การเดินทางเยือนไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่น่าจับตาดูภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพราะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนที่ผ่านมาว่างเว้นการเดินทางมาเยือนประเทศในภูมิภาคนี้มานานพอสมควร นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายเมื่อ 9 ปีมาแล้ว แต่พอนายกรัฐมนตรี นายคิชิดะ ฟูมิโอะ ขึ้นดำรงตำแหน่ง เขาก็เริ่มเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ ทันที
การที่ผู้นำประเทศเมื่อขึ้นครองอำนาจและเดินทางเยือนมิตรประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนการเยือนครั้งนี้ จะมีใครฝากประเด็นยูเครนให้มาพูดด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ หรือเป็นความริเริ่มของผู้นำญี่ปุ่นเอง
ที่ผ่านมา การเดินทางของผู้นำญี่ปุ่นที่เยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เน้นเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุน เป็นสำคัญ มากกว่าด้านความมั่นคง
หากจะพูดถึงด้านความมั่นคง ญี่ปุ่นควรหงุดหงิดกับผู้นำเกาหลีเหนือมากกว่า ที่วันดีคืนดีก็ยิงจรวดมาตกในทะเลญี่ปุ่นบ่อย ๆ ส่วนการอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ของจีนกระทบต่อการเดินเรือเสรีโดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมันของญี่ปุ่นจากตะวันออกกลางไปญี่ปุ่นต้องผ่านเส้นทางนี้เป็นสำคัญ แต่คราวนี้ ผู้นำญี่ปุ่นคนนี้ไปไกลถึงยูเครน การเยือนห้าประเทศครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ “ ในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและ ความมั่นคง “ ซึ่งประเด็นหลังดูแปลกใหม่สำหรับท่าทีของญี่ปุ่น
ที่น่าสังเกตคือ เขาประกาศว่า การเดินทางเยือนครั้งนี้เป็น “ ภารกิจเพื่อปกป้องสันติภาพ “ จนหลายคนสงสัยว่า ประเด็น “ ยูเครน” ซึ่งอยู่ในวาระการเยือนด้วยนั้น เขาคิดเอง หรือใครฝากประเด็นมา หรือทั้งสองอย่างผสมกัน
พอเยือนอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก ( ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประธานกลุ่มจี 20 ที่มีรัสเซียรวมอยู่ด้วย และผู้นำรัสเซียอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียจะเชิญมาร่วมประชุมจี 20 ในปลายปี2565 นี้ ) เขาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะแถลงการณ์ร่วมกับอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้รัสเซียยุติการสู้รบในยูเครนทันทีและแก้ปัญหาด้วยการเจรจา
หลายฝ่ายเฝ้าดูท่าทีของไทยซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาเยือนถัดไป จะมีวาระยูเครนอยู่ในแถลงการณ์ร่วมหรือไม่อย่างไร หากมี แถลงการณ์ร่วมจะออกมาในรูปใด โดยก่อนหน้านี้ ไทยประกาศท่าทีชัดเจนไม่เห็นด้วยในหลักการที่ประเทศหนึ่งทำสงครามสงครามรุกรานอีกประเทศหนึ่ง แต่ไทยไม่ได้ประณามใครทั้งสิ้น
จากไทย นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะไปเวียดนาม และอินเดีย ก่อนหน้านี้ ทั้งเวียดนามและอินเดียงดออกเสียงในเวทีสหประชาชาติในประเด็นรัสเซีย-ยูเครน ตบท้ายทริพนี้ที่อังกฤษซึ่งเป็นเพื่อนซี้ของอเมริกา และคงมีแถลงการณ์ร่วมประณามรัสเซียอย่างดุเดือด
เป็นอันว่าจบภารกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่รับจ๊อบยูเครนจากใครมาหรือเปล่าไม่ทราบ
ผู้นำญี่ปุ่นสลัดภาพ “ลูกไล่” ของอเมริกา ไม่ออกจริง ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเพราะญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ร่มนิวเคลียร์ของสหรัฐ ๆ เป็นผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา หากสหรัฐจะฝากประเด็นยูเครนมาด้วย ผู้นำญี่ปุ่นคงยากปฏิเสธ ส่วนพูดแล้ว ประเทศเจ้าบ้านจะเอาด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่อง
