐใช้ให้ญี่ปุ่นทำแทนนั่นเอง
ประเด็น “ นาโต 2 “ ก็เช่นกัน เป็นการอุปมาอุปมัยเปรียบเปรยง่าย ๆ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า สิ่งที่สหรัฐกำลังทำในเอเชียเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีน ก็คล้ายกับนาโต 2 แต่ไม่ถึงกับการรวมกลุ่มทางทหารแบบซีอาโต ผู้หยิบยกประเด็นนี้มาเปรียบเทียบคงต้องการให้คนไทยตระหนัก คนไทยอย่าไปตกหลุมพรางง่าย ๆ
คนรุ่นท่านรัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน เคยมีประสบการณ์ใจหายใจคว่ำมาแล้ว เมื่อมิตรสนิทที่เราทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กลับหนีไป ปล่อยให้เราเผชิญชาตากรรมอย่างเดียวดาย เราต้องช่วยตัวเองด้วยการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างชาญฉลาดจนทำให้ประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัยมาถึงปัจจุบัน
หากมีใครมาดึง ๆ ไว้บ้าง ก็อย่าไปโกรธเขา เราเรียนรู้ปัจจุบันจากประวัติศาสตร์ และมองอนาคตจากการเรียนรู้ปัจจุบัน
การที่ไทยได้ยกระดับสถานะความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นจาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ “ เป็น “ หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน “ และไทยดำเนิน “ นโยบายต่างประเทศที่สมดุล “ ( ลอกมาจากคำแถลงของกระทรวงต่างประเทศโดยตรง ) ส่วนจะ “รอบด้าน” และ “สมดุล” อย่างไรนั้น เราเชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการทูตของไทยจะทำให้ไทยอยู่รอดปลอดภัยตลอดไป
ประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัยมาถึงวันนี้ก็เพราะการถ่วงดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจที่จ้องจะฮุบประเทศไทย เราไม่อาจเลือกเข้าข้างสหรัฐหรือจีนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ เพราะไทยมีผลประโยชน์สำคัญยิ่งกับทั้งสองชาติ ซึ่งจีนเข้าใจดีแต่สหรัฐไมค่อยเข้าใจนัก และพยายามกดดันให้มิตรประเทศเลือกข้าง แต่พอถึงยามวิกฤติ สหรัฐก็ทิ้งมิตรประเทศเช่นไทยที่ทุ่มสุดตัวให้สหรัฐ อย่างไม่ใยดี ในขณะที่ประเทศที่ไทยคิดว่าเป็นศัตรูกลับช่วยไทยในยามที่กำลงจะจมน้ำตาย
เรารู้ว่า ใครคือมิตรแท้ และใครคือมิตรเทียม ก็เมื่อตอนที่เราจะจมน้ำตาย
อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก คนเขาจะหัวเราะเยาะเอาว่าเจ็บแล้วไม่จำ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไปจมอยู่กับประวัติศาสตร์จนไม่กล้าทำอะไรเลย
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะโดยตรงต่อการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ก่อนหน้านี้ เราต้องพึ่งพาสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลักในการสะท้อนความเห็นของประชาชน แต่เวลานี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นได้โดยตรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากรัฐบาลเห็นว่ามีประโยชน์ก็นำไปใช้ หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ชี้แจงต่อประชาชนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร (เท่าที่ชี้แจงได้ )
อย่าหงุดหงิด หรือเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เสียเวลา อย่างน้อยการชี้แจงก็ทำให้คนที่ไม่เช้าใจหรือยังมีข้อมูลไม่มากพอ ได้เข้าใจดีขึ้น
รัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศมีช่องทางเพิ่มในการติดต่อสื่อสารถึงประชาชนโดยตรงในด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เป็น “การทูตเปิดเผย” ไม่ใช่ “การทูตงุบงิบ”
บทความโดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
——————————————————————————————————————————
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 12 พ.ค.65
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/682876