ผลการเยือนไทยเมื่อ 1-2 พฤษภาคม 2565 นั้น ถือว่าประสบผลสำเร็จ วิน-วิน ด้วยกันทั้งสองฝ่ายด้านเศรษฐกิจและการลงทุน หากดูจากที่นายกรัฐมนตรีไทยส่งไลน์แจ้งให้ประชาชนได้ทราบ ประเด็นหลักในการหารือ 8 ข้อ มีประเด็นด้านความมั่นคงข้อเดียว คือ
“ ข้อ 8 ความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกัน ภายใต้กลไกทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล เป็นต้น “
ในไลน์นี้ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับยูเครนแต่อย่างใด แต่ในแถลงการณ์ร่วม ซึ่งรัฐบาลได้เผยแพร่ทางสื่อโซเซียล ข้อ 6 ได้พูดถึงประเด็นยูเครนไว้เล็กน้อย คือ “ 6.การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ในยูเครนและเมียนมาร์
สำหรับสถานการณ์ในยูเครน ไทยและญี่ปุ่นย้ำถึงหลักการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรงและใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด ในส่วนของสถานการณ์ในเมียนมาร์ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนทั้งชาวยูเครนและชาวเมียนมาร์ …….. “
ได้แค่นี้ ญี่ปุ่นก็ควรพอใจแล้ว ส่วนไทยก็ไม่เสียอะไร ทั้งกับกรณีของยูเครนและเมียนมาร์ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน หากผู้นำญี่ปุ่นรับฝากเรื่องนี้มาจากใคร คนฝากก็ควรจะพอใจแล้วที่ได้แค่นี้
สรุปแล้ว ในการเยือนไทย สองฝ่ายได้พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจการลงทุนเป็นสำคัญ และให้มี “ติ่ง” ไว้นิดหน่อย มีคำวายูเครน เพื่อให้ญี่ปุ่นและคนฝาก (หากมี) สบายใจ และไทยไม่เสียอะไร
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จทางการทูตของไทย ให้คนที่มาเยือนได้ความสบายใจกลับไป ที่ไปรับปากใครเขามาก็พูดให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนไทยนอกจากไม่เสียอะไร ตรงกันข้าม กลับได้อีกเยอะจากญี่ปุ่น
เมื่อเขียนถึงเรื่องนี้ ก็ขอเลยไปเขียนถึงเรื่องที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ใบเดน เชิญผู้นำอาเซียนไปประชุมที่วอชิงตันในวันที่ 29 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ถูกมองว่าเป็น การแสดงอำนาจว่า “ สั่งได้ “ และเป็นการเช็คฐานเสียงเก่าว่าใครยังเป็นพวกอยู่หรือไม่ แต่ก็โดนนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชา ประธานอาเซียนคนปัจจุบัน ตอกกลับไปแล้วว่าผู้นำอาเซียนหลายคนไม่ว่าง
อย่างไรก็ดี ผู้นำอเมริกันก็ยังยืนยันที่จะให้ผู้นำอาเซียนไปประชุมให้ได้ในวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ทั้งที่ช่วงเวลานี้ การประชุมผ่านระบบวิดีโอ สะดวกที่สุด และใบเดนก็เคยทำกับผู้นำอื่นมาแล้ว
การที่ใบเดนต้องการให้ผู้นำอาเซียนทั้งสิบประเทศเดินทางไปประชุมกับเขา ผู้นำเมริกันคงอยากแสดงศักดา และเช็คฐานเสียงเก่าว่าใครยังเป็นพวกอยู่หรือไม่อย่างไร วัตถุประสงค์แท้จริงก็คงรวมพวกเพื่อช่วยกันประณามรัสเซียนั่นเอง โดยอ้างว่าประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกต้องผนึกกำลังกันประณามรัสเซีย
ใครไม่ประณามรัสเซียจะถูกจัดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยใช้ดุลการค้าและการลงทุน ความช่วยเหลือ ฯลฯ เป็นไม้เรียวขู่ประเทศอาเซียน
ยังไงก็ช่วยกันไปหน่อยเพื่อไม่ให้ผู้นำสหรัฐเสียหน้า หากใครไปไม่ได้ ก็ส่งตัวแทนไป
ผู้นำสหรัฐฉวยโอกาสสถาปนาตนเองเป็นหัวหน้าโลกประชาธิปไตยอีกครั้ง ทั้งที่ประชาธิปไตยอเมริกันลดความศักดิ์สิทธิ์ และความนิยมไปมาก โลกเดี๋ยวนี้ไปถึงไหนแล้ว แต่ยังพล่ามถึงลัทธิประชาธิปไตยกับเผด็จการกันอยู่อีก
บทความโดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
————————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 5 พ.ค.65
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/682275